อาการนิ่วในไตบางครั้งอาจไม่แสดงออกมาเนื่องจากก้อนนิ่วมีขนาดเล็กหรือถูกขับออกไปพร้อมการปัสสาวะโดยไม่ทันสังเกตเห็น แต่หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้นก็อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในไตหรือไตเกิดความผิดปกติหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
นิ่วในไตเป็นก้อนหินปูนที่ก่อตัวจากแร่ธาตุและสสาร อย่างแคลเซียม กรดออกซาลิก และกรดยูริกภายในไต แม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น อาหารโซเดียมสูงหรือน้ำตาลสูง การขาดน้ำ การใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด ปัญหาสุขภาพบางประการที่ส่งผลให้สสารในปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจเกี่ยวข้องกับการมีน้ำหนักตัวมากหรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นนิ่วในไต
อาการนิ่วในไตที่ควรสังเกต
ปกติแล้วอาการนิ่วในไตมักจะไม่มีอาการหากก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก เนื่องจากมักจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านการปัสสาวะโดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ
แต่หากก้อนนิ่วเคลื่อนที่ไปบริเวณเนื้อไตหรือเข้าไปอุดตันในท่อไต อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแปลบอย่างรุนแรงเป็นระยะบริเวณแผ่นหลังหรือช่องท้องโดยมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง อาจปวดร้าวไปยังขาหนีบและอัณฑะในเพศชาย ปวดหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะเป็นเลือดหรืออาจเป็นสีชมพู สีแดง และสีน้ำตาล ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นฉุนผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะในปริมาณน้อยลง มีไข้สูง หนาวสั่น มีเหงื่อออก คลื่นไส้ และอาเจียน
อย่างไรก็ตาม หากมีความกังวลใจว่าตนเองอาจเป็นนิ่วในไตหรือมีอาการนิ่วในไต โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมกับมีอาการในข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
วิธีรักษาอาการนิ่วในไต
การรักษาอาการนิ่วในไตขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนนิ่วที่พบ ผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่วขนาดเล็กสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการดื่มน้ำสะอาดวันละประมาณ 3 ลิตร จำกัดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีโซเดียม รับประทานยาแก้ปวดอย่างยาไอบูโพรเฟนหรือยาพาราเซตามอล ยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือยาช่วยขับก้อนนิ่วอย่างกลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blocker) ตามที่แพทย์แนะนำ
สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่วขนาดใหญ่เกินกว่าที่ร่างกายจะขับออกทางปัสสาวะได้เอง ร่วมกับมีปัสสาวะเป็นเลือด ไตเสียหาย หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาต่อไปนี้
- การใช้คลื่นเสียงสลายก้อนนิ่ว (Shock Wave Lithotripsy: SWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงอย่างคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) กระแทกก้อนนิ่วขนาดใหญ่ให้แตกสลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยมากมักมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร เพื่อให้ร่างกายขับออกได้เองในภายหลัง
- การผ่าตัดนำนิ่วออก (Percutaneous Nephrolithotomy) แพทย์จะใช้วิธีนี้หากรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงไม่ได้ผล โดยอาจทำร่วมกับการส่องกล้องและอุปกรณ์ขนาดเล็กผ่านทางหลังของผู้ป่วยเพื่อกำจัดก้อนนิ่วออก
- การส่องกล้องทางท่อปัสสาวะ (Ureteroscopy) เป็นการใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้าทางท่อปัสสาวะไปที่กระเพาะปัสสาวะ เพื่อสลายก้อนนิ่วหรือค่อย ๆ นำก้อนนิ่วออกมาจากในไตและท่อไต
การรักษาอาการนิ่วในไตที่มีขนาดใหญ่อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนบางประการ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจนอาจเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) หรือท่อไตอุดตันจากเศษก้อนนิ่ว ดังนั้น หลังการรักษาหากพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบโดยเร็ว
แม้อาการนิ่วในไตอาจดูไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรละเลยในการดูแลสุขภาพตนเองอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไตให้ได้มากที่สุด เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ลดการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ และอย่าลืมสังเกตความเปลี่ยนแปลงของปัสสาวะของตัวเอง เพื่อเข้ารับการตรวจจากแพทย์แต่เนิ่น ๆ