คันช่องคลอดเป็นอาการทั่วไปที่พบได้ขณะตั้งครรภ์ อาการคันช่องคลอดขณะตั้งครรภ์อาจเกิดร่วมกับอาการช่องคลอดบวมแดง แสบ ระคายเคือง ตกขาว และมีกลิ่นคาวปลา โดยอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุของคุณแม่แต่ละคน บางครั้งอาการคันช่องขณะตั้งครรภ์อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่ต้องการการรักษาอย่างเหมาะสม
อาการคันช่องคลอดในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่เพียงส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่ยังทำให้รู้สึกหงุดหงิดจากอาการคันที่กวนใจ ดังนั้น เพื่อรักษาร่างกายและจิตใจของคุณแม่ที่กำลังอุ้มท้องเจ้าตัวน้อยให้แข็งแรง การหาสาเหตุและรับมือกับอาการคันช่องคลอดอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญ
สาเหตุของอาการคันในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์
เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนภายในร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าปกติเพื่อเตรียมร่างกายของคุณแม่ให้พร้อมต่อการให้กำเนิดเจ้าตัวน้อย โดยระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองช่องคลอด หรือปริมาณมูกใสในช่องคลอดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอาการทั่วไปและไม่เป็นอันตราย
แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลให้สภาวะภายในช่องคลอดเปลี่ยนไปหรือเสียสมดุล ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดที่ทำให้เกิดอาการคันและอาการกวนใจอื่น ๆ ได้ โดยการติดเชื้อที่อาจส่งผลให้คุณแม่คันช่องคลอด ได้แก่
การติดเชื้อราในช่องคลอด
การติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อช่องคลอดติดเชื้อรา คุณแม่อาจมีอาการคันช่องคลอด แสบร้อนขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ ช่องคลอดบวมแดง ตกขาวมีสีขาวอมเหลือง ตกขาวเป็นก้อนแป้ง ซึ่งเป็นตกขาวที่มีลักษณะข้นหรือจับตัวเป็นก้อน มักไม่ทำให้เกิดกลิ่น แต่คุณแม่บางคนอาจพบกับปัญหานี้ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นมักไม่รุนแรง
การติดเชื้อราช่องคลอดมักไม่เป็นอันตราย แต่ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันทีที่ทราบ ซึ่งเชื้อราต้นเหตุของการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดพบได้หลายชนิด บางชนิดเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ภายในช่องคลอดอยู่ก่อนและไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อ
แต่เมื่อสภาวะภายในช่องคลอดเปลี่ยนไป เชื้อราเหล่านี้อาจมีจำนวนมากขึ้นจนทำให้ติดเชื้อได้ หรือปัจจัยภายนอก อย่างการดูแลที่ไม่เหมาะสม ความอับชื้น และการสวมกางเกงชั้นในที่ไม่สะอาดก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน
โรคพยาธิในช่องคลอด
โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาได้ชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นจากการที่มีพยาธิเข้าไปฝังตัวบริเวณเยื่อบุช่องคลอด ทำให้มีอาการคันช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบ ระคายเคือง บวมแดง เจ็บช่องคลอดขณะปัสสาวะและมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นและสีเปลี่ยนไป เช่น สีเทา สีเหลือง หรือสีเขียว คุณแม่บางรายอาจมีตกขาวลักษณะเป็นฟองด้วย
โรคพยาธิในช่องคลอดจำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อย่างการคลอดก่อนกำหนดและทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ได้ ซึ่งทั้งสองภาวะนี้อาจส่งผลต่อพัฒนาการและความแข็งแรงของทารกได้ \
ส่วนสาเหตุก็มาจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะรู้แบบใดก็ตาม จึงควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ แม้จะมีกับคนรักของตนเองก็ตาม
การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
สภาวะช่องคลอดที่เปลี่ยนแปลงไม่เพียงเอื้อให้เชื้อราเติบโตเท่านั้น แต่อาจรวมถึงเชื้อแบคทีเรียด้วย โดยพบว่าในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ 10 คน อาจพบคุณแม่ที่มีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดได้ราว 1–3 คน
ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อก็มาจากสภาวะภายในช่องคลอดเปลี่ยนแปลงและเสียสมดุล แบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่จึงเติบโตได้ง่ายและทำให้เกิดการติดเชื้อ แต่ก็อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มาจากภายนอกร่างกายได้เช่นกัน
อาการหลักที่พบมักเป็นกลิ่นคาวปลาที่ค่อนข้างรุนแรง ร่วมกับอาการคันช่องคลอด แสบร้อนขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวอาจเป็นสีเทาและมีปริมาณมากขึ้น หากพบอาการในลักษณะ ควรไปพบแพทย์ เพราะการติดเชื้อดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน อย่างการคลอดก่อนกำหนดและส่งผลให้ทารกน้ำหนักตัวน้อยเช่นเดียวกับโรคพยาธิในช่องคลอด
แม้การติดเชื้อบริเวณช่องคลอดเหล่านี้มักไม่อันตรายหรือส่งผลร้ายแรงในระยะแรก แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาการอาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ ดังนั้น หากพบความผิดปกติเหล่านี้หรือรู้สึกกังวล ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม อาการคันช่องคลอด อวัยวะเพศ และผิวหนังบริเวณใกล้เคียงอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น
- การระคายเคืองจากน้ำยาซักผ้าหรือผงซักฟอกที่ใช้ทำความสะอาดกางเกงชั้นใน
- โรคผิวหนัง
- การติดเชื้อชนิดอื่น อย่างภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี (Group B Streptococcus: GBS)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น
แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดหรือไม่ทราบสาเหตุ คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อย
เมื่อมีอาการคันช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ ควรทำอย่างไร
หากมีอาการคันช่องคลอดร่วมกับพบอาการผิดปกติอื่น ๆ คุณแม่ควรไปพบแพทย์และแจ้งให้แพทย์ถึงอาการที่พบ ในเบื้องต้น แพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจหาความผิดปกติบริเวณช่องคลอด หากสงสัยว่าเกิดการติดเชื้อ แพทย์จะเก็บตัวอย่างมูกหรือตกขาวในช่องคลอดเพื่อไปเพาะหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ
เมื่อสามารถระบุเชื้อที่เป็นสาเหตุของอาการคันในช่องคลอด แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยกำจัดเชื้อ ซึ่งเชื้อแต่ละชนิดใช้ยารักษาที่ต่างกัน เช่น ยาฆ่าเชื้อราสำหรับการติดเชื้อราในช่องคลอด และยาปฏิชีวนะสำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
คุณแม่ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ใช้ยาจนหมดตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นหรือไม่มีอาการแล้วก็ตาม เพราะการหยุดใช้ยากลางคันอาจทำให้เชื้อดื้อยาจนการติดเชื้อรุนแรงขึ้นได้ และไม่ควรซื้อยามาใช้เองโดยเด็ดขาดเพราะอาจเป็นอันตรายได้
ในระหว่างการรักษาหรือแม้แต่ในช่วงที่อาการดีขึ้นแล้ว ควรงดมีเพศสัมพันธ์เพราะอาจส่งต่อเชื้อไปยังคู่นอนได้ ภายหลังการรักษาเสร็จสิ้นก็ยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง รวมถึงคุณแม่ควรดูแลตนเองควบคู่ไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงหรือป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้คันช่องคลอด เช่น
- รักษาความสะอาดของร่างกายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะบริเวณจุดซ่อนเร้น
- งดเกา ถู หรือทำให้เกิดการเสียดสี เพราะอาจทำให้อาการคันช่องคลอดและติดเชื้อรุนแรงขึ้น
- งดการฉีดน้ำเพื่อสวนล้างภายในช่องคลอดเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อได้
- งดการใช้น้ำหอม สเปรย์ดับกลิ่น และสบู่ที่มีกลิ่นหอม ฉีดหรือฟอกบริเวณช่องคลอด อวัยวะเพศ และบริเวณใกล้เคียงเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง อาการคัน และเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
- เลือกสวมกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายธรรมชาติ หรือผ้าที่เนื้อนุ่มไม่ระคายผิว ระบายอากาศได้ดีไม่อับชื้น
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและปัสสาวะเมื่อปวดเพื่อช่วยลดจำนวนของเชื้อโรค
- รับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) หรือแบคทีเรียมีประโยชน์ อย่างโยเกิร์ตและกิมจิ เพราะโพรไบโอติกส์อาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อบางชนิดได้
- ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทั้งการรับประทานอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จำกัดปริมาณน้ำตาลในแต่ละวัน ผ่อนคลายความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
หากคุณแม่เกิดการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดและแพทย์สั่งจ่ายยา คุณแม่ควรใช้ยาตามที่สั่งและดูแลตนเองด้วยวิธีข้างต้นเพื่อฟื้นฟูสมดุลภายในช่องคลอด ภายหลังการใช้ยา หากอาการคันช่องคลอด อาการอื่น ๆ ไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงขึ้น คุณแม่ควรไปพบแพทย์อีกครั้ง รวมถึงหากพบสัญญาณการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น อย่างเป็นไข้ หนาวสั่น และปวดตามร่างกาย ควรไปพบแพทย์