ครีมบำรุง ไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว แต่ยังช่วยเสริมเกราะปกป้องผิว ช่วยปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ และฟื้นฟูผิวหยาบกร้านให้เนียนนุ่ม แต่ในท้องตลาดปัจจุบันมีครีมบำรุงหลายชนิดให้เลือกใช้ สาว ๆ จึงควรเลือกใช้ครีมบำรุงที่ดีและเหมาะกับสภาพผิวของตัวเองด้วย เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลผิวพรรณ
ครีมบำรุง คือ อะไร ?
ครีมบำรุง คือ ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ช่วยฟื้นฟูผิวแห้งกร้าน ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ ปกป้องผิวจากสิ่งสกปรกภายนอก บรรเทาอาการผิวหนังอักเสบชนิดไม่รุนแรง ลดเลือนริ้วรอยร่องตื้น และช่วยปรับสภาพผิวก่อนลงเครื่องสำอาง ครีมบำรุงจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สาว ๆ ควรใช้และมีติดตัวไว้
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ควรเลือกครีมบำรุงที่เหมาะสมกับลักษณะผิวของตนเอง โดยครีมบำรุงที่จำหน่ายตามท้องตลาดมีหลายชนิดและรูปแบบ ทั้งโลชั่น สเปรย์ ครีม และขี้ผึ้ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ดังนี้
- โลชั่น เหมาะกับผิวที่มีขนดกหรือผิวบริเวณที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบ เพราะโลชั่นมีเนื้อบางเบา ทำให้เกลี่ยได้ง่าย แต่มีความเข้มข้นค่อนข้างน้อย
- ครีม เนื้อครีมมีลักษณะไม่มันเยิ้มจนเกินไปและสามารถซึมเข้าสู่ผิวได้รวดเร็ว จึงเหมาะสำหรับใช้ทาระหว่างวัน
- สเปรย์ เหมาะสำหรับฉีดพ่นผิวบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก และผิวที่มีอาการอักเสบหรือติดเชื้อซึ่งไม่ควรใช้มือสัมผัส
- ขี้ผึ้ง เหมาะกับผิวแพ้ง่ายและผิวแห้งกร้าน เพราะส่วนใหญ่ครีมชนิดนี้ไม่มีส่วนผสมของสารกันบูดและยังมีความเข้มข้นสูงด้วย เมื่อชโลมลงบนผิวอาจทำให้รู้สึกมันและลื่น จึงควรใช้ก่อนเข้านอนและไม่ควรใช้กับผิวบริเวณที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบ
ส่วนผสมของครีมบำรุง
ในปัจจุบันมีครีมบำรุงให้เลือกใช้หลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้ออาจมีสี กลิ่น และสารบางชนิดแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปมักประกอบด้วยส่วนผสมต่อไปนี้
- น้ำ หลายคนอาจคิดว่าครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของน้ำมันปริมาณมากจะช่วยฟื้นฟูผิวที่แห้งได้ดี แต่จริง ๆ แล้วน้ำมันไม่ได้ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นขึ้นได้เหมือนน้ำ เพราะผิวแห้งกร้านเกิดจากการขาดน้ำ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำปริมาณมากจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าในการเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ซึ่งครีมบำรุงส่วนใหญ่เป็นสารประกอบระหว่างน้ำกับน้ำมัน เพราะน้ำจะระเหยไปอย่างรวดเร็วเมื่อทาลงบนผิว จึงจำเป็นต้องมีน้ำมันช่วยโอบอุ้มน้ำเอาไว้ให้ผิวดูดซึมน้ำในครีมได้มากขึ้น
- สารป้องกันการระเหยของน้ำ เป็นส่วนผสมที่ช่วยให้น้ำในครีมบำรุงระเหยช้าลง เช่น ปิโตรเลียม เซตทิลแอลกอฮอล์ (Cetyl Alcohol) ลาโนลิน (Lanolin) พาราฟิน (Paraffin) เลซิทิน (Lecithin) กรดสเตียริก (Stearic Acid) น้ำมันจากแร่ธาตุ (Mineral Oil) และซิลิโคน เป็นต้น ส่วนครีมบำรุงผิวที่อ้างว่าไม่มีส่วนผสมของน้ำมันหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมันจากแร่ธาตุและน้ำมันจากพืช แต่อาจใช้ซิลิโคนเป็นสารป้องกันการระเหยของน้ำแทน
- สารดูดความชุ่มชื้น มีคุณสมบัติดูดความชุ่มชื้นจากอากาศและชั้นหนังแท้มาไว้ที่ชั้นหนังกำพร้า เช่น กลีเซอรีน (Glycerin) น้ำผึ้ง วิตามินบี 5 ซอร์บิทอล (Sorbitol) และยูเรีย (Urea) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวอาจส่งผลให้ผิวแห้งมากขึ้นหากหนังกำพร้าไม่สามารถกักเก็บน้ำที่ดูดซึมมาได้ จึงจำเป็นต้องมีสารป้องกันการระเหยของน้ำช่วยโอบอุ้มน้ำไว้ที่หนังกำพร้าด้วย
- สารเคลือบร่องผิวหนังชั้นบน เป็นสารที่ช่วยให้ผิวเรียบลื่น ซึ่งซิลิโคนและสารดูดความชุ่มชื้นบางชนิดในครีมบำรุงก็อาจมีคุณสมบัติช่วยเคลือบร่องผิวหนังชั้นบนได้เช่นกัน
- วิตามิน กรดเรทิโนอิก (Retinoic Acid) เป็นวิตามินเอชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติช่วยลดเลือนริ้วรอยโดยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจน แต่ผู้ประกอบการบางรายอาจใช้วิตามินเอในรูปของเรทินิลปาล์มมิเทต (Retinyl Palmitate) ซึ่งไม่มีคุณสมบัติลดเลือนริ้วรอยแต่ทำหน้าที่คล้ายสารดูดความชุ่มชื้น และครีมบำรุงบางยี่ห้ออาจมีวิตามินซีหรือวิตามินอีเป็นส่วนประกอบ เพราะเชื่อว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่อาจส่งผลดีต่อผิว อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมภายนอกก็อาจทำให้ประสิทธิภาพในการบำรุงผิวของวิตามินทั้ง 2 ชนิดนี้ลดลงไปได้เช่นกัน
- เมนทอล สารชนิดนี้มักเป็นส่วนประกอบในครีมบำรุงที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการคัน เพราะให้ความรู้สึกเย็นหลังทาซึ่งอาจช่วยลดอาการคันได้
การเลือกใช้ครีมบำรุงให้เหมาะกับสภาพผิว
ผิวทั่วไป หากผิวไม่มันและไม่แห้งจนเกินไป ควรเลือกใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำและซิลิโคนชนิดเบา เช่น ไซโคลเมทิโคน (Cyclomethicone) เพราะมีเนื้อบางเบาและไม่เหนียวเหนอะหนะ
ผิวมัน หลายคนมองว่าผิวมันไม่จำเป็นต้องใช้ครีมบำรุง แต่ผู้ที่มีผิวมันควรใช้ครีมบำรุงเพื่อปกป้องผิวหลังล้างหน้าหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น โดยเลือกครีมเนื้อโลชั่นที่ระบุไว้ว่าไม่อุดตันรูขุมขน เพื่อลดโอกาสการเกิดสิว
ผิวแห้ง เหมาะกับครีมบำรุงที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำมัน และควรใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวที่ทำมาจากปิโตรเลียมบนผิวหนังบริเวณที่แห้งและหยาบกร้านมาก เพราะมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ที่ผิวได้นาน
ผิวแพ้ง่าย เป็นผิวที่ไวต่อสิ่งรบกวนภายนอก โดยเฉพาะสารเคมีและสภาพอากาศ ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคือง มีผื่นแดง ตุ่มนูน รู้สึกคัน หรือแสบผิวได้ง่าย จึงควรเลือกครีมบำรุงผิวที่ใช้ส่วนผสมหลักจากธรรมชาติและอ่อนโยนต่อผิว เช่น คาโมมายล์ ว่านหางจระเข้ เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ครีมที่แต่งสีแต่งกลิ่นหรือมีกรดเป็นส่วนประกอบ
ผิวผู้สูงวัย อายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนังลดลงจนผิวแห้งแตกมากขึ้น จึงควรเลือกครีมบำรุงที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำมันและปิโตรเลียม เพื่อคงความเนียนนุ่มและชุ่มชื้นแก่ผิว และครีมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหรือเอเอชเอเป็นส่วนประกอบ เพื่อชะลอการเกิดริ้วรอย
การใช้ครีมบำรุงอย่างถูกวิธี
นอกจากการเลือกใช้ครีมบำรุงให้เหมาะกับสภาพผิวแล้ว สาว ๆ ควรใช้ครีมบำรุงอย่างถูกวิธี เพื่อประสิทธิภาพในการบำรุงและปกป้องผิวที่ดีที่สุด ดังนี้
- ครีมบำรุงชนิดไม่ต้องล้างออก ให้ทาลงไปบนผิวเบา ๆ ในทิศทางเดียวกับขน เพื่อป้องกันเนื้อครีมอุดตันรูขุมขน และสามารถทาซ้ำได้เมื่อรู้สึกว่าผิวขาดความชุ่มชื้น
- ครีมบำรุงชนิดล้างออก ให้ใช้ครีมประมาณ 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำอุ่น แล้วลูบไล้ให้ทั่วผิว โดยไม่ควรใช้ครีมขณะผิวเปียก จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดและเช็ดเบา ๆ จนแห้ง
- ครีมบำรุงชนิดผสมในอ่างอาบน้ำ ให้ผสมครีมบำรุงกับน้ำอุ่นแล้วลงไปแช่ในอ่างอย่างน้อย 10 นาที จากนั้นจึงซับผิวให้แห้ง โดยควรใช้ครีมตามปริมาณที่ฉลากกำหนดอย่างเคร่งครัด และไม่ควรทาครีมชนิดนี้ลงบนผิวโดยตรง เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของครีมลดลงได้
ผลข้างเคียงของครีมบำรุง
การใช้ครีมบำรุงนั้นค่อนข้างปลอดภัยหากใช้อย่างถูกวิธีและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์เสมอ แต่ในบางครั้งอาจเกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น มีผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง รูขุมขนอุดตันหรือรูขุมขนอักเสบจนอาจก่อให้เกิดสิวตามมาได้ เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวหลังจากใช้ครีมบำรุง ให้หยุดใช้ครีมทันทีและรีบไปพบแพทย์
ข้อควรระวังในการใช้ครีมบำรุง
เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ครีมบำรุง ผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ไม่ควรใช้ครีมบำรุงในปริมาณมากกว่าที่ฉลากกำหนด เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้
- ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของน้ำมันและพาราฟินอาจติดไฟได้ จึงควรเก็บในภาชนะที่บรรจุครีม รวมถึงเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนที่เปื้อนครีมให้ห่างจากแหล่งกำเนิดไฟหรือจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดประกายไฟ
- ใช้ช้อนหรือไม้พายตักครีมออกจากกระปุกแทนการใช้มือ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกจากมือปนเปื้อนในเนื้อครีม