ครีมกันแดด (Sunscreen) คือ สารที่ช่วยปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี (Ultraviolet Radiation: UV) ซึ่งอาจช่วยไม่ให้ผิวหนังไหม้หรือเกิดจุดด่างดำ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง โดยครีมกันแดดอาจมีค่า SPF ที่แตกต่างกัน และมีหลายรูปแบบ เช่น โลชั่น ครีม เจล และสเปรย์ นอกจากนี้ ยังอาจมีการนำครีมกันแดดไปผสมในเครื่องสำอางอีกด้วย
ครีมกันแดดอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ตามกลไกการป้องกันแสงแดด คือ สารกันแดดแบบเคมีที่ปกป้องผิวโดยการดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด และสารกันแดดแบบกายภาพที่มีคุณสมบัติสะท้อนรังสีจากแสงแดดออกไป นอกจากนี้ ยังมีครีมกันแดดที่ผลิตขึ้นมาสำหรับเด็กหรือผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย โดยผู้ใช้ครีมกันแดดควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่เหมาะสมกับตนเอง
ทำความรู้จักค่า SPF ในครีมกันแดด
ค่า SPF (Sun-Protection Factor) คือตัวเลขที่ใช้บอกระดับการปกป้องผิวจากแสงแดด โดยตัวเลขที่ต่างกันนั้นอาจประเมินจากการป้องกันรังสียูวีบีว่าป้องกันได้มากกว่าปกติกี่เท่า แต่ไม่ได้แสดงประสิทธิภาพของการป้องกันรังสียูวีเอ
ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ไม่ได้ทาครีมกันแดดจะมีผิวหนังแดงหลังตากแดดเป็นเวลา 15 นาที ส่วนผู้ที่ใช้ครีมกันแดดที่ค่า SPF 30 อาจเกิดอาการดังกล่าวหลังตากแดดเป็นเวลา 450 นาที โดยคิดจากเวลาปกติที่ผิวหนังทนต่อแสงแดดได้คูณกับค่า SPF ที่ปกป้องผิวจากแสงแดดได้มากถึง 30 เท่า
ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของค่า SPF ในครีมกันแดดที่ใช้ทาจริงอาจต่ำกว่าค่าที่ได้จากห้องทดลอง ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาที่ออกแดด ช่วงเวลาที่ออกแดด สภาพแวดล้อม ฤดูกาล อากาศ ความแรงของแสงแดด การสัมผัสโดนเหงื่อหรือโดนน้ำ
วิธีเลือกซื้อครีมกันแดดอย่างเหมาะสม
การซื้อครีมกันแดดให้เหมาะสมกับตัวเองอาจมีวิธีการเลือก ดังนี้
1. เลือกครีมกันแดดที่ปกป้องผิวได้อย่างครอบคลุม (Broad-Spectrum)
ควรเลือกครีมกันแดดที่ปกป้องผิวจากรังสียูวีเอและรังสียูวีบี โดยครีมกันแดดที่ได้รับการระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ว่า Broad-Spectrum ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งรังสียูวีเอและยูวีบีที่เป็นต้นตอของปัญหาผิวหนังต่าง ๆ
2. ควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือมากกว่านั้น
ค่า SPF จะช่วยบอกระดับการป้องกันผิวจากรังสียูวีบี ซึ่งครีมกันแดดที่มีค่าดังกล่าวสูงจะปกป้องผิวจากแสงแดดได้มากขึ้น โดยควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป เนื่องจากครีมกันแดดที่มีค่า SPF ต่ำกว่า 30 อาจกรองแสงยูวีได้น้อย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อปัญหาผิวหนังต่าง ๆ รวมไปถึงมะเร็งผิวหนังได้
3. เลือกครีมกันแดดที่กันน้ำ (Water Resistant)
โดยครีมกันแดดชนิดนี้จะช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดระหว่างที่ว่ายน้ำหรือเหงื่อออกได้นานประมาณ 40–80 นาที ผู้ใช้ควรทาครีมกันแดดซ้ำอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้น
4. เลือกใช้ครีมกันแดดที่เหมาะสมต่อสภาพผิว
ควรเลือกประเภทของครีมกันแดดที่เหมาะสมกับสภาพผิว เช่น ผู้ที่มีผิวแห้งอาจเหมาะกับครีมกันแดดเนื้อครีม แต่ผู้ที่มีผิวมันอาจเหมาะกับครีมกันแดดเนื้อเจล หรือครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำ (Water-based) สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ควรใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) หรือซิงก์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ซึ่งมักทำให้เกิดการระคายเคืองได้น้อย
5. หลีกเลี่ยงการเลือกครีมกันแดดที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง
ควรหลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่ผสมแอลกอฮอล์ น้ำหอม วัตถุกันเสีย และส่วนผสมอื่น ๆ ที่มักก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น กรดพาราอะมิโนเบนโซอิกหรือกรดพาบา (Para-Aminobenzoic Acid: PABA) หรือสารเบนโซฟีโนน (Benzephenones) ต่าง ๆ เช่น ไดออกซีเบนโซน (Dioxybenzone) ออกซิเบนโซน (Oxybenzone) หรือซอลลิเบนโซน (Sulisobenzone)
วิธีใช้ครีมกันแดดอย่างถูกต้อง
การใช้ครีมกันแดดอย่างถูกต้องจะช่วยปกป้องผิวจากรังสีของแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำได้ดังนี้
- ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณ 15 นาที โดยใช้ครีมกันแดดในปริมาณ 1 ออนซ์ หรือ 2 ช้อนโต๊ะ ทาให้ทั่วร่างกาย รวมถึงบริเวณดวงตา หู เท้า ด้านหลังขา หรือบริเวณที่โดนแดด
- ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมงหรือตามที่ฉลากระบุ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการกันแดด
- ควรทาครีมกันแดดชนิดกันน้ำทุกครั้งก่อนว่ายน้ำ และควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือหลังจากว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออก
- ควรทาลิปบาล์มที่มีค่า SPF 30 เพื่อปกป้องริมฝีปากจากรังสียูวี
- ควรลงครีมกันแดดก่อนการแต่งหน้าทุกครั้ง ถึงแม้ว่าในเครื่องสำอางอาจมีครีมกันแดดผสมอยู่ แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการป้องกันผิวจากการโดนรังสียูวี
- ควรทาครีมกันแดดเมื่อต้องออกไปข้างนอกเสมอ เนื่องจากดวงอาทิตย์จะปล่อยรังสียูวีออกมา ซึ่งรังสียูวีอาจทำลายผิว ทำให้ผิวแก่เกินวัย ผิวไหม้แดด เกิดจุดด่างดำ และเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้
- ครีมกันแดดสูตรกันน้ำ (Water resistant/Very water resistant) อาจช่วยปกป้องผิวเมื่อผิวเปียกได้ประมาณ 40–80 นาที อย่างไรก็ตาม ควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าผิวจะแห้งก็ตาม
- ทารกที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถใช้ครีมกันแดดได้ ในกรณีที่แพทย์ไม่ได้กำหนดให้ใช้วิธีอื่นดูแลผิวของทารกจากแสงแดด
- ไม่ควรใช้ครีมกันแดดที่หมดอายุหรือนานเกิน 3 ปีนับจากวันผลิต เนื่องจากครีมกันแดดอาจเสื่อมประสิทธิภาพ
- หลีกเลี่ยงการวางครีมกันแดดไว้กลางแจ้ง หรือในสถานที่ที่มีอากาศร้อน เพราะอาจทำให้สารกันแดดเสื่อมประสิทธิภาพได้
อย่างไรก็ตาม ครีมกันแดดไม่สามารถปกป้องผิวจากรังสียูวีได้อย่างสมบูรณ์ จึงควรใช้วิธีอื่นปกป้องผิวอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ใส่หมวกและเสื้อผ้าที่กันรังสียูวี หลีกเลี่ยงการโดนแดดเป็นเวลานานหรือการอาบแดดเพื่อทำผิวแทน
ข้อควรระวังในการใช้ครีมกันแดด
การใช้ครีมกันแดดหรือผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดดอาจช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีเอและรังสียูวีบี นอกจากนี้ การใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอยังอาจมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น ป้องกันความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง ปกป้องผิวไม่ให้ถูกแดดเผา อีกทั้งยังอาจช่วยไม่ให้ผิวแก่ก่อนวัย หรือเกิดจุดด่างดำหรือฝ้าบนผิวได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การใช้ครีมกันแดดอาจมีข้อควรระวังบางอย่าง เช่น
- ครีมกันแดดอาจลดการผลิตวิตามินดีของผิวหนัง เนื่องจากวิตามินดีมักผลิตได้จากการโดนแสงแดด โดยผู้ใช้ครีมกันแดดอาจรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีหรืออาหารเสริม เพื่อเสริมวิตามินดีให้ร่างกายอย่างเพียงพอ
- ครีมกันแดดอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือมีรอยแดงที่ผิว เนื่องจากครีมกันแดดมีส่วนผสมบางตัวที่ทำให้ผิวแพ้สารต่าง ๆ ได้ง่าย ควรล้างออกและหยุดใช้ รวมทั้งปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเลือกใช้ครีมกันแดดตัวอื่นแทน
- การใช้ครีมกันแดดอาจทำให้มีคราบเหลืองติดตามเสื้อผ้า
- การใช้ครีมกันแดดอาจทำให้เกิดสิว
อย่างไรก็ตาม การใช้ครีมกันแดดยังคงมีประโยชน์อย่างมากในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีแสงแดดแรง การใช้ครีมกันแดดจึงอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพผิวหนัง และป้องกันมะเร็งผิวหนังที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย