ข้อควรรู้ก่อนปั่นจักรยาน

การปั่นจักรยานไม่ใช่เพียงการเดินทางที่จะช่วยประหยัดเงินค่าใช้จ่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับอวัยวะส่วนต่าง ๆ และช่วยเผาผลาญพลังงานได้ถึง 400 แคลอรี่ต่อชั่วโมง ซึ่งส่งผลให้ผู้ปั่นมีรูปร่างและสุขภาพที่ดีด้วย แต่ก่อนหันมาออกกำลังกายด้วยวิธีนี้ ควรศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนเป็นดีที่สุด

1922 ปั่นจักรยาน rs

ประโยชน์ของการปั่นจักรยาน

การปั่นจักรยานเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนัก ส่งผลดีต่ออารมณ์และจิตใจ ช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นได้เกือบเท่ากับการวิ่ง และช่วยเผาผลาญแคลอรี่ในร่างกาย

นอกจากนี้ การปั่นจักรยานเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ จึงดีกับข้อกระดูกด้วย และยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้อบริเวณกลางลำตัว ก้น สะโพก และขา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขาส่วนหน้าและกล้ามเนื้อขาส่วนหลัง

สำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน หากเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรปั่นจักรยานอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ส่วนเด็กหรือวัยรุ่นควรปั่นจักรยานอย่างน้อยวันละ 60 นาที เป็นประจำทุกวัน

ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพปั่นจักรยานได้หรือไม่ ?

การปั่นจักรยานเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาข้ออักเสบบริเวณสะโพก หัวเข่า และข้อเท้า เพราะจะช่วยเสริมการทำงานของข้อกระดูก ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ ทั้งยังดีต่อผู้ที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บบริเวณข้อกระดูก และผู้ที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาด้วย ส่วนผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับแผ่นหลังก็สามารถปั่นจักรยานได้เช่นกัน แต่ควรออกกำลังกายรูปแบบอื่นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลางลำตัวร่วมด้วย

นอกจากนี้ การปั่นจักรยานยังช่วยบริหารหัวใจสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือกระทั่งผู้ป่วยโรคหัวใจด้วย ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรเลือกปั่นจักรยานอยู่ในร่ม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน

แม้จะเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ แต่การปั่นจักรยานเป็นเวลานานจะทำให้เกิดแรงกดระหว่างเบาะนั่งกับกึ่งกลางระหว่างทวารหนักกับถุงอัณฑะในเพศชาย ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งรวมของเส้นเลือด เส้นประสาท และจุดรับความรู้สึกของอวัยวะเพศชาย เมื่อปั่นจักรยาน กระแสประสาทจากสมองจะถูกส่งไปกระตุ้นอวัยวะเพศชาย ทำให้หลอดเลือดคลายตัว เพิ่มการไหลเวียนเลือด จึงทำให้เกิดการแข็งตัวขึ้น ทั้งนี้ หากเส้นเลือดและเส้นประสาทในบริเวณนี้ถูกกดทับเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้

อย่างไรก็ตาม นักปั่นชายทั้งหลายสามารถเลือกเบาะที่มีขนาดกว้างขึ้นและมีตัวเสริม หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกาย โดยเพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมแทนการปั่นจักรยานเพียงอย่างเดียวนาน ๆ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และควรหยุดปั่นจักรยานสักระยะหากมีอาการปวดหรือชาบริเวณกึ่งกลางระหว่างทวารหนักและถุงอัณฑะ แต่หากหยุดปั่นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

เคล็ดไม่ลับสำหรับการปั่นจักรยานอย่างปลอดภัย

คนที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อกระดูก อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนปั่นจักรยาน เพราะอาจเสี่ยงเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัยด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • สำหรับมือใหม่หรือผู้ที่ว่างเว้นจากการปั่นจักรยานเป็นเวลานาน ควรเริ่มจากการปั่นในพื้นที่โล่งภายในบ้านหรือสวนสาธารณะที่ได้จัดบริเวณไว้สำหรับการปั่นจักรยานโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์
  • ควรฝึกปั่นจักรยานให้คล่องและปั่นด้วยความมั่นใจ ทั้งยังควรฝึกการมองข้ามหัวไหล่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการมองรถที่มาจากด้านหลัง
  • ควรฝึกบังคับจักรยานด้วยมือข้างเดียวด้วย ในกรณีที่มืออีกข้างจำเป็นต้องใช้ในการส่งสัญญาณเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เพื่อให้รถคันอื่นทราบหากต้องปั่นจักรยานออกถนนใหญ่
  • ควรสวมหมวกนิรภัยสำหรับจักรยานทุกครั้ง และปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร
  • หากเป็นไปได้ควรปั่นในช่องทางสำหรับปั่นจักรยานโดยเฉพาะ
  • ไม่ควรสวมหูฟังหรือใช้โทรศัพท์มือถือในขณะปั่นจักรยาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ปั่นเองและผู้อื่นบนท้องถนน