จุดแดงขึ้นตามตัว เป็นอาการบนผิวหนังที่มีจุดหรือผื่นสีแดงเกิดขึ้นตามร่างกาย ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดอาการคันร่วมด้วย โดยสาเหตุอาจเกิดจากอาการทางผิวหนังหรือโรคบางชนิด เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส และความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ผื่น หรือจุดแดงที่ขึ้นตามร่างกายอาจมีลักษณะที่คล้ายกัน ทำให้ยากต่อการระบุสาเหตุได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หากเกิดผื่นหรือจุดแดงขึ้นตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
สาเหตุที่ทำให้มีจุดแดงขึ้นตามตัว
จุดแดงขึ้นตามตัวมักเป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นจากอาการหรือโรคอื่น ๆ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. ผดร้อน (Heat rash)
ผดร้อน มักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้น โดยผดร้อนเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อไม่สามารถขับออกมาได้ จึงเกิดเป็นจุดแดงเล็ก ๆ หลายจุดขึ้นตามร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการคันและแสบผิว ผดร้อนมักเกิดบ่อยบริเวณข้อพับหรือบริเวณที่มีเหงื่อสะสม เช่น รักแร้ หน้าอก หลัง แขนและขาหนีบ
ผดร้อนสามารถหายไปได้เองเมื่อผิวเย็นขึ้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ
2. ผื่นระคายสัมผัส (Contact dermatitis)
จุดแดงขึ้นตามตัวสามารถเกิดจากโรคผื่นระคายสัมผัสได้ เมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารบางอย่างที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรืออาการแพ้ ทำให้ผิวเกิดผื่นคัน บวมแดง แสบร้อน แห้ง ลอกและเป็นตุ่มพองบนร่างกาย อาการดังกล่าวจะดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ หากหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้
3. ผื่นกุหลาบ (Pityriasis Rosea)
ผื่นกุหลาบ เป็นอาการทางผิวหนังที่ก่อให้เกิดผื่นคันที่มีลักษณะเป็นจุดนูนแดงขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ หน้าอก ท้องและหลัง ในช่วงแรกของอาการ ผื่นจะมีลักษณะเป็นจุดแดงขนาดใหญ่ หลังจากนั้นจะเกิดจุดแดงคล้ายวงรีขนาดเล็กกระจายทั่วไปทั่วบริเวณนั้น นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหัว เจ็บคอและมีไข้
โดยปกติ ผื่นกุหลาบสามารถหายได้เองภายใน 2–12 สัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) และยาแก้อักเสบ (Corticosteroid) เพื่อรักษาอาการคันรุนแรง
4. ผื่นแพ้ยา
จุดแดงขึ้นตามตัวอาจเกิดจากผลข้างเคียงหรือการแพ้ยาบางชนิด โดยอาการแพ้สามารถก่อให้เกิดผื่นได้หลายรูปแบบ เช่น ลมพิษ และไข้ออกผื่น (Exanthematous rashes) ผื่นแพ้ยามีความรุนแรงหลายระดับ ตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรงไปจนถึงอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ปกติแล้วอาการจะเริ่มดีขึ้นหลังจากหยุดใช้ยาที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
5. โรคหอยคัน (Swimmer’s itch)
โรคหอยคันเกิดจากการติดเชื้อหนอนปรสิตในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม หลังจากสัมผัสแหล่งน้ำที่มีหนอนปรสิตอาศัยอยู่ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการคัน เป็นผื่นหรือจุดบวมแดงบริเวณที่ติดเชื้อ โดยส่วนมาก โรคหอยคันมักหายไปเองโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหากมีอาการไม่รุนแรง
6. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นอาการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังที่พบได้บ่อยในเด็ก มักก่อให้เกิดอาการคัน ผิวแห้งแตก และมีผื่นหรือจุดแดงขึ้นตามตัว โดยสาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัดแต่อาจเกิดจากพันธุกรรมหรือระบบภูมิคุ้มกัน ทำงานผิดปกติ ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนังและนำไปสู่โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้
7. โรคกลาก (Ringworm)
โรคกลากเกิดจากการติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง สามารถติดได้จากทั้งคนและสัตว์ผ่านการสัมผัส อีกทั้งสามารถติดได้จากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ โดยกลากมีลักษณะเป็นจุดแดงขึ้นตามร่างกายและนูนเล็กน้อย นอกจากนี้ บริเวณที่เป็นกลากอาจเกิดผิวลอกหรือเป็นขุย แต่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บ โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอกซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ครีม โลชัน
8. โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยเซลล์ผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินจะสร้างได้รวดเร็วกว่าปกติ ก่อให้เกิดสะเก็ดสีเงินและจุดสีแดงที่นูนขึ้นบนผิวหนัง มักมีอาการคันและแสบร้อนผิว นอกจากนี้ โรคดังกล่าวสามารถเกิดได้โดยการกระตุ้นจากภายนอก เช่น ความเครียด ยา การติดเชื้อหรืออาการบาดเจ็บ
โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาให้หาย แต่รักษาให้โรคสงบได้ โดยควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งแพทย์จะแนะนำการรักษาตามระดับความรุนแรงของโรค เช่น ใช้ยาทาภายนอก การให้ยาชนิดรับประทาน การฉายแสงอาทิตย์เทียม
9. โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Lichen planus)
จุดแดงขึ้นตามตัวอาจมีสาเหตุจากโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังได้ โรคนี้มักเกิดการอักเสบได้ทั้งภายในช่องปากและบนร่างกาย โดยบนร่างกายจะมีอาการผื่นคันและแดง หากเกิดภายในช่องปาก จะมีอาการแสบและเจ็บบริเวณที่เกิดโรค ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัด แต่อาจมีสาเหตุมากจากการติดเชื้อ ยาบางชนิดหรือระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
ในกรณีที่โรคผิวหนักอักเสบเรื้อรังมีอาการที่ไม่รุนแรงนักอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากเกิดการอักเสบขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อเมือกก็จำเป็นที่ต้องเข้ารับคำแนะนำในการรักษาจากแพทย์
10. จ้ำเลือด (Purpura)
จ้ำเลือดมีลักษณะเป็นจุดแดงขึ้นตามตัว สาเหตุเกิดจากเลือดออกใต้ผิวหนัง ทำให้จุดมีสีแดงหรือมีสีม่วงอยู่บนผิวหนัง จ้ำเลือดไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพราะสามารถหายไปได้เอง อย่างไรก็ตาม จ้ำเลือดอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ควรได้รับการรักษา เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษาต่อไป
11. แมลงกัดต่อย
จุดแดงขึ้นตามตัวอาจเกิดจากการถูกสัตว์จำพวกแมลงกัดต่อย เช่น แมลงวัน ยุง เห็บ ผึ้ง ต่อหรือมด ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ บนบริเวณที่ถูกกัดต่อย เช่น มีผื่นหรือจุดแดง บวม ชา คันและแสบร้อน หากโดนกัดหรือต่อยโดยสัตว์ที่มีพิษไม่ร้ายแรง สามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง เช่น คีบเหล็กในออก ล้างบริเวณที่โดนกัดต่อยให้สะอาด และประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมและ เจ็บแสบ
หากสันนิษฐานว่าถูกแมลงที่มีพิษร้ายแรงกัดต่อยหรือมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะหรืออาเจียน ปากและคอบวม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
วิธีรักษาจุดแดงขึ้นตามตัว
แนวทางการรักษาจุดแดงขึ้นตามร่างกายมักขึ้นอยู่กับสาเหตุ ถึงแม้จุดแดงส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่บางอาการควรไปพบแพทย์ เช่น จุดแดงที่เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ โรคเกลื้อน โรคสะเก็ดเงิน และจ้ำเลือด
อย่างไรก็ตาม สามารถใช้ยารักษาเพื่อบรรเทาอาการคันหรืออาการอักเสบที่เกิดขึ้น โดยมีดังนี้
- ยาแก้แพ้ การทานยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines)สามารถบรรเทาอาการคันได้
- สเตียรอยด์ หากอาการยังไม่ดีขึ้น สามารถใช้ยาทาสเตียรอยด์ เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ในกรณีที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจสั่งจ่ายยาสเตียรอยด์สำหรับทาน โดยยาสเตียรอยด์จะช่วยลดอาการคันและการอักเสบได้
- ยากดภูมิคุ้มกัน ยากดภูมิคุ้มกัน ช่วยลดการอักเสบและความรุนแรงของอาการในโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกาย เช่น
- ยาฆ่าเชื้อรา สำหรับจุดแดงขึ้นตามตัวที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคกลาก สามารถใช้ยาฆ่าเชื้อราเพื่อกำจัดและป้องกันเชื้อราได้
หากรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองแล้ว แต่จุดแดงที่ขึ้นตามตัวยังคงไม่ดีขึ้นหรือมีอาการอื่นเพิ่มเติม เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย หายใจลำบากและมีหนองไหลออกมาตามจุดแดง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที