การระบาดของโควิด-19 ทั้งภายในและนอกประเทศยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว แต่ผู้ที่ฉีดวัคซีนก็ยังมีโอกาสติดเชื้อหรือแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดการระบาดได้เป็นอย่างดีคือการกักตัว (Quarantine) นั่นเอง
การกักตัวนั้นช่วยลดการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการกักตัวอยู่ภายในที่พักอาศัยจะช่วยให้หลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศ เป็นผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ควรกักตัวเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยในบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจและเตรียมพร้อมสำหรับการกักตัวที่บ้านได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
การกักตัวคืออะไร ?
การกักตัวหรือการกักบริเวณ (Quarantine) เป็นมาตรการที่จะช่วยให้ผู้ที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ห่างจากผู้อื่นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งยังป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยหรือในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการด้วย ซึ่งมาตรการนี้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าการกักตัวจะคล้ายคลึงกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการแยกตัวจากสังคม (Isolation) แต่ทั้งหมดนี้ก็มีความแตกต่างกัน ในการกักตัวนั้นจะเป็นการจำกัดพื้นที่อาศัยของผู้ที่อาจมีเชื้อโควิด-19 โดยในระหว่างการกักตัว บุคคลนั้นจะต้องสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ส่วนการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นการสร้างระยะห่างกับบุคคลทั่วไป และการแยกตัวจากสังคมจะเป็นการแยกผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่น ๆ เพื่อลดและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
กักตัวอย่างไรจึงจะปลอดภัยจากโควิด-19
การเตรียมความพร้อมเมื่อต้องกักตัว 14 วันเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อย ซึ่งนอกจากการงดทำกิจกรรมนอกบ้านแล้ว แนวทางการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมระหว่างการกักตัวจากกระทรวงสาธารณสุขมีดังนี้
- เตรียมข้าวของเครื่องใช้ของตนเอง
ผู้ที่กักตัวจะต้องแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์รับประทานอาหาร แก้วน้ำ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อและใช้สังเกตอาการของตนเอง เช่น หน้ากากอนามัย ปรอทวัดไข้ แอลกอฮอล์เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ สบู่ ถุงขยะ ถังขยะที่มีฝาปิดและน้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น
- จัดเตรียมสถานที่พักอาศัย
หากอยู่ร่วมกับสมาชิกคนอื่นภายในบ้าน ในระหว่างการกักตัวจำเป็นจะต้องแยกการใช้พื้นที่ให้เป็นพื้นที่ของตนเองคนเดียว โดยเฉพาะห้องนอนและห้องน้ำ หากไม่สามารถแยกการใช้ห้องน้ำได้ ควรใช้เป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดทุกครั้งและทำความสะอาดห้องน้ำหลังใช้ทันที ในกรณีที่ไม่สามารถแยกพื้นที่ในการนอนได้ควรมีฉากกั้นหรืออุปกรณ์อื่น ๆ อย่างแผ่นพลาสติกใสกั้น และควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น
ผู้ที่กักตัวควรเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น สมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจําตัว หากมีความจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดควรเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1–2 เมตร พร้อมสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และควรแยกรับประทานอาหารโดยอาจตักแบ่งส่วนของตนเองมารับประทานต่างหาก
- รักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
ล้างมือด้วยนํ้าและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์เจลหรือสเปรย์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะหลังการใช้ห้องน้ำหรือสัมผัสจุดเสี่ยง อาทิ ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ นอกจากนี้ ขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่ง อย่างหน้ากากอนามัยหรือกระดาษทิชชู่ ควรแยกการทิ้งจากขยะชนิดอื่น โดยให้ซ้อนถุงขยะใบใหม่ทับอีกชั้น ราดด้วยนํ้ายาฟอกขาว และมัดปากถุงให้แน่นก่อนนําไปทิ้งนอกบ้าน
- ใส่ใจในการดูแลสุขภาพจิต
การกักตัวอาจทำให้เกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งความเบื่อ กลัว เครียด วิตกกังวล หงุดหงิดหรือฉุนเฉียว ผู้ที่กักตัวควรวางแผนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างกักตัวไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยคลายความกังวลหรือลดอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยอาจจะสร้างกิจวัตรประจำวันใหม่ขึ้น พูดคุยกับผู้อื่นถึงอาการและสภาพจิตใจของตนเอง จำกัดการรับข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง
ในระหว่างการกักตัวควรวัดอุณหภูมิร่างกายทุกวัน โดยต้องมีอุณหภูมิไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส หากมีอาการเข้าข่ายโควิด-19 เกิดขึ้นในระหว่างการกักตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หรือติดต่อสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 หรือกองควบคุมโรค 1422 โดยอาการที่ควรสังเกตระหว่างกักตัว อาทิ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น หายใจลำบาก ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และอ่อนเพลียผิดปกติ
ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ผิว ริมฝีปากหรือฐานเล็บซีดหรือเป็นสีคล้ำ หากใจลำบาก เจ็บหรือแน่นหน้าอกอย่างต่อเนื่อง ตื่นยาก สับสน งุนงง เป็นต้น ผู้ป่วยควรพบแพทย์โดยแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือแจ้ง 1669 เพื่อประสานรับตัว
อย่างไรก็ตาม หากกักตัวครบกำหนดเป็นเวลา 14 วันแล้วและไม่มีอาการของโควิด-19 เกิดขึ้น ผู้ที่กักตัวสามารถกลับใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ โดยควรรักษาระยะห่างทางสังคม รักษาความสะอาดของตนเองอยู่เสมอ และให้ความร่วมมือตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการกักตัวหรือไม่ก็ตาม เราทุกคนควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยโดยให้คลุมทั้งปากและจมูกเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด ล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำสะอาดและสบู่หรือเจลล์แอลกอฮอล์ ไม่สัมผัสใบหน้า ตา จมูกและปาก ทำความสะอาดบริเวณที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคและเว้นระยะห่างทางสังคม ก็จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของการระบาดของโควิด-19 ได้ไม่น้อย
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พฤษภาคม 2564