ตื่นเช้าแล้วสมองตื้อ ง่วง เบลอ รู้สึกไม่สดชื่น รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ทางเลือกหนึ่งที่อาจบรรเทาอาการเหล่านี้ได้คือตัวช่วยบำรุงสมองตอนเช้าอย่างคาร์โนซีน (Carnosine) โดยในบทความนี้พบแพทย์จะชวนคุณมาทำความรู้จักกับสารอาหารที่มีประโยชน์นี้กัน
คาร์โนซีนเป็นไดเปปไทด์ ขนาดเล็ก และดูดซึมง่าย ซึ่งเป็นสารอาหารประเภทโปรตีนและมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้ตื่นตัว เสริมความจำ บำรุงสมองและร่างกายให้พร้อมสำหรับการทำกิจกรรมตลอดวัน¹ นอกจากนี้ คาร์โนซีนยังอาจมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่น ๆ เช่น ลดความเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย² ป้องกันและชะลอความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง เสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อ รักษาสมดุลกรด-เบสในร่างกาย¹
คาร์โนซีนจึงเป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่ผู้ที่ต้องตื่นแต่เช้าอาจเลือกรับประทาน เพราะอาจช่วยลดอาการสมองล้า หัวตื้อ ไม่มีสมาธิ รวมถึงความรู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลีย หรือง่วงนอนจากการที่สมองยังตื่นตัวได้ไม่เต็มที่³ โดยคาร์โนซีนสามารถพบได้ในอาหารต่าง ๆ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว⁴ หรืออาจรับประทานจากเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอย่าง ซุปไก่สกัด ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่สามารถดูดซึมได้ง่ายและช่วยเพิ่มคาร์โนซีนให้แก่ร่างกาย⁵ได้เช่นกัน
สำหรับปริมาณการรับประทานคาร์โนซีน คนทั่วไปสามารถรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์เพื่อรับคาร์โนซีนได้อย่างปลอดภัยแม้รับประทานในปริมาณมาก⁶ ในกรณีที่เลือกรับประทานคาร์โนซีนในรูปแบบอื่น เช่น ซุปไก่สกัดที่มีคาร์โนซีน ปกติแล้วคนทั่วไปก็สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน⁶ แต่ควรอ่านฉลากก่อนเพื่อตรวจสอบปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทาน
นอกจากคาร์โนซีน ในผลิตภัณฑ์ซุปไก่ยังอาจมีสารอาหารอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เช่น แอนเซอรีน กรดอะมิโนต่าง ๆ โดยทั้งคาร์โนซีนและสารอาหารเหล่านี้ในซุปไก่สกัดจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้ประสิทธิภาพความจำดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดความเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียอีกด้วย⁵
โดยอาจเลือกดื่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มซุปไก่สกัดที่มีคาร์โนซีนในตอนเช้าเพื่อช่วยให้สมองตื่นตัว และบำรุงสมองให้พร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ การดื่มซุปไก่สกัดที่มีคาร์โนซีนยังดีต่อสุขภาพ เพราะไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท จึงอาจไม่ทำให้ร่างกายเกิดการเสพติด⁶ หรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ จากการใช้สารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น อาการนอนไม่หลับ⁷
ทั้งนี้ ควรเลือกดื่มซุปไก่สกัดที่ผ่านกรรมวิธีที่สะอาด ปลอดภัยและมีมาตรฐาน ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล สารปรุงแต่งรส วัตถุกันเสีย และไม่เจือสีสังเคราะห์ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ของคาร์โนซีนได้อย่างครบถ้วนและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานคาร์โนซีนเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
นอกจากการรับประทานคาร์โนซีน ยังมีวิธีช่วยให้สมองตื่นตัวในตอนเช้าอื่น ๆ ที่สามารถทำร่วมกันได้ เช่น การดื่มน้ำให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที การรับประทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์³ หรือเลือกดื่มเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและทำให้ตื่นตัว แต่อาจส่งผลให้เกิดภาวะเสพติดคาเฟอีน (Caffeinism) ตามมา⁸
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัปเดทล่าสุด 22 พฤศจิกายน 2567
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD
เอกสารอ้างอิง
¹Jukić, et al. (2021). Carnosine, Small but Mighty-Prospect of Use as Functional Ingredient for Functional Food Formulation. Antioxidants (Basel, Switzerland), 10(7), 1037. https://doi.org/10.3390/antiox10071037
²Cesak, et al. (2023). Carnosine and Beta-Alanine Supplementation in Human Medicine: Narrative Review and Critical Assessment. Nutrients, 15(7), pp. 1770.
³Cleveland Clinic (2024). Brain Fog.
⁴Lubeck, B. Verywell Health (2023). Potential Benefits of Carnosine.
⁵Suttiwan, P., Yuktanandana, P., & Ngamake, S. (2018). Effectiveness of Essence of Chicken on Cognitive Function Improvement: A Randomized Controlled Clinical Trial. Nutrients, 10(7), pp. 845.
⁶Prokopieva, et al. (2016). Use of Carnosine for Oxidative Stress Reduction in Different Pathologies. Oxidative medicine and cellular longevity, 2939087. https://doi.org/10.1155/2016/2939087
⁷Ogeil, R. P., & Phillips, J. G. (2015). Commonly used stimulants: Sleep problems, dependence, and psychological distress. Drug and alcohol dependence, 153, pp. 145–151.
⁸Saraiva, et al. (2023). Overview of Caffeine Effects on Human Health and Emerging Delivery Strategies. Pharmaceuticals, 16, pp. 1067.