การเลือกใช้คาร์ซีท หรือเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กและทารก เพราะคาร์ซีทช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตและการบาดเจ็บร้ายแรงอื่น ๆ จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ปกครองบางคนอาจเชื่อว่าลูกน้อยจะปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมแขนของตนเอง และคาร์ซีทอาจทำให้ตนต้องนั่งไกลจากลูก หรือดูแลลูกได้ยากขึ้น แต่ในความเป็นจริง อ้อมแขนของผู้ใหญ่ไม่แข็งแรงพอที่จะปกป้องเด็กในยามเกิดอุบัติเหตุ เด็กอาจได้รับบาดเจ็บ พุ่งออกนอกรถ หรือเสียชีวิตได้ หากเด็กไม่ได้อยู่ในระบบยึดเหนี่ยวภายในรถอย่างเหมาะสม
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้จัดอันดับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินในเด็ก 10 อันดับ ในปี 2559 โดยเผยว่า มีเด็กอายุ 1-15 ปี เจ็บป่วยฉุกเฉินเกี่ยวกับกุมารเวชกรรมสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 56,101 คน รองลงมาเป็นอุบัติเหตุยานยนต์ ซึ่งมียอดเด็กเสียชีวิตรวม 36,203 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย แม้ประเทศไทยมีพ.ร.บ.จราจรด้านความปลอดภัยบังคับให้คนขับและคนนั่งคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่เสมอ แต่เด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปีจะไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถได้ เนื่องจากเด็กมีขนาดตัวเล็ก และหากประสบอุบัติเหตุ อาจเป็นอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กยังอ่อนแอ บอบบาง ผู้ปกครองจึงควรให้เด็กนั่งเบาะหลัง หรือให้เด็กใช้คาร์ซีท และตรวจเช็คเข็มขัดนิรภัยของเด็กให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางทุกครั้งเสมอ เพื่อช่วยลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น
คาร์ซีทมีกี่ประเภท ?
ประเภทของคาร์ซีทจะจำแนกตามอายุ ส่วนสูง และขนาดตัวของเด็ก ดังนี้
- คาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าหาเบาะ มักมีด้ามจับอยู่ด้านบน สามารถถอดออกจากฐานที่ยึดกับเบาะรถได้ และต้องติดตั้งโดยหันหน้าเข้าหาเบาะหลังเท่านั้น เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดถึง 2 ปี หรือเด็กที่มีน้ำหนักและส่วนสูงตามที่ระบุไว้ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรศึกษาคู่มือการใช้อย่างละเอียด เพราะคาร์ซีทแต่ละยี่ห้อและแต่ละรุ่นอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน
- คาร์ซีทแบบหันไปข้างหน้ารถ ติดตั้งโดยยึดติดกับเบาะหลัง และหันไปข้างหน้ารถเหมือนเบาะรถปกติ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี หรือเด็กที่มีน้ำหนักและส่วนสูงตามที่ระบุไว้ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรศึกษาคู่มือการใช้อย่างละเอียด เพราะคาร์ซีทแต่ละยี่ห้อและแต่ละรุ่นอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน
- คาร์ซีทแบบที่นั่งเสริม ติดตั้งโดยยึดกับเบาะหลัง และหันไปข้างหน้ารถเหมือนเบาะรถปกติ ใช้สำหรับเด็กที่โตเกินกว่าจะนั่งคาร์ซีทแบบหันไปข้างหน้ารถได้ เหมาะกับเด็กอายุ 5 ปี ขึ้นไป และสามารถใช้งานได้จนกว่าเด็กจะโตพอคาดเข็มขัดนิรภัยได้พอดีตัว
หากเด็กโตขึ้นจนสามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้ถูกต้องพอดีตัว โดยสามารถคาดเข็มขัดผ่านต้นขาด้านบนและผ่านหน้าอกได้ ไม่ใช่ผ่านบริเวณท้องและคอ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คาร์ซีทอีกต่อไป
วิธีการเลือกซื้อคาร์ซีท
นอกจากการเลือกซื้อคาร์ซีทตามประเภทที่เหมาะสมกับอายุและขนาดตัวของเด็กแล้ว ผู้ปกครองอาจต้องคำนึงถึงอุปกรณ์และองค์ประกอบอื่น ๆ ของคาร์ซีทด้วย เช่น
- เข็มขัดนิรภัย เข็มขัดนิรภัยของคาร์ซีทควรผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และควรเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุด เพราะจะปลอดภัยกว่าแบบ 3 จุด
- มาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐใด ๆ ที่รับรองมาตรฐานของคาร์ซีทซึ่งถูกผลิตและนำเข้ามาในประเทศไทยโดยเฉพาะ ดังนั้น ผู้ใช้ควรเลือกคาร์ซีทที่ผ่านมาตรฐานจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น Federal Motor Vehicle Safety Standard 213 ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
- ความใหม่ของผลิตภัณฑ์ การซื้อคาร์ซีทมือหนึ่งซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ย่อมดีกว่า เพราะเพิ่งถูกผลิตและยังไม่ผ่านการใช้งาน เสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายน้อยกว่า แต่หากจำเป็นต้องซื้อสินค้ามือสอง ควรสังเกตว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีชิ้นส่วนใดขาดหายไป ไม่มีรอยแตก หรือรอยร้าว และไม่เคยผ่านอุบัติเหตุทางรถยนต์มาก่อน เพราะอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบนิรภัยได้
- ราคา อย่าตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากราคาเพียงอย่างเดียว เพราะคาร์ซีทที่มีราคาสูง ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าจะใช้งานได้ดีกว่า หรือปลอดภัยกว่าเสมอไป
คาร์ซีทติดตั้งอย่างไร ?
ถึงแม้คาร์ซีทจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อเสริมความปลอดภัยของเด็กระหว่างการเดินทางโดยรถยนต์ แต่หากติดตั้งผิดวิธี คาร์ซีทอาจทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น และอาจทำให้เกิดอันตรายแก่เด็กได้
คำแนะนำในการติดตั้งคาร์ซีทให้ถูกต้อง มีดังนี้
- อ่านคำแนะนำและศึกษาวิธีในการติดตั้ง การใช้เข็มขัดนิรภัยคาร์ซีท และชนิดรถยนต์ที่จะใช้ติดตั้ง ทั้งนี้ วิธีการติดตั้งอาจแตกต่างกันไปตามยี่ห้อของรถยนต์และประเภทของคาร์ซีท
- ติดตั้งคาร์ซีทไว้ที่เบาะหลังเท่านั้น เพราะเบาะหลังปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กที่ส่วนสูงไม่เกิน 145 เซนติเมตร
- ทำตามคำแนะนำของคาร์ซีทที่ระบุไว้ โดยสอดเข็มขัดนิรภัยผ่านช่องเข็มขัดของคาร์ซีท ปรับและล็อกเข็มขัดให้แน่น
- กดคาร์ซีทลงบนเบาะเพื่อปรับให้แน่นมากขึ้น โดยคาร์ซีทไม่ควรเคลื่อนไปทางซ้าย ขวา หน้า หรือหลัง มากเกินกว่า 1 นิ้ว จากที่ติดตั้งไว้ในตอนแรก
- ตรวจเช็คคาร์ซีทตามข้อแนะนำการใช้งานซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าติดตั้งได้อย่างถูกต้องแล้ว
ข้อควรระวังในการใช้คาร์ซีท
เพื่อความปลอดภัยในการใช้คาร์ซีท ผู้ปกครองควรทราบข้อควรระวังดังต่อไปนี้
- ในกรณีที่เข็มขัดนิรภัยของคาร์ซีทมีขนาดใหญ่เกินไป ควรปรับเข็มขัดนิรภัยให้พอดีกับตัวเด็ก แต่หากยังไม่แน่นพอ ผู้ปกครองอาจนำผ้าขนหนูมาม้วนและหนุนไว้ข้าง ๆ ตัวเด็กทั้ง 2 ข้าง หรืออาจเลือกซื้อหมอนหนุนโดยเฉพาะมาใช้
- ไม่ควรวางสิ่งของอื่น ๆ ไว้ใต้ตัวเด็กขณะนั่งบนคาร์ซีท เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น อาจทำให้เข็มขัดนิรภัยทำงานได้ไม่เต็มที่
- หากเด็กเปิดล็อกเข็มขัดนิรภัยของคาร์ซีทเอง ผู้ปกครองควรรีบนำรถจอดเข้าที่ปลอดภัยข้างทาง แล้วตรวจสอบความปลอดภัยของคาร์ซีทและเด็กให้เรียบร้อยก่อนขับรถออกไป แต่หากเด็กยังพยายามเปิดล็อกอยู่เรื่อย ๆ ผู้ปกครองอาจต้องพิจารณาเปลี่ยนตัวล็อกเข็มขัดนิรภัยอันใหม่
- ตรวจสอบความเรียบร้อยของเด็กก่อนออกเดินทางทุกครั้ง ว่าเด็กคาดเข็มขัดนิรภัยของคาร์ซีทเรียบร้อยแล้ว
- ไม่ควรปล่อยให้เด็กนั่งคาร์ซีทตามลำพัง เนื่องจากเด็กอาจทำให้เข็มขัดนิรภัยรัดคอโดยไม่รู้ตัว และอาจขาดอากาศหายใจได้
อันตรายจากคาร์ซีท
ผู้ปกครองควรระมัดระวังในการใช้คาร์ซีทเป็นพิเศษ เพราะเด็กและทารกอาจได้รับอันตรายจากหลายสาเหตุ เช่น
- ติดตั้งคาร์ซีทผิดวิธี ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้งานอย่างถูกต้อง
- ใช้คาร์ซีทที่เก่าเกินไปหรือคาร์ซีทมือสองที่สภาพไม่ดี เพราะชิ้นส่วนสำคัญของคาร์ซีทอาจหายไป อาจเคยผ่านอุบัติเหตุมาก่อน วัสดุของผลิตภัณฑ์อาจเสื่อมสภาพ หรืออาจเป็นสินค้าที่เคยถูกเรียกคืน
- ให้เด็กเปลี่ยนไปใช้คาร์ซีทชนิดอื่น หรือเลิกใช้คาร์ซีทเร็วเกินไป ผู้ปกครองควรศึกษาประเภทของคาร์ซีท เพื่อเลือกให้เหมาะสมกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็กเสมอ
- ไม่ใช้ตัวล็อกสายเข็มขัดนิรภัยของคาร์ซีท หรือใช้แบบผิดวิธี
ส่วนอันตรายทางรถยนต์ที่อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่
- ไม่ใช้คาร์ซีท อาจเกิดขึ้นเมื่อต้องเปลี่ยนไปใช้รถอีกคัน แต่ไม่ได้ย้ายคาร์ซีทมาติดตั้งใหม่ หรือผู้ปกครองเลือกอุ้มเด็กไว้ในอ้อมแขน ซึ่งเด็กอาจกระเด็นออกจากอ้อมแขนได้หากเกิดอุบัติเหตุรุนแรง หรือหากผู้ปกครองคาดเข็มขัดนิภัยผ่านตัวเด็กด้วย น้ำหนักตัวของผู้ปกครองอาจกดเน้นไปที่เด็กจนทำให้เด็กเสียชีวิตได้
- ให้เด็ก 2 คนใช้เข็มขัดนิรภัยอันเดียวกัน เป็นสิ่งที่ห้ามทำโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น หัวเด็กอาจกระแทกกันจนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
- ให้เด็กนั่งเบาะหน้า แม้ใช้คาร์ซีทหรือไม่ใช้คาร์ซีท การดีดตัวของถุงลมนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุอาจช่วยลดการบาดเจ็บของผู้ใหญ่ได้ แต่สำหรับเด็ก แรงดีดอาจรุนแรงเกินไป จนอาจทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและลำคอ ดังนั้น เด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ควรนั่งเบาะหลังทุกครั้งที่เดินทาง เช่นเดียวกับตำแหน่งการติดตั้งคาร์ซีท เนื่องจากเป็นบริเวณที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อเกิดอุบัติขึ้น