ชวนสังเกตอาการโรคไตเริ่มแรก พร้อมแนวทางการป้องกัน

โรคไต เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อไตเกิดความเสียหายจนกระบวนการทำงานผิดปกติไป โดยอาการโรคไตเริ่มแรกจะสังเกตได้ค่อนข้างยากและมักมีลักษณะอาการแสดงที่ค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุของโรค อย่างไรก็ตาม หากเราทราบแนวทางการสังเกตอาการโรคไตเริ่มแรก ก็อาจนำใช้ไปสังเกตตนเองและคนใกล้ตัวได้ และอาจช่วยให้เข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ไตเป็นอวัยวะที่มี 2 ชิ้น อยู่บริเวณเหนือเอวทั้งสองข้าง มีขนาดประมาณข้างละ 1 กำมือ มีหน้าที่หลัก ๆ คือ ช่วยกรองของเสียและของเหลวส่วนเกินจากร่างกายผ่านการขับปัสสาวะ เนื่องจากไตของผู้ป่วยโรคไตทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจึงมักมีของเสียสะสมอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและการเสียชีวิตได้

ชวนสังเกตอาการโรคไตเริ่มแรก พร้อมแนวทางการป้องกัน

รู้จักกับอาการโรคไตเริ่มแรก

โรคไตจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง โดยอาการโรคไตเริ่มแรกก็มักจะแตกต่างกันในแต่ละชนิด ดังนี้

โรคไตชนิดเฉียบพลัน (Acute Kidney Disease)

โรคไตชนิดนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเลือดในร่างกายไปหล่อเลี้ยงไม่พออย่างฉับพลัน โดยสาเหตุที่มักพบ เช่น การเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียเลือดในปริมาณมาก การเกิดภาวะช็อก (Shock) หรือป่วยเป็นในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง (Autoimmune diseases) อย่างโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus)

โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น

  • ปัสสาวะน้อยลง
  • เกิดอาการบวมบริเวณขา ข้อเท้า และเท้า
  • อ่อนเพลีย
  • หายใจไม่อิ่ม
  • สับสน
  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease)

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตชนิดนี้จะพบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของไตค่อย ๆ ลดลง โดยสาเหตุหลักที่มักพบได้บ่อย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กรวยไตอักเสบ การติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง และการใช้ยาบางชนิดเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด

สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้ อาการโรคไตเริ่มแรกจะมักสังเกตได้ยาก หรือมักไม่พบเลยจนโรคเริ่มมีความรุนแรง โดยเมื่อเริ่มเกิดอาการ อาการที่อาจพบได้ เช่น

  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • บริเวณเท้าและข้อเท้าเกิดอาการบวมและเมื่อกดจะมีลักษณะบุ๋มลงไป
  • ผิวแห้ง คันผิว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ในกรณีผู้หญิงอาจพบภาวะขาดประจำเดือน
  • ในกรณีผู้ชายอาจพบว่าความต้องการทางเพศลดลง

ป้องกันตัวเองจากโรคไตอย่างไรดี

เพื่อสุขภาพไตที่แข็งแรง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต การทำตามวิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยได้ ได้แก่

  • เข้ารับการตรวจไตอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเกิดอาการป่วยเกี่ยวกับไต
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวใด ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มีไขมันสูง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง และอาหารหมักดอง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือประมาณ 6–8 แก้ว/วัน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควมคุมน้ำหนักตัว
  • ผู้ที่รับประทานยาใด ๆ อยู่ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนาน ๆ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 

ทั้งนี้ อาการบางอย่างของโรคไตอาจจะดูเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ซึ่งสามารถเกิดได้จากโรคอื่นเช่นกัน แต่โรคไตเป็นโรคที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งการได้รับการตรวจและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ ดังนั้น ผู้ที่พบอาการที่เข้าข่ายอาการโรคไตเริ่มแรกควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการตรวจ