คนท้องท้องอืด เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว และใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้นได้ การเรียนรู้ที่มาและวิธีรับมือกับอาการนี้เอาไว้จึงน่าจะช่วยให้คุณแม่ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น
ท้องอืด เป็นอาการที่ผู้ป่วยจะรู้สึกอึดอัดและแน่นท้องจากการมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหาร รวมถึงอาจมีอาการปวดท้อง มีเสียงร้องภายในท้อง และผายลมบ่อย โดยการสะสมของแก๊สในกระเพาะอาหารจะสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการตั้งครรภ์เสมอไป อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการเกิดแก๊สได้
สาเหตุที่ส่งผลให้คนท้องท้องอืด
การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารที่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาคนท้องท้องอืดสามารถเป็นได้หลายอย่าง เช่น
1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อ ซึ่งรวมถึงบริเวณระบบทางเดินอาหารของคุณแม่เกิดการคลายตัว ซึ่งจะทำให้กระบวนการย่อยอาหารช้าลง และมีโอกาสเกิดแก๊สสะสมได้ง่ายขึ้น
2. การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
การขยายตัวหรือเจริญเติบโตของลูกในท้องจะส่งผลให้ช่องท้องของคุณแม่ได้รับแรงกดทับ ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารช้าลง และเกิดแก๊สสะสมได้ง่ายขึ้นตามมา
3. การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอ
คุณแม่ที่รับประทานอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือประมาณ 25 กรัม/วัน อาจเสี่ยงเกิดอาการท้องอืดได้ง่าย อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเพิ่มการเพิ่มปริมาณการรับประทานใยอาหารในปริมาณในเวลาสั้น ๆ เนื่องจากการรับประทานใยอาหารในลักษณะนี้อาจยิ่งส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้
4. ขาดการออกกำลังกาย
การขาดการออกกำลังกายอาจส่งผลให้คุณแม่ท้องอืดได้ เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่อาจช่วยป้องกันการสะสมของน้ำในร่างกายที่มากเกินไป รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องผูก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการท้องอืดได้
ทั้งนี้ นอกจากการตั้งครรภ์แล้ว การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารของคุณแม่ก็อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน เช่น ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance) ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดหลังจากรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแล็กโทสเป็นส่วนผสม
วิธีรับมือกับปัญหาคนท้องท้องอืด
การนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้อาจช่วยบรรเทาปัญหาคนท้องท้องผูกได้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจยิ่งส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก เช่น พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี อาหารที่มีไขมันสูง ของทอด และหากมีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากนมวัวด้วย
- ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อและเพิ่มจำนวนมื้ออาหารแทน และขณะรับประทานอาหารก็ควรหลีกเลี่ยงการพูดคุยขณะเคี้ยวและการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหารบ่อย ๆ และที่สำคัญควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ แต่ให้หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวาน อย่างซอร์บิทอล (Sorbitol) เป็นส่วนผสม และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากหลอด
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง
- พยายามหลีกเลี่ยงการเอนตัวนอนหลังจากรับประทานอาหาร
- ออกกำลังกายให้บ่อยขึ้น หรือประมาณ 30 นาที/วัน เพื่อกระตุ้นระบบย่อยอาหาร
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
ทั้งนี้ แม้ปัญหาคนท้องท้องอืดจะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและฟังดูไม่รุนแรง แต่คุณแม่ที่มีอาการนี้ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอและควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากพบการเกิดอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ ปวดท้องอย่างรุนแรง อุจจาระปนเลือด ท้องเสียอย่างรุนแรง หรือท้องผูกอย่างรุนแรง