คันฝ่ามือ สาเหตุและวิธีรักษาอาการอย่างตรงจุด

คันฝ่ามือเป็นอาการคันที่บริเวณฝ่ามือ โดยผิวฝ่ามืออาจมีอาการแห้งลอก ผิวแตก เป็นขุย แสบผิว บางครั้งอาจมีผื่นแดง ตุ่มบวมหรือตุ่มน้ำพอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งมักจะทำให้รู้สึกรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

คันฝ่ามือเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยคืออาการมือแห้งและระคายเคืองจากการล้างมือบ่อย หรือการสัมผัสสารเคมี แต่บางครั้งอาการอาจเกิดจากการแพ้ โรคติดเชื้อ หรือโรคผิวหนังเรื้อรังที่ควรได้รับการรักษา การทราบสาเหตุของอาการคันฝ่ามือจะทำให้รักษาได้อย่างตรงจุด

Itchy Palm

สาเหตุของอาการคันฝ่ามือ

คันฝ่ามืออาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

1. การล้างมือที่ไม่เหมาะสม

คนที่คันฝ่ามืออาจเกิดจากการล้างมือบ่อย การขัดถูมือแรง ๆ การล้างมือด้วยน้ำที่ร้อนเกินไป และการใช้สบู่ล้างมือที่มีสารเคมีที่รุนแรงต่อผิว เช่น สาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) ที่ทำให้มือสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ผิวบริเวณฝ่ามือจึงแห้งแตก คัน และลอกเป็นขุย

2. การสัมผัสสารเคมี

การสัมผัสสารที่ทำให้ผิวระคายเคือง เช่น สารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ ยาฆ่าแมลง และน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ น้ำมันเครื่อง และน้ำกรดในแบตเตอรี่รถยนต์ ซึ่งทำให้ผิวแห้งแตกลอก คันฝ่ามือ รู้สึกแสบร้อน และเกิดแผลพุพองได้

3. การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้

สารก่อภูมิแพ้คือสารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ในร่างกาย โดยเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ถุงมือยาง น้ำหอมและสารกันเสียในครีมทามือและสบู่ และสีย้อมผม จะทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ผิวแห้งแตก คันฝ่ามือ รวมถึงเกิดอาการที่บริเวณอื่นของร่างกายด้วย เช่น ใบหน้าและตาบวม เกิดเป็นผื่นหรือตุ่มน้ำตามตัว 

4. กลาก

กลากคือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราบนผิวหนัง พบได้หลายบริเวณทั่วร่างกาย เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ ขาหนีบ และฝ่ามือ กลากที่มือมักทำให้ผิวแห้งเป็นบริเวณกว้างทั่วฝ่ามือ เกิดรอยแตกลึก คันฝ่ามือ ผิวหนาตัวขึ้น และอาจเกิดอาการลามไปที่หลังมือและเล็บด้วย

5. สะเก็ดเงิน (Psoriasis)

สะเก็ดเงินกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์ผิวหนังเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติ สะเก็ดเงินเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด พบได้หลายบริเวณ กรณีที่เกิดอาการบริเวณมือ นิ้ว และเล็บมือ ผู้ป่วยอาจมีอาการผิวแห้งลอก ผิวหนังหนาตัวขึ้นเป็นปื้นแดงและมีสะเก็ดสีขาว สีผิวเปลี่ยนไป คันฝ่ามือ และบางครั้งอาจมีตุ่มหนองด้วย 

6. ซิฟิลิส (Syphilis)

ซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุหลักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ หรือติดเชื้อผ่านทางแผลเปิดบนร่างกาย อาการของซิฟิลิสแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก จะเกิดแผลเปิด ที่เรียกว่าแผลริมแข็ง(Chancre) บริเวณที่ได้รับเชื้อ เช่น อวัยวะเพศ และในช่องปาก โดยมักไม่รู้สึกเจ็บและแผลมักหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจึงมักไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อซิฟิลิส

เมื่ออาการเข้าสู่ระยะที่ 2 จะเกิดผื่นนูนแดงขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ หรือทั่วร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันฝ่ามือได้ รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ผมร่วง จากนั้นอาการจะหายไป แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาการอาจเข้าสู่ระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ ระบบประสาท และอวัยวะส่วนอื่นซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

7. ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic Eczema)

ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำจัดอยู่ในกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบที่มักเกิดอาการบริเวณมือและเท้า อาการที่พบ เช่น คันฝ่ามืออย่างรุนแรง เจ็บ แสบร้อน มีตุ่มใสขึ้นที่ฝ่ามือและซอกนิ้ว หากแกะเกาผิวหนังอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ 

สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในผู้มีผิวแพ้ง่าย มีเหงื่อออกง่าย มีโรคผิวหนังอักเสบหรือติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และไปสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น สบู่ แชมพู และเครื่องประดับที่ทำจากโลหะ

7. โรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง พบบ่อยในเด็ก อาการระยะแรกจะคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ต่ำ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ต่อมาจะเกิดผื่นหรือแผลที่มือ ในช่องปาก และเท้า ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บแผลในปาก และคันฝ่ามือฝ่าเท้า อาการของโรคมักไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 1–2 สัปดาห์

8. โรคเรื้อรังต่าง ๆ

โรคเรื้อรังอื่น ๆ อาจเป็นสาเหตุของอาการคันฝ่ามือได้ เช่น โรคตับ โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) งูสวัด (Shingles) โรคหลอดเลือดสมอง และรูมาตอยด์

วิธีดูแลรักษาอาการคันฝ่ามือ

การดูแลอาการคันฝ่ามือในเบื้องต้นจะช่วยบรรเทาอาการคัน ผิวแห้งลอก และช่วยให้อาการทุเลาลงได้ เช่น

  • งดใช้สบู่และครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารเคมี เช่น น้ำหอม สารกันเสียที่ทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองผิว และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้เพื่อป้องกันอาการคันฝ่ามือ
  • ไม่ควรล้างมือบ่อยจนเกินไป หรือล้างมือด้วยน้ำร้อน เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้งและคันฝ่ามือ และควรทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นที่มือหลังล้างมือ หรือเมื่อรู้สึกว่าผิวแห้ง
  • สวมถุงมือเมื่อสัมผัสสารเคมี เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาทำความสะอาด และยาฆ่าแมลง
  • ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะและเกาผิวที่เป็นตุ่มหรือเป็นผื่น เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นและเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • ผ่อนคลายความเครียด เช่น เล่นโยคะ ทำกิจกรรมที่ชอบ รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมาก ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผิวไม่แห้ง และลดอาการคันฝ่ามือได้
  • ใช้ยาบรรเทาอาการคันฝ่ามือ ซึ่งอาจเป็นโลชั่น ครีม หรือขี้ผึ้งทาผิวที่ช่วยลดการอักเสบ บรรเทาอาการคัน หรือฆ่าเชื้อรา รวมถึงยาแก้แพ้สำหรับผู้มีอาการคันฝ่ามือจากโรคภูมิแพ้

ผู้ที่มีโรคผิวหนังบางประเภท เช่น สะเก็ดเงิน ผื่นผิวหนังอักเสบ และโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาที่แพทย์สั่งจ่าย ซึ่งจะช่วยให้อาการคันฝ่ามือทุเลาลงหรือหายดี หากมีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุของอาการคันฝ่ามือ เช่น เบาหวาน ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการของโรคและป้องกันภาวะแทรกซ้อน

หากอาการคันฝ่ามือยังไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเองที่บ้านและใช้ยาที่หาซื้อได้เอง มีอาการคันและเจ็บปวดอย่างรุนแรงจนรบกวนการนอนหลับและการใช้ชีวิตประจำวัน ผื่นขึ้นลามเป็นบริเวณกว้าง หรือมีอาการคันฝ่ามือในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา