ความดันต่ำ เป็นภาวะความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ มักทำให้มีอาการป่วย เช่น เวียนศีรษะ มองเห็นไม่ชัด คลื่นไส้ สับสน ใจสั่น ผิวซีด ผิวหนังเย็นหรือชื้นผิดปกติ เสียการทรงตัว ร่างกายอ่อนแอ ชีพจรเต้นเร็ว เป็นลม หรืออาจเกิดอาการช็อกได้หากภาวะความดันต่ำมีความรุนแรงมาก
ซึ่งอาการจากภาวะความดันต่ำเหล่านี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและชีวิตของผู้ป่วยได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรสังเกตอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพื่อตรวจรักษาได้ทันท่วงที และหาวิธีดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
ความดันต่ำเป็นอย่างไร ?
การวัดค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงมีค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic Pressure) เป็นแรงดันในขณะที่หัวใจกำลังบีบตัวหรือสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย และค่าความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Pressure) เป็นค่าแรงดันในขณะที่หัวใจกำลังคลายตัว โดยระดับความดันโลหิตปกติจะอยู่ประมาณที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท
ส่วนภาวะความดันโลหิตต่ำ แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะนี้ต่อเมื่อมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีอาการป่วยแสดงออกมา สำหรับผู้ที่มีความดันต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ในทางการแพทย์ยังจัดว่าสุขภาพเป็นปกติดี ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา
ความดันต่ำเกิดจากอะไร ?
ระดับความดันโลหิตจะแตกต่างกันไปตามอิริยาบถของร่างกาย จังหวะการหายใจ สภาพร่างกาย ระดับความเครียด อาหารหรือเครื่องดื่มที่บริโภค และช่วงเวลาในแต่ละวัน ซึ่งโดยปกติความดันโลหิตมักลดต่ำลงในเวลากลางคืนและเพิ่มขึ้นเมื่อตื่นนอน
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ความดันต่ำ ได้แก่ กรรมพันธุ์ อายุที่เพิ่มมากขึ้น การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเบต้า-บล็อกเกอร์ ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ
รวมไปถึงโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่มีผลต่อระดับความดันโลหิต เช่น การตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ การป่วยติดเชื้อรุนแรง อาการแพ้รุนแรง โรคโลหิตจาง โรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน
ความดันต่ำ ป้องกันและดูแลตนเองอย่างไร ?
เมื่อพบว่าตนเองมีอาการของภาวะความดันต่ำ ผู้ป่วยควรหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่กำลังทำอยู่ ให้นั่งพักหรือนอนลง ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มที่มีอิเล็กโทรไลต์เป็นส่วนประกอบ อย่าง ION Drink หากเวียนศีรษะให้นั่งลงแล้วก้มศีรษะไว้ระหว่างหัวเข่า เพื่อช่วยให้ความดันโลหิตกลับเป็นปกติ โดยอาการมักจะดีขึ้นภายในไม่กี่นาที
นอกจากนั้น อาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อป้องกันและดูแลตนเองจากอาการป่วยของภาวะความดันต่ำ
ค่อย ๆ ลุกขึ้นยืน
ควรลุกจากที่นั่งหรือลุกออกจากเตียงช้า ๆ โดยเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า หากกำลังนอนอยู่ผู้ป่วยอาจขยับเท้าขึ้นลงเพื่อช่วยการไหลเวียนโลหิต จากนั้นจึงค่อย ๆ ลุกขึ้นช้า ๆ อาจนั่งที่ขอบเตียงก่อนแล้วจึงค่อยยืนขึ้น
ผู้ป่วยอาจเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเพิ่มจังหวะการเต้นของหัวใจและการไหลเวียนโลหิตของร่างกายได้ เช่น ยืดเหยียดร่างกายบนเตียงก่อนลุกขึ้นยืน หรือหากกำลังนั่งอยู่และจะลุกขึ้นยืน ให้ไขว่ห้างสลับขาไปมาก่อนแล้วค่อยลุกขึ้น
หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน
การยืนเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะความดันต่ำประเภทที่เกิดจากการยืนเป็นเวลานาน (Neurally Mediated Hypotension) หรือความดันต่ำจากการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างสมองและหัวใจ ด้วยเหตุนี้ การหลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานานจึงอาจช่วยป้องกันภาวะดังกล่าวได้
รับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง
การรับประทานอาหารในปริมาณน้อย แต่แบ่งเป็นหลายมื้อแทนการรับประทานอาหารปริมาณมากในครั้งเดียว อาจป้องกันความดันต่ำชนิดที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร (Postprandial Hypotension) โดยการเอนตัวนอนหรือนั่งลงสักพักหลังรับประทานอาหารอาจช่วยบรรเทาอาการลงได้
ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมช่วยเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย และป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำที่เป็นอีกสาเหตุสำคัญของภาวะความดันต่ำ โดยภาวะขาดน้ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด
- การดื่มน้ำน้อย
- การออกกำลังกายหนักหรือนานเกินไป
- การป่วยด้วยโรคติดเชื้อ
- อาการท้องเสีย และอาการคลื่นไส้อาเจียน
อีกทั้งการขาดน้ำยังทำให้ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย และไม่สดชื่น ด้วยเหตุนี้ การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมจึงช่วยเติมน้ำให้กับร่างกาย ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ปกติ และลดความเสี่ยงของภาวะความดันต่ำ นอกจากน้ำเปล่าแล้ว อาจเลือกเครื่องดื่มในกลุ่มที่เรียกว่า ION Drink
ซึ่ง ION Drink เป็นเครื่องดื่มทางเลือกที่มีประจุจากอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) หรือแร่ธาตุที่ละลายในน้ำ อย่างโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำได้ดี
โดยประจุจากอิเล็กโทรไลต์ยังอาจช่วยให้เซลล์กักเก็บน้ำได้ดีขึ้นด้วย จึงอาจป้องกันและบรรเทาอาการขาดน้ำ ทั้งยังทำให้ร่างกายสดชื่น ไม่อ่อนเพลียจากการขาดน้ำได้อีกด้วย
หลีกเลี่ยงคาเฟอีน
คาเฟอีนเป็นสารที่อาจเพิ่มความของภาวะความดันต่ำได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น กาแฟ ชา และช็อกโกแลต เป็นต้น โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
งดหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายหลายด้าน ทั้งยังนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความดันโลหิตต่ำ จึงควรงดหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
สวมถุงน่องที่กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
ถุงน่องชนิดนี้เป็นถุงน่องชนิดที่บีบรัดให้เกิดแรงดันบริเวณเท้า ขา และท้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและเพิ่มระดับความดันโลหิต แต่ถุงน่องชนิดนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย จึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้งานเสมอ
หากดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์มักรักษาตามสาเหตุที่ทำให้ความดันต่ำ เช่น
- ให้ยารักษาความดันโลหิตต่ำ เช่น ยาฟลูโดรคอร์ติโซน ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณเลือดในร่างกาย มักใช้รักษาความดันต่ำที่เกิดจากการยืนหรือการเปลี่ยนท่าทาง และยามิโดดรีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความดันโลหิต ในกรณีที่ผู้ป่วยความดันต่ำเรื้อรังจากการยืนหรือการเปลี่ยนท่าทาง
- รักษาโรคที่เป็นสาเหตุของความดันต่ำ เช่น หากความดันต่ำจากความผิดปกติของฮอร์โมน แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยให้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาต่อมไร้ท่อ ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยยาทดแทนฮอร์โมน ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ หรือใช้ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
- หากแพทย์วินิจฉัยว่าความดันต่ำจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจปรับปริมาณยา หรือให้เปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น ๆ แทน และหากผู้ป่วยกำลังใช้ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ความดันต่ำ ควรตรวจวัดความดันเป็นระยะ หรือไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยา
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเพิ่มระดับความดันโลหิตด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ควบคุมอาหาร โดยรับประทานอาหารน้อยลงกว่าปกติ และแบ่งเป็นหลายมื้อ จำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ควรนั่งพักหลังรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดความดันก่อนมื้ออาหาร
- รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือ เพราะโซเดียมจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เสมอ เนื่องจากอาหารที่มีเกลือมากเกินไปอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางประเภท
- หากอยู่ในสภาพอากาศร้อน หรือป่วยด้วยการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นหวัด หรือไข้หวัด ให้ดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปจากร่างกาย
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
- ระมัดระวังเมื่อต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปท่าอื่น โดยเฉพาะขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือนอน
- หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- ขณะขับถ่าย ไม่ควรเบ่งมากเกินไป
- ควรยกระดับศีรษะในขณะนอน อาจใช้ผ้าหนาหรือของแข็งวางใต้หมอน เพื่อช่วยให้ศีรษะอยู่สูงกว่าปกติ
- ไม่ให้ร่างกายสัมผัสกับน้ำร้อนเป็นเวลานาน เช่น ไม่แช่น้ำร้อนหรือทำสปาเป็นเวลานาน หากรู้สึกเวียนศีรษะให้นั่งลง และอาจเตรียมเก้าอี้แบบกันลื่นไว้ในห้องน้ำด้วย