ข้อควรรู้เกี่ยวกับการบริจาคไข่ หนึ่งในวิธีช่วยรักษาผู้มีบุตรยาก

ขั้นตอนแรกของการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นเมื่ออสุจิปฏิสนธิกับไข่ ซึ่งไข่ที่ถูกปฏิสนธิจะเริ่มแบ่งเซลล์และไปฝังตัวที่บริเวณโพรงมดลูกจนเกิดการตั้งครรภ์ แต่ในบางกรณี ความผิดปกติบางอย่างทางร่างกายอาจส่งผลให้ผู้หญิงบางคนมีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือไข่ การบริจาคไข่หรือการใช้ไข่จากผู้หญิงคนอื่นในการปฏิสนธิแทนจึงอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่แพทย์เลือกใช้ในการรักษา

ภาวะมีบุตรยากเป็นภาวะที่อาจเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่แตกต่างกันตามผู้ป่วยแต่ละคน อย่างการรักษาด้วยการให้ยากระตุ้นการตกไข่สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ การบริจาคอสุจิสำหรับผู้ชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ รวมถึงการบริจาคไข่ที่แพทย์มักใช้เมื่อฝ่ายหญิงมีภาวะผิดปกติทางร่างกายบางอย่าง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยในประเทศไทยมีกฎหมายรองรับการบริจาคไข่แต่ห้ามไม่ให้บริจาคไข่เพื่อการค้า

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการบริจาคไข่ หนึ่งในวิธีช่วยรักษาผู้มีบุตรยาก

ใครบ้างที่แพทย์อาจแนะนำให้รับบริจาคไข่

แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากรับบริจาคไข่หากอยู่ในเกณฑ์ต่อไปนี้

  • เคยรับการรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization: IVF) แต่ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าสาเหตุอาจมาจากความผิดปกติบางอย่างที่เกี่ยวกับไข่
  • ฝ่ายหญิงมีอายุมาก
  • มีภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด (Premature Menopause)
  • มีประวัติผ่าตัดนำรังไข่ทั้ง 2 ข้างออกจากร่างกาย
  • ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่อาจถ่ายทอดไปยังทารก

คุณสมบัติของผู้ที่สามารถบริจาคไข่

ก่อนการบริจาคไข่ แพทย์จะตรวจร่างกายของผู้บริจาคก่อน เพื่อตรวจดูว่าผู้บริจาคมีโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างหรือไม่ อย่างโรคทางพันธุกรรม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความผิดปกติทางด้านจิตใจ รวมไปถึงการพิจารณาในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริจาคอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อการบริจาคไข่ เช่น

  • มีอายุระหว่าง 20–35 ปี หรือ 20–40 ปี กรณีที่เป็นญาติทางสายเลือดของฝั่งภรรยา
  • ต้องมีสัญชาติเดียวกับสามีหรือภรรยาซึ่งเป็นผู้รับบริจาคไข่
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ระหว่าง 19–29
  • ประจำเดือนมาปกติ
  • ไม่ใช้ยาฝังหรือยาฉีดคุมกำเนิด
  • มีรังไข่ครบทั้ง 2 ข้าง
  • ไม่มีประวัติการใช้สารเสพติด
  • ผู้บริจาคไข่สามารถบริจาคไข่ได้ไม่เกิน 3 ครั้ง

ขั้นตอนการบริจาคไข่

ก่อนการบริจาคไข่ แพทย์จะอธิบายให้ผู้บริจาคเข้าใจถึงความเสี่ยงหรือผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และทำการตรวจสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้บริจาค จากนั้นจะให้ผู้บริจาครับยากระตุ้นไข่เป็นระยะเวลาประมาณ 10–14 วัน และให้ผู้บริจาคงดมีกิจกรรมทางเพศในช่วง 3 วันก่อนเก็บไข่ เมื่อถึงวันไข่ตก แพทย์จะนัดผู้บริจาคอีกครั้งเพื่อเก็บไข่โดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วมกับการอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

หลังเสร็จสิ้นการเก็บไข่ ผู้บริจาคมักไม่จำเป็นต้องพักฟื้น แต่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้บริจาคงดมีกิจกรรมทางเพศต่อไปอีกประมาณ 4 วัน หลังจากนั้นให้ใช้ถุงยางอนามัย หรือฝาครอบปากมดลูกในการคุมกำเนิดจนกว่าประจำเดือนรอบต่อไปจะมา

โดยส่วนใหญ่ ผู้บริจาคมักไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ที่เป็นอันตรายจากการบริจาคไข่ แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง อย่างมีเลือดออก ติดเชื้อ อวัยวะบริเวณช่องท้องหรือกระเพาะปัสสาวะได้รับความเสียหาย หรือเกิดกลุ่มอาการรังไข่ถูกกระตุ้นเกิน (Ovarian Hyperstimulation Syndrome) จากการใช้ยากระตุ้นการตกไข่ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการบริจาคไข่ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนการบริจาคไข่

หลังจากเก็บไข่จากผู้บริจาคแล้ว แพทย์จะนำไข่ที่ได้ไปใช้ในการรักษาผู้รับบริจาคไข่ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน เช่น แพทย์อาจใช้วิธีการทำเด็กหลอดแก้ว โดยการนำไข่ที่ได้ไปปฏิสนธิกับอสุจิภายนอกร่างกายแล้วนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าไปฝังตัวภายในมดลูก หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้รับบริจาคแต่ละคน