จุกหลอก เป็น 1 ในอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ต่อเด็กน้อยวัยแรกเกิด แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีข้อเสียได้หากใช้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น พ่อแม่จึงควรเรียนรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของจุกหลอก เพื่อชั่งใจว่าจะเลือกใช้จุกหลอกดีหรือไม่ และควรใช้อย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อลูกน้อย
จุกหลอก คือ อะไร ?
จุกหลอก คือ จุกนมที่ช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย ป้องกันเด็กดูดนิ้ว และช่วยเบี่ยงเบนความสนใจให้เด็กหยุดร้องไห้ โดยจุกหลอกที่วางขายในปัจจุบันมีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย ทั้งตามขนาดที่ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก และตามวัสดุที่ใช้ผลิตทั้งยางและซิลิโคน
ข้อดีและข้อเสียของการใช้จุกหลอก
จุกหลอกเป็นอุปกรณ์ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อทารก ดังนี้
ข้อดี
- ช่วยให้เด็กอารมณ์ดีขึ้น เด็กเล็กส่วนใหญ่จะอารมณ์ดีขึ้นเมื่อได้ดูดอะไรบางอย่าง นอกจากนี้ การใช้จุกหลอกยังช่วยฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ รวมทั้งรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัยขึ้น
- ช่วยให้เด็กนอนหลับได้ดี สำหรับทารกที่มีปัญหาในการนอน การใช้จุกหลอกจะช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายจนหลับได้ง่ายและนานขึ้น โดยไม่รบกวนต่อการนอนหลับในเวลากลางคืน
- ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กชั่วคราว การใช้จุกหลอกเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของทารกได้ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องฉีดยาหรือเจาะเลือด เพราะจะทำให้เด็กผ่อนคลายและรู้สึกปลอดภัย
- ป้องกันการติดนิสัยดูดนิ้ว การดูดจุกหลอกจะช่วยให้เด็กไม่ดูดนิ้ว ซึ่งการติดนิสัยดูดนิ้วนั้นเลิกได้ยากกว่าการดูดจุกหลอก และหากไม่ได้ใช้เด็กก็จะเลิกติดจุกหลอกไปเอง
- ช่วยปรับระดับความดันภายในหูระหว่างขึ้นเครื่องบิน หากพ่อแม่จำเป็นต้องพาเด็กเดินทางด้วยเครื่องบิน การใช้จุกหลอกจะช่วยปรับระดับความดันภายในหูของเด็ก ลดอาการหูอื้อหรืองอแงขณะเครื่องบินกำลังขึ้นได้
- ลดความเสี่ยงต่อโรคไหลตายในทารก มีงานวิจัยพบว่าการให้ทารกดูดจุกหลอกในขณะนอนหลับอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายได้ ทว่ายังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าสามารถช่วยได้จริงหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ข้อเสีย
- สร้างปัญหาในช่องปาก เด็กที่ใช้จุกหลอกติดต่อกันเป็นเวลานานจนกระทั่งมีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป อาจเกิดปัญหาภายในช่องปากได้ เช่น ฟันขึ้นในลักษณะผิดปกติ หรือฟันเรียงตัวผิดปกติ เป็นต้น
- เด็กติดจุกหลอก หากพ่อแม่ใช้จุกหลอกเพื่อช่วยให้เด็กนอนหลับง่ายบ่อย ๆ เด็กอาจติดเป็นนิสัยจนต้องดูดจุกหลอกตลอดเวลาขณะนอนหลับ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กร้องไห้งอแงกลางดึกเมื่อจุกหลอกหลุดออกจากปาก
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่หู การใช้จุกหลอกอาจทำให้เด็กเสี่ยงติดเชื้อบริเวณหูชั้นกลางมากขึ้น เนื่องจากจุกหลอกอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคหากไม่มีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม
- ส่งผลเสียต่อการให้นมแม่ เด็กที่เริ่มใช้จุกหลอกเร็วเกินไปอาจสับสนระหว่างการดูดนมแม่กับการดูดจุกนมหลอกได้ เนื่องจากมีวิธีการดูดที่แตกต่างกัน หากเด็กดูดนมแม่แบบที่ดูดจุกหลอกก็อาจส่งผลกระทบต่อการดูดน้ำนมได้
เด็กควรเริ่มใช้จุกหลอกเมื่อไร ?
หากเด็กยังดูดนมจากอกแม่ ควรรอให้เด็กมีอายุ 3-4 สัปดาห์ก่อน จึงค่อยเริ่มให้ใช้จุกหลอก เพื่่อให้เด็กคุ้นเคยกับการดื่มนมจากอกแม่ แต่หากเด็กจำเป็นต้องดูดนมจากขวดนมตั้งแต่แรกก็สามารถเริ่มใช้จุกหลอกได้ทันที เนื่องจากจุกจากขวดนมและจุกหลอกนั้นมีลักษณะคล้ายกัน
เด็กควรหยุดใช้จุกหลอกเมื่อไร ?
พ่อแม่ควรให้เด็กเล็กเลิกใช้จุกหลอกตั้งแต่อายุ 6 เดือนจนถึง 1 ปี อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่มักเลิกใช้จุกหลอกไปเองในช่วงอายุ 2-4 ปี แต่หากเด็กติดดูดจุกหลอกจนไม่สามารถเลิกเองได้ พ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีช่วยให้เด็กเลิกติดจุกหลอก
เลือกจุกหลอกอย่างไรให้ปลอดภัย ?
นอกจากการควบคุมให้เด็กใช้จุกหลอกในช่วงอายุที่เหมาะสมแล้ว ความปลอดภัยในการใช้จุกหลอกก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรคำนึงถึงเช่นกัน โดยควรเลือกใช้จุกหลอกตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เลือกจุกหลอกที่ปลอดสารบิสฟีนอล-เอ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก
- เลือกขนาดของจุกหลอกให้เหมาะสมกับวัยและขนาดปากของเด็ก
- เลือกใช้จุกหลอกที่มีรูระบายอากาศ เพื่อให้อากาศผ่านได้ และลดการสะสมของเชื้อโรค
- หลีกเลี่ยงการคล้องสายจุกหลอกให้เด็ก เพราะอาจทำให้สายรัดคอเด็กและเป็นอันตรายได้
- ไม่ควรให้เด็กใช้จุกหลอกร่วมกับเด็กคนอื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค และควรหมั่นทำความสะอาดจุกหลอกด้วยสบู่และน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค
นอกจากนี้ พ่อแม่ไม่ควรเคลือบจุกหลอกด้วยน้ำหวานหรือน้ำผึ้ง เพราะนอกจากจะทำให้เด็กฟันผุได้ในภายหลังแล้ว น้ำผึ้งยังเป็นอันตรายต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี โดยอาจทำให้เกิดโรคโบทูลิซึ่ม ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบประสาทและทำให้เด็กเสี่ยงเสียชีวิตได้