แม้ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) จะเป็นยาแก้ปวดที่ใช้กันแพร่หลายในบ้านเรา แต่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะทราบวิธีใช้ยาอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และข้อควรระวังบางประการก่อนใช้ยา ยิ่งไปกว่านั้น บางคนยังอาจจำสลับกันระหว่างยาไอบูโพรเฟนกับยาพาราเซตามอลอีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ป่วยหายช้าลงหรือยาอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้
โดยทั่วไป ไอบูโพรเฟนใช้รักษาอาการปวด ไข้ บวม และอักเสบ ส่วนยาพาราเซตามอลจะรักษาเฉพาะอาการไข้และปวดเล็กน้อย การเรียนรู้วิธีใช้อย่างถูกต้องและเข้าใจรายละเอียดของไอบูโพรเฟนและพาราเซตามอลมากขึ้น จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและทำให้ผู้ป่วยหายดีได้โดยเร็ว
ข้อควรรู้เกี่ยวกับไอบูโพรเฟน
ไอบูโพรเฟนจัดเป็นยาแก้อักเสบชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือที่เรียกกันว่ายากลุ่มเอ็นเสด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAID) โดยจะเข้าไปช่วยยับยั้งการผลิตสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้อาการบวม ปวด หรือมีไข้บรรเทาลงได้ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากการปวดหลัง ปวดประจำเดือน ปวดฟัน เคล็ดขัดยอก ปวดเมื่อย หรือปวดจากข้ออักเสบก็ตาม
สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของตัวเองก่อนใช้ยา เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหรือโรคบางชนิดจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะการแพ้ยาไอบูโพรเฟน หรือยากลุ่มเอ็นเสดชนิดอื่น ๆ
โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน มีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ โรคตับ โรคไต รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยควรใช้ไอบูโพรเฟนตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลาก หรือตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยปริมาณยาสูงสุดสำหรับผู้ใหญ่หากซื้อรับประทานเองไม่ควรเกิน 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน ยกเว้นแพทย์สั่ง เพราะหากรับประทานยาเกินขนาดอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ง่วงซึม อุจจาระปนเลือดหรือมีสีดำ ไอเป็นเลือด หายใจตื้น หมดสติ หรือโคม่า
ในกรณีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรรับประทานไอบูโพรเฟน ยกเว้นกรณีเป็นคำสั่งของแพทย์ เช่นเดียวกันกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่ไม่ควรรับประทานหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
ความแตกต่างระหว่างไอบูโพรเฟนและพาราเซตามอล
เนื่องจากไอบูโพรเฟนและพาราเซตามอลจัดเป็นยาแก้ปวดเหมือนกัน หลายคนจึงอาจคิดไปว่านำมาใช้แทนกันได้ หรือสับสนคิดว่าเป็นยาชนิดเดียวกัน แต่ความจริงแล้วยาทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันในรายละเอียดไม่น้อย หากผู้ป่วยขาดความรอบคอบและความระมัดระวังในการใช้ยาแต่ละชนิดอาจเป็นผลเสียต่อร่างกายได้
คุณสมบัติของยา
ตามที่กล่าวไปแล้วว่า ไอบูโพรเฟนช่วยในการลดไข้ บรรเทาปวด และลดการอักเสบ ในขณะที่พาราเซตามอลใช้ในการลดไข้และบรรเทาปวดเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรเลือกยาให้เหมาะสมกับอาการมากที่สุด หากมีอาการอักเสบอย่างปวดข้อต่อหรือข้ออักเสบก็ควรเลือกใช้ยาไอบูโพรเฟน
ปริมาณการใช้ยา
ปกติแล้วปริมาณการใช้ยาพาราเซตามอลจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 10–15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้รับประทานทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ปริมาณการใช้ยาไอบูโพรเฟนในผู้ใหญ่จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว จึงควรรับประทานตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
ความเสี่ยงของการใช้ยา
ในเบื้องต้น ยาทั้งสองชนิดอาจส่งผลต่อระบบอวัยวะมากน้อยต่างกันไป ยาพาราเซตามอลอาจกระทบต่อตับหรือเป็นพิษต่อตับ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับ ตับแข็ง หรือดื่มสุราปริมาณมากเป็นประจำ ส่วนยาไอบูโพรเฟนอาจก่อให้เกิดปัญหาในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะกระเพาะอาหาร อาจเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และเป็นพิษต่อไตได้ หากรับประทานในปริมาณสูงหรือเกิน 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
นอกเหนือจากการแพ้ยาที่ผู้ป่วยอาจพบระหว่างรับประทานทุกชนิดรวมทั้งยาไอบูโพรเฟนและยาพาราเซตามอล ไอบูโพรเฟนมักทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดแสบท้อง และอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เวียนศีรษะ ส่วนพาราเซตามอลโดยทั่วไปมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่หากพบอาการไม่พึงประสงค์ควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันที โดยเฉพาะผู้ใช้ยาพาราเซตามอลติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือใช้ร่วมกับยาแก้ไข้หรือยาแก้หวัดชนิดอื่น ๆ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วยาทั้งสองชนิดนี้รับประทานร่วมกันได้หรือไม่ จริง ๆ แล้วเราสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสดอย่างไอบูโพรเฟนได้ ทว่าในปัจจุบันมีการศึกษาที่ระบุว่า ผลลัพธ์ของการใช้ยาทั้งสองชนิดควบคู่กันอาจไม่ได้ดีไปกว่าการใช้ยาเดี่ยว แต่อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงสูงกว่า
ดังนั้น หากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยาทั้งสองชนิดร่วมกัน ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าเราจะเลือกใช้ยาชนิดใดเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการรับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย และเหมาะสมกับปัญหาสุขภาพของตนเอง หากมีความสับสนหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ