หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า โพสไบโอติก (Postbiotic) ผ่านหูกันมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าโพสไบโอติกอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ดีต่อสุขภาพลำไส้ บรรเทาอาการในระบบทางเดินอาหารหรือย่อยอาหาร รวมถึงป้องกันการติดเชื้อในร่างกาย
หากพูดถึงโพสไบโอติกแล้ว คงไม่พูดถึง “โพรไบโอติก (Probiotic)” และ “พรีไบโอติก (Prebiotic)” ไม่ได้ เพราะแม้คำจะดูคล้ายกันและชวนให้สับสน แต่จริง ๆ แล้ว 3 สิ่งนี้มีความหมายที่ต่างกัน บทความนี้จะมาช่วยไขข้อสงสัย คลายความสับสน และเตรียมความพร้อมก่อนรับประทานโพสไบโอติก
โพสไบโอติกคืออะไร
ก่อนอื่นเราต้องรู้ความหมายของโพรไบโอติกและพรีไบโอติกเสียก่อน โดยโพรไบโอติกนั้นคือ เชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือลดปัญหาในระบบทางเดินอาหารและย่อยอาหาร
ส่วนพรีไบโอติกเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของแบคทีเรียชนิดดี ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแบคทีเรียชนิดดังกล่าว
ในขณะที่โพสไบโอติกคือ สารทางชีวภาพที่ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการย่อยอาหารของเชื้อแบคทีเรียชนิดดี หรือจะเรียกว่าเป็นของเสียจากเชื้อแบคทีเรียก็ไม่ผิดนัก ยกตัวอย่างเช่น กรดไขมันสายสั้น เอนไซม์ วิตามิน กรดอะมิโน สารเอ็กโซพอลิแซ็กคาไรด์ (Exopolysaccharide: EPS) รวมถึงส่วนผสมที่มาจากส่วนประกอบของตัวแบคทีเรียเอง
โดยอาหารที่อาจช่วยให้แบคทีเรียชนิดดีสร้างโพสไบโอติกมากขึ้นก็เช่น กิมจิ ผักดอง ซุปมิโสะ คอทเทจชีส บัตเตอร์มิลค์ เทมเป้ โยเกิร์ต Kombucha หรือชาหมัก และอาหารที่มีใยอาหารสูงอย่างกระเทียมหรือหัวหอม
ประโยชน์ของโพสไบโอติก
ด้วยความที่โพสไบโอติกเกี่ยวข้องกับโพรไบโอติก คุณประโยชน์ที่ได้จึงคล้ายคลึงกันอย่างมาก ทว่าโพสไบโอติกอาจมีความเสี่ยงต่ำกว่าการรับประทานโพรไบโอติก เนื่องจากเป็นเพียงผลผลิตจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่ตัวเชื้อแบคทีเรียที่หากรับประทานในปริมาณมากขึ้นอาจส่งผลให้ท้องอืดหรือท้องเสีย
โดยตัวอย่างประโยชน์ของโพสไบโอติกที่มีการศึกษาค้นคว้ากันในปัจจุบันจะมีดังนี้
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย บรรเทาอาการจากโรคภูมิแพ้
- บรรเทาอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย
- ป้องกันการอักเสบและการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ในร่างกาย
- ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น รักษาอาการโคลิคในเด็ก ช่วยลดน้ำหนัก ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยในการผลิตฮอร์โมนออกซิโทซินอันมีส่วนช่วยในการคลอดลูก และต่อต้านมะเร็ง
คุณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ยังจำเป็นต้องรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อรับรองประสิทธิภาพและเพิ่มความมั่นใจในการรับประทานโพสไบโอติกยิ่งขึ้นไป จึงไม่ควรนำมาใช้รักษาหรือป้องกันโรคใด ๆ ก็ตาม
โพสไบโอติกกับข้อควรระวัง
โดยทั่วไป การรับประทานโพสไบโอติกมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนทั่วไปที่มีสุขภาพดี แต่การรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อุดมไปด้วยโพรไบโอติกเพื่อหวังเพิ่มปริมาณโพสไบโอติกอาจนำมาซึ่งผลข้างเคียง เช่น มีแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ท้องอืด หรือไม่สบายท้อง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจหายไปเองเมื่อร่างกายปรับตัวได้
โดยเด็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่ประวัติทางสุขภาพ อาทิ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเมื่อไม่นานมานี้ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่รุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกสูง เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือมีผลข้างเคียงมากขึ้น
ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประการหรือใช้ยารักษาโรคใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพสไบโอติกและโพรไบโอติก มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
โพสไบโอติกเป็นเพียงตัวช่วยเสริมสุขภาพเท่านั้น ไม่ควรใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันโรคใด ๆ และอย่าลืมว่า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีใยอาหารสูง ร่วมกับการดูแลสุขภาพในด้านอื่น ๆ ก็มักเพียงพอให้แบคทีเรียในลำไส้เติบโตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดปกติในร่างกายก็ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่เหมาะสม