คะน้า ผักคู่ครัวไทยที่ขึ้นชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีสารอาหารสูง อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ และยังมีโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย โดยคะน้าเป็นผักที่หารับประทานได้ทั่วไป นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู หรืออาจเลือกรับประทานสด ๆ ก็ได้เช่นกัน
คะน้าเป็นแหล่งสารอาหารสำคัญหลายชนิด โดยคะน้าสด 1 ถ้วยที่หนักประมาณ 67 กรัม จะให้คุณค่าทางโภชนาการเป็นพลังงาน 33 แคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 6 กรัม และโปรตีน 3 กรัม ในขณะเดียวกันคะน้าก็มีไขมันน้อยด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวในกลุ่มกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สำคัญต่อร่างกาย คือ กรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก (Alpha Linolenic Acid) ซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย อีกทั้งอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด และบำรุงสมองด้วย
สารอาหารต่าง ๆ ในคะน้า
คะน้าเป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนานาชนิด ซึ่งคะน้าสด 1 ถ้วยจะอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
- วิตามินเค 684 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณวิตามินเคที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน
- วิตามินเอ 206 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณวิตามินเอที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน
- วิตามินซี 134 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน
- แมงกานีส 26 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแมงกานีสที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน
- ทองแดง 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณทองแดงที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน
- วิตามินบี 6 9 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณวิตามินบี 6 ที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน
- แคลเซียม 9 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแคลเซียมที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน
- โพแทสเซียม 9 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณโพแทสเซียมที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน
- แมกนีเซียม 6 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแมกนีเซียมที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวัน
นอกจากนี้ คะน้ายังประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคบางชนิด โดยสารต้านอนุมูลอิสระที่พบปริมาณมากในคะน้า คือ เควอซิทิน (Quercetin) และแคมป์เฟอรอล (Kaempferol) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสารเหล่านี้มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านไวรัสได้
คะน้ามีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้านจริงหรือ ?
คะน้าเป็นผักใบเขียวที่มีสารอาหารสำคัญทางโภชนาการมากมาย จึงมีการกล่าวอ้างคุณสมบัติของคะน้าในการช่วยบำรุงและรักษาปัญหาสุขภาพอย่างแพร่หลายด้วย โดยมีการศึกษาสรรพคุณทางยาของคะน้าในแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้
คะน้ากับการบำรุงสายตา
อายุที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ ทว่าสารอาหารบางประเภทในคะน้าอาจช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคทางสายตาได้ เช่น ลูทีน (Lutein) และซีแซนทิน (Zeaxanthin) เป็นต้น โดยมีงานวิจัยหนึ่งศึกษาแหล่งอาหารของลูทีนและซีแซนทินในด้านประสิทธิผลต่อสุขภาพตา พบว่ามีสารในตระกูลแคโรทีนอยด์อย่างลูทีนและซีแซนทินเป็นปริมาณมากในผักใบเขียวอย่างคะน้า ผักโขม และบร็อคโคลี่ โดยพบอัตราส่วนของสารดังกล่าวในคะน้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับผักใบเขียวชนิดอื่น ซึ่งสารเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณสมบัติของคะน้าในการบำรุงสายตาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป
คะน้ากับการลดระดับคอเลสเตอรอล
ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงเกินไปอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งและโรคหัวใจได้ เนื่องจากคอเลสเตอรอลจะเกาะตัวกันบนผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบจนอาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวกและเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ หลายคนเชื่อว่าคะน้าเป็นผักชนิดหนึ่งที่อาจมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ โดยมีงานวิจัยหนึ่งให้ผู้ป่วยเพศชายที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจำนวน 32 คน ดื่มน้ำคะน้าปริมาณ 150 มิลลิลิตรเป็นประจำทุกวันติดต่อกันนาน 12 สัปดาห์ พบว่าน้ำคะน้าช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีต่อร่างกาย (High-Density Lipoprotein: HDL) ได้ 27 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) ได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์
ส่วนการทดลองอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ผักคะน้านึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการจับกรดน้ำดีในระบบย่อยอาหาร ซึ่งส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง จึงคาดว่าการรับประทานคะน้านึ่งอย่างสม่ำเสมออาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดได้
แม้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสรรพคุณในการลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลของคะน้า แต่งานทดลองเหล่านี้ล้วนเป็นการทดลองขนาดเล็กในหลอดทดลองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าถึงประสิทธิผลในด้านนี้เพิ่มเติม และอาจทดลองประสิทธิภาพในคน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
คะน้ากับการป้องกันมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ภายในเต้านมจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย แม้โรคนี้จะพบได้มากในเพศหญิงแต่ก็สามารถพบได้ในเพศชายเช่นกัน จึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพและตรวจเต้านมเป็นประจำ ซึ่งคะน้าอุดมไปด้วยสารประกอบอย่างอินโคล-3-คาร์ฟินอล (Indole-3-Carbinol) และซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ที่เชื่อว่าอาจมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้ โดยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ซัลโฟราเฟนอันเป็นสารประกอบที่พบในผักตระกูลกะหล่ำปลี เช่น คะน้า บร็อคโคลี่ และกะหล่ำดาว เป็นต้น อาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็งและช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมได้ สอดคล้องกับการศึกษาประสิทธิภาพของผักตระกูลกะหล่ำปลีต่อโรคมะเร็งในหลายงานวิจัยที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าสารประกอบอินโคล-3-คาร์ฟินอล และซัลโฟราเฟนในผักตระกูลกะหล่ำปลีมีอิทธิพลต่อตัวรับเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็งเต้านม จึงอาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้
อย่างไรก็ตาม ยังคงจำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติในด้านนี้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มเติมต่อไป โดยควรค้นคว้าทั้งด้านประสิทธิผลทางการรักษาป้องกันโรคตลอดจนความปลอดภัยในการบริโภคคะน้าในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถนำประโยชน์ของคะน้าไปประยุกต์ใช้ในการต้านมะเร็งในอนาคต
รับประทานคะน้าอย่างไรให้ปลอดภัยและดีด่อสุขภาพ ?
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการบริโภคคะน้าที่ปลอดภัยอย่างแน่ชัด ดังนั้น ควรรับประทานคะน้าในปริมาณที่เหมาะสม และควรล้างให้สะอาดทุกครั้งเพื่อขจัดสารเคมีและสิ่งเจือปนก่อนบริโภค โดยการรับประทานคะน้าเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น ควรรับประทานสด ๆ หรือทำให้สุกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีการวิจัยพบว่าความร้อนจากการประกอบอาหารจะทำให้คุณค่าทางอาหารของคะน้าลดลง โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เช่น โพลีฟีนอล เบต้าแคโรทีน และวิตามินซี เป็นต้น
นอกจากนี้ ประสิทธิผลและความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากคะน้าเพื่อสรรพคุณทางยานั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ และปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เป็นต้น อีกทั้งในปัจจุบันยังขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะสนับสนุนและระบุปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคคะน้า จึงควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ และอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนบริโภคทุกครั้ง