การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์ ทำให้สภาพผิวเปลี่ยนแปลงและแพ้ง่าย คุณแม่หลายคนอาจไม่แน่ใจว่าควรเลือกครีมบำรุงผิวอย่างไรให้ผิวสวยและปลอดภัยต่อลูกน้อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคุณแม่สามารถใช้ครีมบำรุงผิวได้ตามปกติ แต่ควรระมัดระวังส่วนผสมบางอย่างในผลิตภัณฑ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของทารกในครรภ์
คุณแม่หลายคนทราบวิธีดูแลร่างกายภายในได้เป็นอย่างดี แต่อาจไม่รู้ว่าการใช้ครีมบำรุงผิวที่ประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของลูกน้อยได้ด้วย บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลของส่วนประกอบในครีมบำรุงผิวที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ และเทคนิคดูแลผิวสวยอย่างปลอดภัยขณะตั้งครรภ์มาฝากกัน
ส่วนผสมในครีมบำรุงผิวที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง
การบำรุงผิวให้สวยและปลอดภัยระหว่างตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล หากสังเกตและหลีกเลี่ยงส่วนผสมต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะช่วยให้คุณแม่ดูแลผิวให้สวยได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อย
-
เรตินอยด์ (Retinoids)
เรตินอยด์หรืออนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ เป็นส่วนผสมที่ได้รับความนิยมในครีมบำรุงผิวหลายประเภท โดยมีคุณสมบัติลดเลือนริ้วรอย รักษาสิว ความผิดปกติของเม็ดสีผิว และโรคสะเก็ดเงิน (Plaque Psoriasis) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ครีมบำรุงผิวที่หาซื้อได้ทั่วไปมักประกอบด้วยเรตินอยด์ในปริมาณความเข้มข้นต่ำ แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ตามการสั่งจ่ายของแพทย์ เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin) และไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) จะมีปริมาณความเข้มข้นสูงกว่า แม้ว่าการใช้ยาทาเฉพาะที่ที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์อาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายไม่มากนัก แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นสูงอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้
ผู้ที่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ที่มีความเข้มข้นสูง และอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) หรือกรดชนิดอ่อนทดแทนเพื่อความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เช่น วิตามินซี กรดแลคติก (Lactic Acid) และกรดอะซีลาอิก (Azelaic acid)
-
กรดไฮดรอกซี (Hydroxy Acids)
กรดไฮดรอกซีเป็นส่วนผสมหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง ส่วนใหญ่มักพบในรูปของ AHA (Alpha Hydroxy Acid) และ BHA (Beta Hydroxy Acid) ที่ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวและลดการอุดตันของรูขุมขน จึงนิยมใช้ในการรักษาสิว ลดการอักเสบ ลดรอยแดง และอาจช่วยลดเลือนริ้วรอยได้
AHA ที่มักพบในครีมบำรุงผิว ได้แก่ กรดแลคติกและกรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) โดยทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) แนะนำให้ใช้ AHA ที่มีความเข้มข้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อผิว อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ AHA เพื่อความปลอดภัย
ส่วน BHA ที่นิยมนำมาใช้ในครีมบำรุงผิวคือ กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งมักมีความเข้มข้นระหว่าง 0.5–5 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ คนทั่วไปและหญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ BHA ที่มีความเข้มข้นต่ำได้อย่างปลอดภัย โดยให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ในระยะสั้น หากต้องการใช้ BHA ที่มีความเข้มข้นสูงในรูปแบบยาชนิดรับประทานหรือการผลัดเซลล์ผิว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้เสมอ
-
ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
ไฮโดรควิโนนเป็นสารเคมีที่ผสมในครีมบำรุงผิว เพื่อใช้รักษาภาวะผิดปกติของการสร้างเม็ดสีบนผิวหนัง อย่างฝ้า (Melasma) ฝ้าในหญิงตั้งครรภ์ (Chloasma) และจุดด่างดำ โดยในปัจจุบันไฮโดรควิโนนได้ถูกสั่งห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไปตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ยกเว้นใช้ในกรณีที่แพทย์สั่ง
แม้จะยังไม่มีผลการวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลข้างเคียงของไฮโดรควิโนนต่อทารก แต่คุณแม่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน เพื่อป้องกันการดูดซึมของสารเข้าสู่กระแสเลือดไปยังทารก
-
พทาเลตหรือพาทาเลต (Phthalate)
พทาเลตเป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น จึงนิยมใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าประเภทพลาสติก พบได้ในผลิตภัณฑ์ทั่วไป ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และเครื่องสำอางบางชนิด เช่น น้ำหอม สเปรย์ฉีดผม และน้ำยาทาเล็บ
พทาเลตอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และอาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อย่างความบกพร่องของทักษะด้านกล้ามเนื้อ (Motor skills) และทักษะภาษา คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของพทาเลตเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
-
ครีมกันแดดประเภทเคมี (Chemical Sunscreen)
การทาครีมกันแดดจะช่วยป้องกันผิวจากการถูกทำลายของรังสียูวี (UV) ซึ่งทำให้ผิวคล้ำเสีย เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ และฝ้าในหญิงตั้งครรภ์ โดยครีมกันแดดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ครีมกันแดดแบบกายภาพ (Physical หรือ Mineral Sunscreen) ได้แก่ สารไททาเนียม ไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) และซิงค์ ออกไซด์ (Zinc Oxide) จะช่วยป้องกันการดูดซึมของรังสียูวีในผิวหนัง ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผิวโดยสกัดกั้นและสะท้อนรังสียูวีออกจากผิวหนัง
- ครีมกันแดดแบบเคมี (Chemical Sunscreen) จะซึมลงสู่ผิวหนังและทำปฏิกิริยาทางเคมี โดยเปลี่ยนรังสียูวีเป็นพลังงานความร้อนที่ไม่ทำลายผิว
ทั้งนี้ ครีมกันแดดแบบเคมีที่มีส่วนผสมของสารออกซิเบนโซน (Oxybenzone) อาจส่งผลต่อความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก อย่าง Hirschsprung's Diseasewww.pobpad.com/hirschsprungs-disease ทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) จึงแนะนำให้ใช้ครีมกันแดดแบบกายภาพที่มีส่วนผสมของสารไททาเนียม ไดออกไซด์ และซิงค์ ออกไซด์ ซึ่งสามารถกันแดดได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
เทคนิคบำรุงผิวสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
นอกเหนือจากการสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ของครีมบำรุงผิวเพื่อหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์แล้ว การดูแลผิวในแต่ละวันอย่างง่าย ๆ ควบคู่กัน จะช่วยให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าจะมีผิวสวยได้อย่างปลอดภัย
- ล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นและผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนและเหมาะกับสภาพผิว หากมีสภาพผิวมันควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพราะอาจทำให้ผิวเกิดการอุดตันได้ง่าย
- ใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของวิตามินซีหรือสารต้านอนุมูลอิสระในตอนเช้า เพื่อป้องกันและลดเลือนรอยสิวหรือจุดด่างดำ
- ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหน้าและผิวกาย เพื่อป้องกันผิวแห้งลอก และผิวแตกลาย (Stretch Mark) บริเวณหน้าท้อง สะโพก และต้นขา
- หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแดดจัด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00–16.00 น. ควรสวมหมวก แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดแบบกายภาพที่ปกป้องผิวได้อย่างครอบคลุม (Broad-Spectrum) ซึ่งมีค่า SPF 30 ขึ้นไป โดยทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมงหรือหลังจากว่ายน้ำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและโอเมก้า 3 สูง อย่างผักผลไม้ ปลาทะเล และธัญพืชชนิดต่าง ๆ ที่จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและบำรุงผิวพรรณได้จากภายใน
การบำรุงผิวของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่เริ่มจากการใส่ใจในการสังเกตส่วนผสมที่เป็นอันตรายและหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น กรณีที่ใช้ผลิตภัณฑ์แล้วพบว่ามีส่วนผสมที่เป็นอันตราย ควรหยุดใช้ทันที หากมีข้อสงสัยในการเลือกใช้ครีมบำรุงผิวระหว่างการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคผิวหนังหรือได้รับยาบางชนิด เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเองและลูกน้อย