ความหมาย จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (ROP)
ROP (Retinopathy of Prematurity) หรือจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นโรคทางดวงตาที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดที่จอตา และมีพังผืดที่เกิดขึ้นร่วมกับหลอดเลือดเกิดใหม่ โดยโรคนี้พบได้ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงในระยะยาว และอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ อย่างไรก็ตาม หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจช่วยให้ทารกสามารถมองเห็นตามปกติได้
อาการของจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด
เนื่องจากทารกที่เป็นโรค ROP อาจไม่มีอาการหรือสัญญาณบ่งบอกใด ๆ ในช่วงแรกเกิดจนกว่าทารกจะมีอายุ 4-6 สัปดาห์ แพทย์จึงแนะนำให้ทารกที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้เข้ารับการตรวจอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ โดยโรคนี้จะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 5 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 หลอดเลือดบริเวณจอตาเจริญผิดปกติเพียงเล็กน้อย มักมีอาการดีขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ตามปกติโดยไม่ต้องได้รับการรักษา
- ระยะที่ 2 หลอดเลือดบริเวณจอตาเจริญผิดปกติในระดับปานกลาง มักมีอาการดีขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ตามปกติโดยไม่ต้องได้รับการรักษา
- ระยะที่ 3 หลอดเลือดบริเวณจอตาเจริญผิดปกติอย่างรุนแรง หลอดเลือดที่ผิดปกติจะเจริญจากจุดศูนย์กลางของดวงตาไปตามบริเวณของจอตา ซึ่งมีทารกที่มีอาการในระยะนี้บางส่วนที่มีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการรักษา และสามารถมองเห็นได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ทารกบางส่วนอาจพบว่ามีหลอดเลือดบริเวณจอตาของทารกที่ขยายใหญ่ขึ้นและบิด ซึ่งอาจทำให้มีอาการแย่ลงได้ ดังนั้น ทารกจึงต้องเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคจอตาหลุดลอก
- ระยะที่ 4 จอตาของทารกหลุดลอกออกบางส่วน โดยเกิดจากการดึงรั้งของพังผืดและหลอดเลือดที่ผิดปกติทำให้จอตาหลุดลอกออกจากผนังตา
- ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งจอตาจะหลุดลอกออกมาทั้งหมด และอาจส่งผลให้ทารกมีความบกพร่องทางสายตาอย่างรุนแรง หรืออาจตาบอดได้
ทั้งนี้ ทารกส่วนใหญ่ที่มีอาการของ ROP มักมีอาการดีขึ้นในระยะที่ 1 หรือ 2 โดยไม่ต้องได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม มีทารกบางส่วนที่อาการรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างมาก หรือทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ โดยทารกที่มีอาการรุนแรงจะต้องเข้ารับการรักษาภายในเวลาประมาณ 48-72 ชั่วโมง และต้องเข้าพบจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
สาเหตุของจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด
โดยปกติแล้ว หลอดเลือดที่จอตาจะเริ่มสร้างขึ้นเมื่อทารกในครรภ์มีอายุประมาณ 16 สัปดาห์ ซึ่งการเกิดหลอดเลือดจอตานั้นจะเริ่มจากบริเวณใกล้ขั้วประสาทตา แล้วจะกระจายเป็นวงกว้างแบบรัศมีจากจุดศูนย์กลางขยายไปสู่บริเวณขอบจอตาทางด้านจมูกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 36 สัปดาห์ และกระจายจนถึงบริเวณสุดขอบจอตาทางด้านหางตาเมื่อทารกมีอายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์หรือครบกำหนดคลอด ซึ่งในกรณีที่ทารกคลอดก่อนกำหนด หลอดเลือดจอตาของทารกจะยังเจริญไม่สมบูรณ์ ทำให้จอตาในบริเวณขอบรอบนอกหรือบริเวณที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งหลอดเลือดอาจมีลักษณะที่เปราะ ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกได้
ทั้งนี้ ทารกที่อายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 สัปดาห์ และทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1,500 กรัม อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากกว่าทารกทั่วไป ดังนั้น ทารกในกลุ่มนี้จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาจากแพทย์
การวินิจฉัยจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ทารกที่เสี่ยงต่อการเกิด ROP อย่างทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยเข้ารับการตรวจสายตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ โดยจะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคนี้หลังจากคลอดเพียงไม่นาน และจะต้องเข้ารับการตรวจอีกครั้งหลังจากที่ทารกกลับไปพักที่บ้านแล้ว ซึ่งในการวินิจฉัยโรคนี้ แพทย์จะทำการใช้ยาขยายรูม่านตาที่บริเวณดวงตาของทารกเพื่อทำให้ดวงตาของทารกเปิดกว้างขึ้น เพื่อที่แพทย์จะสามารถมองเห็นส่วนต่าง ๆ ของดวงตาได้มากยิ่งขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ
นอกจากนี้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าทารกมีอาการของ ROP แพทย์จะทำการตรวจหาตำแหน่งในดวงตาที่เกิดความผิดปกติ ความรุนแรงของอาการ รวมทั้งลักษณะของหลอดเลือดในดวงตาของทารก อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี แพทย์อาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าทารกมีอาการของ ROP จนกระทั่งทารกมีอายุประมาณ 4-6 สัปดาห์
การรักษาจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด
ในกรณีที่จอตามีความผิดปกติน้อย ทารกอาจมีอาการดีขึ้นจนสายตาเป็นปกติโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม ทารกบางส่วนอาจมีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอตาหลุดลอกได้ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
การผ่าตัด เป็นวิธีที่ช่วยยับยั้งอาการของโรคนี้ไม่ให้รุนแรงขึ้นและช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ โดยสามารถทำได้หลายรูปแบบ ดังนี้
- การผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ เป็นการใช้ลำแสงเลเซอร์ขนาดเล็กเพื่อรักษาบริเวณด้านข้างของจอตา โดยช่วยยับยั้งการเจริญของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาทีต่อดวงตา 1 ข้าง แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็อาจทำให้ทารกสูญเสียการมองเห็นบริเวณด้านข้างบางส่วนหรือทั้งหมดได้
- การผ่าตัดโดยใช้วัสดุหนุนตาขาว เป็นการใช้วัสดุมาหนุนที่บริเวณตาขาวเพื่อช่วยดันให้จอตาที่ฉีกขาดกลับมาติดกับผนังของดวงตา ใช้ในกรณีที่จอประสาทตาลอก
- การผ่าตัดวุ้นตา ในระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะมีการนำวุ้นตาที่อยู่บริเวณส่วนกลางของดวงตาออกและทดแทนด้วยสารละลายน้ำเกลือ ซึ่งเนื้อเยื่อพังผืดที่ดึงรั้งจอตาอยู่ก็จะถูกนำออกไปด้วย
- การผ่าตัดด้วยความเย็น แพทย์อาจใช้ความเย็นเพื่อหยุดการกระจายของหลอดเลือดบริเวณจอตา ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นด้านข้างได้
การฉีดยา แพทย์อาจฉีดยาต้านมะเร็งอย่างบีวาซิซูแมบที่บริเวณดวงตาแต่ละข้าง เพื่อยับยั้งการเจริญของหลอดเลือดที่บริเวณดวงตา ซึ่งจะออกฤทธิ์ในลักษณะเดียวกันกับการยับยั้งการเจริญของหลอดเลือดของเนื้องอก อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาว และยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าอาการของ ROP จะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของวิธีนี้ต่อไป
แม้การรักษาบางวิธีจะส่งผลต่อการมองเห็นด้านข้างของทารก แต่จอตาในบริเวณส่วนกลางยังสามารถใช้ทำหน้าที่สำคัญต่าง ๆ ได้ตามปกติ เช่น การมองตรงไปข้างหน้า การจำแนกสี การอ่านหนังสือ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทารกบางรายอาจสูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดหลังจากเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้ และอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสายตาในอนาคตได้ ดังนั้น ทารกจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาและติดตามอาการกับจักษุแพทย์อย่างใกล้ชิดทุกปีจนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่
ภาวะแทรกซ้อนของจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด
เนื่องจากทารกที่มีอาการของ ROP จะมีหลอดเลือดที่มีการเจริญผิดปกติที่บริเวณจอตาทั้งสองข้าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของทารก ทั้งนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ทารกอาจประสบปัญหาการมองเห็นที่รุนแรงขึ้น เช่น สายตาสั้น ตาเข ต้อหิน ตาขี้เกียจ จอตาหลุดลอก และตาบอด เป็นต้น
การป้องกันจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด
ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงของการเกิด ROP ในทารกได้ โดยป้องกันการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งผู้ที่ตั้งครรภ์ควรมีการเตรียมความพร้อมในระหว่างตั้งครรภ์ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- เข้ารับการฝากครรภ์กับแพทย์ โดยแพทย์จะนัดตรวจครรภ์ตลอดช่วงที่ตั้งครรภ์ไปจนถึงตอนก่อนคลอด อาจช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้
- รับประทานอาหารที่มีสารอาหารและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ เช่น กรดโฟลิค ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม วิตามินดี วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 12 เป็นต้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องขนาดและปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุที่ควรจะได้รับในเงื่อนไขของผู้ที่ตั้งครรภ์
- งดการสูบบุหรี่และงดการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่
- เพิ่มความระมัดระวังการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก และการกระแทก เป็นต้น
- เว้นระยะห่างจากการตั้งครรภ์ครั้งล่าสุดอย่างน้อย 6 เดือน อาจลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยที่เสี่ยงต่อการเกิด ROP ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคนี้ รวมทั้งควรเข้ารับการตรวจจอตาอย่างละเอียดโดยจะต้องเข้ารับการตรวจทุก 1-4 สัปดาห์ จนกว่าหลอดเลือดบริเวณจอตาจะพัฒนาเต็มที่