การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ที่เฝ้ารอจะได้พบกับสมาชิกใหม่ในครอบครัว ซึ่งการตั้งครรภ์ในแต่ละเดือนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อยได้มากมาย คุณแม่มือใหม่จึงอาจรู้สึกกังวลถึงการดูแลสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรงได้
โดยปกติแล้วระยะเวลาที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวันคลอดโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 3 ไตรมาส ไตรมาสละ 12–14 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 เดือน ซึ่งคุณแม่มือใหม่ควรเรียนรู้และเข้าใจพัฒนาการของทารกในครรภ์ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตัวเอง และวิธีการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้สุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยแข็งแรงจนถึงวันคลอด
การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1
การตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย จนถึงสัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์ โดยในไตรมาสแรกนี้คุณแม่ต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกายอย่างรวดเร็ว ดังนี้
พัฒนาการของทารกในครรภ์
ในไตรมาสแรก ทารกในครรภ์จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 8 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ที่เป็นตัวอ่อนจะเริ่มมีพัฒนาการของระบบการทำงาน เช่น หัวใจ สมอง ไขสันหลัง ระบบขับถ่าย และระบบย่อยอาหาร และการเติบโตของอวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น ดวงตา หู ปาก แขน และขาอย่างรวดเร็ว
หลังจากสัปดาห์ที่ 8 ตัวอ่อนจะเติบโตเป็นทารกอย่างเต็มตัวและในช่วงสัปดาห์ที่ 9–12 ของการตั้งครรภ์ ทารกจะเริ่มมีอวัยวะเพศ เล็บมือ เล็บเท้า และเริ่มขยับตัวอยู่ในท้องของคุณแม่ ช่วงปลายของการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ทารกจะมีความยาวเฉลี่ย 7 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 0.03 กิโลกรัม
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่
ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก คุณแม่บางคนอาจไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ แต่อาจสังเกตได้จากสัญญาณบ่งบอกการตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน (Progesterone) สูงขึ้น จึงอาจต้องการการพักผ่อนมากเป็นพิเศษ
- คัดตึงเต้านม หน้าอกบวม และไวต่อความรู้สึกมากกว่าปกติ
- มีอาการแพ้ท้อง ซึ่งพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 เดือนขึ้นไป โดยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะเมื่อได้กลิ่นที่ตนเองไม่ชอบ เช่น กลิ่นอาหาร หรือกลิ่นน้ำหอม เป็นต้น
- เลือดออกปริมาณเล็กน้อยทางช่องคลอด ซึ่งอาจพบได้ในช่วงแรกหลังจากตัวอ่อนปฏิสนธิ
- ท้องผูกจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้ย่อยอาหารได้ช้าลงและเกิดอาการท้องผูกตามมา
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากร่างกายผลิตเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น ไตจึงกรองเลือดและขับของเสียออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น
การดูแลสุขภาพครรภ์
ในช่วงไตรมาสแรกคุณแม่ต้องใส่ใจในการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงของแรกของการสร้างพัฒนาการของลูก ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นจากปกติราว 300 แคลอรี่ โดยให้เน้นการรับประทานอาหารประเภทโปรตีน ผักผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารรสจัด หรืออาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ตามที่แพทย์สั่ง
- ไม่สูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด
- รักษาความสะอาดของช่องปาก
- ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel Exercise) และออกกำลังกายเป็นประจำ โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบหักโหมหรือใช้แรงมาก
นอกจากนี้คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ ในการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพ คำนวณวันกำหนดคลอด ตรวจร่างกาย และตรวจเลือด โดยแพทย์จะแนะนำการดูแลสุขภาพครรภ์ที่เหมาะสม และนัดตรวจครั้งต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปจะนัดทุก 1 เดือน เพื่อชั่งน้ำหนัก ตรวจความดันโลหิต และตรวจสัญญาณชีพจร
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ เวียนศีรษะรุนแรง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอการนัดตรวจครั้งต่อไป เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2
การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 จะอยู่ระหว่างสัปดาห์ที่ 13–28 ของการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ควรเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและวิธีการดูแลสุขภาพในไตรมาสที่ 2 ดังต่อไปนี้
พัฒนาการของทารกในครรภ์
ในไตรมาสที่ 2 อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของทารกจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ทารกจะเริ่มเคลื่อนไหวในท้องบ่อยขึ้น มีการตื่นและนอนหลับเป็นเวลา นอกจากนี้ทารกจะเริ่มได้ยินเสียง ขยับดวงตา ดูดและกลืนอาหารได้
ในไตรมาสนี้ ร่างกายทารกเริ่มสร้างผมชุดแรก (Lanugo Hair) ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นขนบาง ๆ ไม่มีสี ปกคลุมทั่วร่างกาย และสร้างไขมันบนผิวหนัง (Vernix Caseosa) เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิว ทั้งนี้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ทารกจะมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่
ในไตรมาสที่ 2 อาการแพ้ท้องของคุณแม่จะลดลง โดยทั่วไปมักรู้สึกสดชึ่นขึ้น รับประทานอาหารได้ดีขึ้น และอาการเหนื่อยเพลียลดลง แต่มักมีอาการดังต่อไปนี้
- อาจรู้สึกไม่สบายตัว หายใจไม่อิ่ม และมีอาการปวดหลัง ปวดเอว หรือเป็นตะคริวที่บริเวณขา เนื่องจากทารกในท้องเจริญเติบโตขึ้น
- ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลง อย่างเกิดฝ้า หน้าท้องแตกลาย
- เต้านมขยายใหญ่ขึ้น
- ปวดศีรษะ และเวียนศีรษะ
- มีอาการเจ็บครรภ์เตือน (Braxton-Hicks Contractions) หรืออาการเจ็บท้องหลอก ซึ่งเป็นอาการหดรัดตัวของมดลูกที่อาจเกิดขึ้นหลังการออกกำลังกายอย่างหนักหรือการมีเพศสัมพันธ์ โดยอาการเจ็บมักเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ และไม่รุนแรง การนอนพักและจิบน้ำอุ่นจะช่วยให้อาการดีขึ้น
การดูแลสุขภาพครรภ์
การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 คล้ายกับในไตรมาสที่ 1 และคุณแม่ควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจสุขภาพของทั้งแม่และทารกในครรภ์ โดยในไตรมาสที่ 2 แพทย์จะตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก ฟังสัญญาณชีพจรของทารกในครรภ์ ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ เจาะเลือดเพื่อตรวจหาความเสี่ยงของโรคเบาหวาน อัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูเพศ การเจริญเติบโตและความผิดปกติของทารกในครรภ์
และอาจพิจารณาเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมหากพบมีความเสี่ยง
ในระยะนี้คุณแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง หากมีอาการหดตัวของมดลูก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะทุก ๆ 10 นาที ปวดหลังบริเวณเอว มีของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอด หรือมีอาการน้ำเดิน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด
การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3
ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์อยู่ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 28 ไปจนถึงวันที่คุณแม่คลอด ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงเวลาของการนับถอยหลังที่จะได้พบกับสมาชิกใหม่ของครอบครัว คุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพครรภ์เป็นพิเศษ เพื่อให้ตัวเองและลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมามีสุขภาพแข็งแรง
พัฒนาการของทารกในครรภ์
ทารกในครรภ์เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์ ทารกจะสามารถหลับตาและลืมตาได้ และกระดูกในร่างกายจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์ และภายในสัปดาห์ที่ 36 ผมชุดแรกของทารกจะเริ่มหลุดร่วงไป และทารกจะเริ่มกลับหัว โดยหมุนศีรษะมาทางด้านช่องคลอด เพื่อเตรียมความพร้อมในการคลอด
หลังการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 37 ทารกจะเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์และอวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้เต็มที่ โดยทารกในครรภ์จะมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3–4 กิโลกรัม
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ในช่วงใกล้คลอดอาจยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวและรู้สึกเหนื่อยมากเป็นพิเศษ โดยในระยะนี้ทารกจะขยับตัวบ่อยขึ้น คุณแม่อาจมีอาการคล้ายอาการในไตรมาสที่ 2 เช่น เจ็บท้องหลอก ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก นอนไม่หลับ และหายใจไม่อิ่ม นอกจากนี้ อาจมีอาการแสบร้อนบริเวณกลางอก (Heartburn) คัดเต้านมและมีน้ำนมไหลออกมา ใบหน้า นิ้วมือ และข้อเท้าบวม และมีเส้นเลือดขอดบริเวณขา
การดูแลสุขภาพครรภ์
การดูแลสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ตั้งครรภ์คล้ายกับการดูแลสุขภาพในไตรมาสที่ผ่านมา หากมีปัญหาด้านการนอนหลับ ควรใช้หมอนหนุนศีรษะให้สูงขึ้น นอนตะแคงซ้ายและงอเข่าขึ้น โดยใช้หมอนรองระหว่างขาทั้งสองข้าง จะช่วยให้ลดอาการปวดหลังและอาการบวม ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และช่วยลดการเกิดเส้นเลือดขอดได้ด้วย นอกจากนี้ ควรงดการรับประทานอาหารมื้อเย็นก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงเพื่อป้องกันอาการแสบร้อนกลางอกในตอนกลางคืน
การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 แพทย์อาจนัดให้ไปตรวจครรภ์บ่อยขึ้น โดยนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ตั้งแต่การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 32 และนัดตรวจทุกสัปดาห์เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 36 ของการตั้งครรภ์ไปจนกว่าจะคลอด โดยแพทย์จะตรวจสุขภาพครรภ์เช่นเดียวกับในไตรมาสที่ 2 รวมทั้งตรวจหาโรคเบาหวาน ภาวะโลหิตจาง และการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี (Streptococcus Group B) นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี หากได้รับวัคซีนเหล่านี้ยังไม่ครบ
เตรียมพร้อมก่อนกำหนดคลอด
โดยทั่วไป อายุครรภ์ที่ครบกำหนดคลอดที่ทารกมีความสมบูรณ์เต็มที่ คืออายุครรภ์ระหว่าง 37–41 สัปดาห์ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการคลอด ศึกษาเส้นทางการไปโรงพยาบาล เตรียมอุปกรณ์และเอกสารที่จำเป็นสำหรับวันคลอด และเตรียมเบอร์โทรศัพท์ของญาติที่ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉินให้พร้อมก่อนถึงวันกำหนดคลอด ช่วงใกล้คลอดคุณแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง หากมีอาการปวดท้องถี่และแรงขึ้นเป็นจังหวะ มีเลือดออก ลูกดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้น ควรไปพบแพทย์ทันที
แม้ว่าการตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่หลายคนรู้สึกเป็นกังวล แต่หากมีการศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อมก่อนการคลอดจะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงและคลอดลูกน้อยได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ควรสังเกตอาการใกล้คลอดอยู่เสมอ หากมีอาการน้ำเดิน มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บท้องถี่ ๆ และรุนแรง หรือปากมดลูกเปิด ควรไปพบแพทย์เพื่อเตรียมการคลอดทันที