ข้าวฟ่างจัดเป็นธัญพืชที่ปราศจากโปรตีนกลูเตน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน เช่น ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น คนส่วนใหญ่นิยมนำไปประกอบอาหารทั้งคาวหวานอย่างโจ๊กข้าวฟ่าง ข้าวฟ่างเปียก และสลัดผัก อีกทั้งยังอาจใช้เป็นส่วนผสมในแป้งขนมปังประเภทต่าง ๆ ด้วย
ข้าวฟ่างเป็นแหล่งรวมสารอาหารสำคัญหลายชนิด เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม สังกะสี เหล็ก วิตามินบี และใยอาหาร เป็นต้น ในข้าวฟ่างสุก 1 ถ้วย (174 กรัม) จะให้ใยอาหาร 2 กรัม โปรตีน 6 กรัม และแมกนีเซียมที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันอีกร้อยละ 20 โดยสายพันธุ์หลักที่นิยมนำมาปลูกและนำมาใช้ประโยชน์กันทั่วโลก ได้แก่ ข้าวฟ่างไข่มุก ข้าวฟ่างหางกระรอกหรือข้าวฟ่างหางหมา ข้าวฟ่างไม้กวาด และข้าวฟ่างนก
คุณประโยชน์ของข้าวฟ่าง
ข้าวฟ่างเต็มไปด้วยสารอาหารสำคัญมากมาย ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายไม่มากก็น้อย จึงมีงานวิจัยบางส่วนค้นคว้าเกี่ยวกับประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ของข้าวฟ่างไว้ ดังนี้
ต่อต้านอนุมูลอิสระ
สารต้านอนุมูลอิสระเป็นสารช่วยป้องกันและชะลอความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มะเร็ง เป็นต้น โดยสารนี้มักมีอยู่ในอาหาร โดยเฉพาะผัก ผลไม้ พืชต่าง ๆ รวมถึงข้าวฟ่างด้วย
การศึกษาค้นคว้าชิ้นหนึ่งเผยว่า รำของข้าวฟ่างไข่มุกมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีสารแทนนิน กรดไฟติก และสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งอีกหนึ่งงานวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่า รำของข้าวฟ่างหางกระรอกอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ทว่างานวิจัยทั้งสองชิ้นยังเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ยังจำเป็นต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระของข้าวฟ่างในมนุษย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัดและสามารถนำมาประยุกต์ในการรักษาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ ได้
ลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์
ไตรกลีเซอไรด์ที่จัดเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น หรืออาจมาจากการรับประทานอาหารบางประเภท แต่หากร่างกายมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการศึกษาบางส่วนพบว่าการรับประทานธัญพืชอย่างข้าวฟ่างอาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้
โดยการทดลองหนึ่งได้ให้หนูที่มีไขมันในเลือดสูงรับประทานข้าวฟ่างหางกระรอกและข้าวฟ่างนก หลังรับประทานพบว่า การบริโภคข้าวฟ่างทั้ง 2 สายพันธุ์ส่งผลให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงอาจลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดให้น้อยลงไปด้วย แต่งานวิจัยนี้เป็นเพียงการศึกษาคุณสมบัติของข้าวฟ่างในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าจะเกิดผลเช่นเดียวกับในคน
รักษาโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติและก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะที่ดวงตา ไต ระบบประสาทส่วนปลาย หัวใจ และหลอดเลือด ดังนั้น หลายคนจึงใส่ใจกับการรับประทานอาหารมากขึ้น โดยข้าวฟ่างถือเป็นหนึ่งในธัญพืชยอดนิยมที่คนนำมาบริโภค ซึ่งเชื่อกันว่าอาจช่วยรักษาหรือลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานลง เพราะเป็นธัญพืชที่มีแป้งต่ำและอุดมด้วยเส้นใยอาหารสูง
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้ผู้ป่วยที่มีความทนต่อน้ำตาลกลูโคสบกพร่อง ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในอนาคต รับประทานข้าวฟ่างหางกระรอกในปริมาณ 50 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า การบริโภคข้าวฟ่างช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนว่า การรับประทานข้าวฟ่างอาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น แต่งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการศึกษาทดลองในระยะสั้น จึงควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในระยะยาวเพื่อยืนยันประสิทธิผลและศึกษาความปลอดภัยหากต้องการใช้เป็นอาหารเพื่อรักษาโรค
ข้อควรระวังในการรับประทานข้าวฟ่าง
แม้ข้าวฟ่างจะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่อาจส่งผลเสียต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการโดยเฉพาะผู้ป่วยไทรอยด์ต่ำหรือภาวะไฮโปไทรอยด์ เนื่องจากข้าวฟ่างอาจมีสารที่ขัดขวางทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคข้าวฟ่างและระมัดระวังอาหารบางประเภทที่อาจมีส่วนผสมของข้าวฟ่างอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคข้าวฟ่างของแต่ละคนอาจแตกต่างกันด้วยจากอายุ เพศ สุขภาพร่างกาย และการเจ็บป่วยอื่น ๆ หากต้องการรับประทานปริมาณมากเพื่อหวังผลในการรักษาทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ หรือนักโภชนาการก่อนบริโภคเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับตนเอง