ข้อเข่าเสื่อมเป็นอาการป่วยเรื้อรังที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากการรักษาโดยแพทย์ ผู้ป่วยอาจเลือกรับประทานอาหารบางชนิด เพื่อบำรุงร่างกายและบรรเทาอาการต่าง ๆ จากข้อเข่าเสื่อม เช่น อาการปวด บวม อักเสบ และข้อต่อกระดูกติดขัด รวมทั้งอาจหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มเสี่ยงที่ทำให้อาการทรุดหนักลง ซึ่งสามารถศึกษาได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้
อาหารบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม
แม้อาหารจะไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคหรืออาการใด ๆ โดยตรง แต่อาหารก็เป็นอีกหนึ่งวิธีบรรเทาอาการต่าง ๆ ของข้อเข่าเสื่อม เพราะผู้ป่วยจะได้รับสารอาหารนานาชนิดที่ส่งผลดีต่อร่างกายจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยสารอาหารเหล่านั้นอาจช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดการอักเสบ และช่วยเสริมสร้างข้อกระดูกให้แข็งแรงได้
โดยสารอาหารและตัวอย่างอาหารที่อาจช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม ได้แก่
- วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบำรุงเอ็นข้อต่อ ผู้ป่วยข้ออักเสบควรบริโภควิตามินซีประมาณ 90 มิลลิกรัม/วันในเพศชาย และประมาณ 75 มิลลิกรัม/วันในเพศหญิง ตัวอย่างอาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ส้ม สับปะรด ฝรั่ง บรอกโคลี มะเขือเทศ มะละกอสุก กะหล่ำปลี และดอกกะหล่ำ เป็นต้น
- วิตามินดี ช่วยดูดซึมแคลเซียมและเสริมสร้างความแข็งแรงขอๆงกระดูก ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้ทางผิวหนังจากการรับแสงแดด โดยควรรับแสงแดดอ่อน ๆ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดจ้า หรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานานเกินไป นอกจากนี้ สามารถรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูงได้จากอาหารจำพวกนม ไข่ ปลาซาดีน และอาหารทะเล
- สารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) เช่น เควอซิทิน (Quercetin) และแอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidins) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบคล้ายยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน โดยอาหารที่มีไบโอฟลาโวนอยด์ ได้แก่ เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ แอปเปิ้ล ชาเขียว หัวหอม และมะเขือเทศ
- เบตาแคโรทีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูงอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งช่วยขจัดสารอนุมูลอิสระที่อาจมีส่วนทำลายข้อต่อกระดูกต่าง ๆ โดยอาหารที่มีเบตาแคโรทีนสูง ได้แก่ แครอท แคนตาลูป ใบสะระแหน่ ผักปวยเล้ง และหน่อไม้ฝรั่ง
- กรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวดข้อต่อกระดูก และลดอาการข้อติดขัดในตอนเช้า โดยอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาซาดีน ปลาทูน่า และปลาแซลมอน
- คอลลาเจนไทพ์ทู (Collagen Type II) หรือคอลลาเจนชนิดที่ 2 คือ โปรตีนที่เป็นส่วนประกอบหลักของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน ซึ่งปัจจุบันมีการสกัดคอลลาเจนจากกระดูกอ่อนอกไก่เพื่อนำมาใช้รักษาอาการปวดข้อต่อที่เกี่ยวกับโรคข้ออักเสบชนิดต่าง ๆ โดยอาจมีกลไกที่ช่วยต้านอาการปวดและบวมจากการอักเสบ ทั้งนี้ ยังมีอีกงานวิจัยหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมรับประทานคอลลาเจนที่สกัดมาจากกระดูกอ่อนของอกไก่ อย่างคอลลาเจนไทพ์ทู ลิขสิทธิ์ยูซีทู (UC–II) พบว่าดังกล่าวช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการข้อยึดติดได้ โดยมีประสิทธิภาพทางการรักษามากกว่ากลูโคซามีนและคอนดรอยตินทั่วไปเมื่อบริโภคในระยะเวลาที่เท่ากัน
- สมุนไพรและเครื่องเทศบางชนิด เช่น ขิงและขมิ้น อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยลดอาการปวดหรืออาการติดขัดบริเวณข้อต่อกระดูก แต่ขิงอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาวาร์ฟาริน หรืออาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย และแสบร้อนกลางอกได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคเสมอ
- น้ำมันมะกอก อาจนำมาใช้ทดแทนไขมันชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำมันจากเนย เพราะน้ำมันมะกอกปริมาณ 3½ ช้อนโต๊ะ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ใกล้เคียงกับยาไอบูโพรเฟน 200 มิลลิกรัม หรือยาในกลุ่ม NSAIDs ได้ แต่ขณะเดียวกัน น้ำมันชนิดนี้ก็ให้พลังงานสูงถึง 400 แคลอรี่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวได้ ผู้ป่วยจึงควรบริโภคน้ำมันมะกอกในปริมาณที่พอดี
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยต้องการบริโภคสารอาหารบางอย่างในรูปแบบอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพราะการบริโภคในปริมาณหรือวิธีการที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้เมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด หรือเมื่อผู้ป่วยกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อยู่
ข้อเข่าเสื่อมกับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
แม้การเลือกบริโภคอาหารบางชนิดอาจช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อมได้ แต่ยังมีอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยโรคนี้ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน เพราะอาจส่งผลให้อาการกำเริบขึ้นได้ ซึ่งอาหารต้องห้ามดังกล่าว ได้แก่
- เกลือ หากบริโภคเกลือในปริมาณมาก จะทำให้เซลล์เก็บน้ำไว้มากเกินไปจนร่างกายบวมน้ำ ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรลดการใช้เกลือและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม
- น้ำตาล อาจกระทบต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งทำให้การอักเสบทวีความรุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก คุกกี้ หรือขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ
- แป้งขัดขาว อาจกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย และทำให้อาการปวดข้อต่อกระดูกรุนแรงขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว เช่น ขนมปังขาว พาสต้า ซีเรียล ธัญพืชต่าง ๆ ที่ขัดขาว
- อาหารทอด เช่น เฟรนช์ฟราย โดนัท เพราะมีไขมันอิ่มตัวปริมาณมาก ซึ่งอาจเพิ่มการอักเสบภายในร่างกายได้ ผู้ป่วยจึงควรเลือกบริโภคอาหารอบแทนอาหารที่ใช้น้ำมันทอด
- เนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยอุณหภูมิสูง เพราะการปรุงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดสาร AGEs (Advanced Glycation End Products) ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย และอาจเกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ซึ่งสาร AGEs มักอยู่ในเนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยการย่าง ปิ้ง หรือทอด ที่ใช้อุณหภูมิสูง
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะอาจกระตุ้นอาการต่าง ๆ ให้รุนแรงขึ้น และอาจเกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อใช้ร่วมกับยาหรือการรักษาอื่น ๆ ของโรคข้ออักเสบ