ชันสูตร ข้อเท็จจริงและประโยชน์ที่ควรรู้

ชันสูตร (Autopsy) คือ กระบวนการทางการแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยร่างกายผู้เสียชีวิต เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการชันสูตรพลิกศพ โดยมักทำหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตได้ไม่นานมากนัก แพทย์จะชันสูตรเพื่อวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิต ระดับอาการป่วยของผู้เสียชีวิต หรือขั้นตอนการรักษาที่ส่งผลให้เสียชีวิต ทั้งนี้ การชันสูตรยังช่วยให้ข้อมูลที่มีคุณประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการผ่าศพทางนิติเวชวิทยาศาสตร์ ซึ่งช่วยระบุสาเหตุการเสียชีวิตตามกฎหมายว่าเกิดจากอุบัติเหตุ ฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย หรือภัยทางธรรมชาติ พยาธิแพทย์ (Pathologists) จะเป็นผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยพยาธิแพทย์จะได้รับการฝึกฝนพิเศษจนเชี่ยวชาญด้านการตรวจเนื้อเยื่อและสารคัดหลั่งของศพผู้เสียชีวิต

ชันสูตร

ประเภทของการชันสูตร

การชันสูตรศพผู้เสียชีวิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การชันสูตรทางพยาธิวิทยา และการชันสูตรทางนิติเวชศาสตร์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • การชันสูตรทางพยาธิวิทยา (Pathological Autopsy) การชันสูตรประเภทนี้จะเน้นชันสูตรอาการป่วยของผู้เสียชีวิต เพื่อวินิจฉัยโรค สาเหตุ และกลไกการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น โดยเก็บข้อมูลจากประวัติการรักษาของผู้เสียชีวิต เช่น อาการป่วยของโรค การเข้ารับการรักษา ผลการตรวจรักษาจากห้องปฏิบัติการ รวมทั้งอาการที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างเข้ารับการรักษา โดยพยาธิแพทย์จะนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลร่วมกับผลชันสูตรที่ตรวจพบจากภายนอก ภายในร่างกายผู้เสียชีวิต และผลการตรวจชิ้นเนื้อผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อสรุปสาเหตุการเสียชีวิต
  • การชันสูตรทางนิติเวชศาสตร์ (Forensic Autopsy) การชันสูตรประเภทนี้จะเน้นสาเหตุการเสียชีวิตที่เกี่ยวกับสภาพพยาธิของบาดแผล มักชันสูตรผู้ที่เสียชีวิตกะทันหัน เช่น ถูกรุมทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ประสบอุบัติเหตุ ถูกสัตว์ทำร้าย ฆ่าตัวตาย หรือเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยนิติพยาธิแพทย์หรือแพทย์นิติเวชจะเป็นผู้ทำการชันสูตรเพื่อค้นหาสาเหตุการเสียชีวิต รวมทั้งกลไกและเบาะแสที่ทำให้ทราบเกี่ยวกับพฤติการณ์ของการเสียชีวิต

ทำไมต้องทำการชันสูตร

การชันสูตรจะช่วยระบุสาเหตุการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน รวมทั้งข้อมูลจากการชันสูตรศพนั้นยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและการศึกษาให้แก่บุคลากรในวงการแพทย์ เหตุผลที่ต้องทำการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ เหตุผลจากความต้องการของญาติผู้เสียชีวิต และเหตุผลจากการร้องขอตามกฎหมาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • เหตุผลจากความต้องการของญาติผู้เสียชีวิต (Request Autopsy) ญาติที่ใกล้ชิดหรือสนิทกับผู้เสียชีวิตมากที่สุดมีสิทธิตัดสินใจขอให้มีการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตได้ โดยแพทย์จะให้ญาติลงลายมือชื่อในเอกสารยินยอม ทั้งนี้ ญาติผู้เสียชีวิตสามารถจำกัดขอบเขตของการชันสูตรศพได้ โดยญาติสามารถขอให้แพทย์ชันสูตรศพได้ในกรณีต่อไปนี้
    • ไม่ปรากฏสาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดจากการป่วยด้วยโรคประจำตัว
    • ปรากฏสิ่งที่น่าสงสัยเกี่ยวกับการเสียชีวิตกะทันหันอันมีสาเหตุจากภัยทางธรรมชาติ
    • คาดว่าผู้เสียชีวิตป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งส่งผลต่อญาติและบุคคลในครอบครัวได้สูง
    • เสียชีวิตระหว่างเข้ารับการรักษาทางการแพทย์หรือกระบวนการทันตกรรม โดยไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจน
    • สาเหตุการเสียชีวิตส่งผลกระทบต่อเรื่องทางกฎหมาย
    • เกิดเสียชีวิตระหว่างเข้ารับการทดลองสำหรับรักษาอาการป่วย (Experimental Treatment)
  • เหตุผลจากการร้องขอตามกฎหมาย (Required Autopsy) แพทย์สามารถทำการชันสูตรศพได้โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากญาติผู้เสียชีวิต ในกรณีที่ไม่ปรากฏสาเหตุการเสียชีวิตอย่างชัดเจน รวมทั้งได้รับการร้องขอให้มีการชันสูตรตามกฎหมายด้วยเหตุผลต่อไปนี้
    • เสียชีวิตโดยไม่ได้รับการรักษาอาการป่วยจากแพทย์
    • เสียชีวิตโดยได้รับการรักษาหรืออยู่ในความดูแลของแพทย์น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
    • เสียชีวิตขณะเข้ารับการผ่าตัด หรือเข้ารับการรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์
    • เสียชีวิตโดยไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งอาจรวมไปถึงกรณีการเสียชีวิตกะทันหันของเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่ปรากฏปัญหาสุขภาพ หรือกรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
    • เสียชีวิตจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น มีบาดแผล ตกจากที่สูง รถชน ถูกสัตว์ทำร้าย ใช้ยาเกินขนาด หรือได้รับยาพิษ
    • สาเหตุการเสียชีวิตไม่แน่ชัด เช่น เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย หรือเสียชีวิตจากการฆาตกรรม
    • เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นที่ควรได้รับการชันสูตรตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย
    • การชันสูตรอาจช่วยให้ค้นพบข้อมูลด้านการรักษาโรคที่เป็นอันตรายต่อสาธารณชน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการชันสูตร

กระบวนการตรวจร่างกายผู้เสียชีวิตหรือชันสูตรศพนั้นสามารถทำได้ในกรณีที่มีเหตุผลตามความต้องการจากญาติผู้เสียชีวิตหรือการร้องขอจากกฎหมาย ทั้งนี้ การชันสูตรและผลชันสูตรศพก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการชันสูตรและผลชันสูตรประกอบด้วยช่วงเวลาที่ทำการชันสูตร ทักษะของแพทย์นิติเวช และผู้ร้องขอและเหตุผลที่ต้องชันสูตร ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ช่วงเวลาที่ทำการชันสูตร การชันสูตรศพควรทำหลังจากผู้เสียชีวิตเสียชีวิตไม่นาน ซึ่งมักทำภายในไม่กี่วันนับตั้งแต่เสียชีวิต เนื่องจากการชันสูตรศพบางราย จำเป็นต้องผ่านำตัวอย่างชิ้นเนื้อจากศพไปตรวจทันที อย่างไรก็ตาม การชันสูตรศพที่เสียชีวิตมานานแล้ว ก็สามารถให้ผลการชันสูตรที่เป็นประโยชน์ได้
  • ทักษะของพยาธิแพทย์และแพทย์นิติเวช ผลการชันสูตรจะแตกต่างกันไปตามทักษะของแพทย์ที่ทำการชันสูตร เนื่องจากการชันสูตรศพของผู้เสียชีวิตบางรายนั้นซับซ้อน แพทย์จำเป็นต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและมีส่วนช่วยในการชันสูตรผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทั้งนี้ ญาติหรือบุคคลในครอบครัวของผู้เสียชีวิตอาจต้องพูดคุยกับแพทย์ เพื่อช่วยหาแพทย์นิติเวชมาทำการชันสูตรได้อย่างเหมาะสม
  • ผู้ร้องขอและเหตุผลที่ต้องชันสูตร แพทย์จะทำการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตได้ในกรณีที่จำเป็นต้องทำ โดยบุคคลที่ร้องขอและเหตุผลที่ต้องชันสูตรศพนับเป็นปัจจัยสำคัญ ผู้ที่ร้องขอให้มีการชันสูตรควรพูดคุยกับแพทย์นิติเวชก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลและผลการชันสูตรที่ถูกต้องตรงตามเหตุผลที่ร้องขอ เนื่องจากแพทย์อาจไม่เก็บตัวอย่างของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้จากกระบวนการชันสูตรเพื่อไปทดสอบทางการแพทย์อื่น ๆ ต่อในกรณีที่ไม่ได้ระบุมาก่อน

กระบวนการชันสูตร

การชันสูตรมีขั้นตอนหลายอย่าง โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมการ ก่อนชันสูตร ระหว่างทำการชันสูตร และหลังชันสูตร โดยแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียด ดังนี้

  • ขั้นเตรียมการ ก่อนแพทย์นิติเวชจะทำการชันสูตรศพผู้เสียชีวิต จะต้องมีผู้ร้องขอให้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งขั้นเตรียมการชันสูตรนั้นจะแตกต่างกันไปตามลักษณะเหตุผลที่ร้องขอให้มีการชันสูตร ดังนี้
    • กรณีที่ญาติของผู้เสียชีวิตร้องขอให้ดำเนินการชันสูตรศพ ผู้ร้องขอจะได้รับเอกสารยินยอมให้มีการชันสูตร ซึ่งอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าว รวมทั้งระบุว่าจะนำชิ้นส่วนของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อเก็บรักษาไว้หรือนำไปใช้เพื่อการศึกษาต่อไป ญาติหรือบุคคลในครอบครัวควรอ่านรายละเอียดในเอกสารให้เข้าใจและลงชื่อยินยอมต่อหน้าพยาน ทั้งนี้ ผู้ร้องขอสามารถระบุได้ว่าจะจำกัดขอบเขตหรือให้ทำการชันสูตรที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยต้องพูดคุยข้อกำหนดดังกล่าวกับแพทย์นิติเวชเพื่อให้ได้ผลการชันสูตรที่ถูกต้อง
    • กรณีที่มีการร้องขอตามกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ กรณีนี้จะสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากญาติหรือบุคคลในครอบครัวผู้เสียชีวิต  
  • ก่อนชันสูตร ก่อนดำเนินการชันสูตรศพ จะต้องเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของผู้เสียชีวิตให้ครบถ้วน ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต สาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิต และประวัติการรักษาที่ผ่านมา โดยในกรณีที่ชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย ควรมีประวัติการรักษาอันประกอบด้วยอาการของโรค การดำเนินโรค การรักษาพยาบาล ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ และอาการที่เปลี่ยนแปลงระหว่างเข้ารับการรักษา ส่วนการชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตกะทันหัน ประสบอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ตำรวจและเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพจะสอบถามญาติและบุคคลในครอบครัว ไปจนถึงลงพื้นที่จริงตรงที่เกิดการเสียชีวิต เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นเพิ่มเติม
  • ระหว่างทำการชันสูตร ขอบเขตของการชันสูตรศพแตกต่างกันไป ซึ่งมีทั้งตรวจอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงอย่างเดียวไปจนถึงการตรวจหลายอย่าง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง ห้องสำหรับดำเนินกระบวนการนี้มีลักษณะคล้ายห้องผ่าตัด แพทย์ที่ทำการชันสูตรจะให้ความเคารพแก่ศพผู้เสียชีวิตทุกราย โดยทั่วไปแล้ว แพทย์นิติเวชจะทำการชันสูตรที่ทรวงอก ท้อง และสมอง ซึ่งเป็นขอบเขตพื้นฐานในการชันสูตรศพ การชันสูตรศพมี 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การตรวจชันสูตรภายนอก และการตรวจชันสูตรภายในร่างกาย ดังนี้
    • การตรวจชันสูตรภายนอก แพทย์นิติเวชจะตรวจอวัยวะภายนอกร่างกายทั้งหมด บันทึกน้ำหนักและส่วนสูงของผู้เสียชีวิต รวมทั้งระบุตำหนิที่ปรากฏตามร่างกาย เช่น ลักษณะบาดแผล หรือรอยสัก
    • การตรวจชันสูตรภายในร่างกาย การผ่าชันสูตรอวัยวะภายในร่างกายมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
      • ตรวจอวัยวะภายในทรวงอกและช่องท้อง แพทย์จะเริ่มผ่าเพื่อตรวจอวัยวะภายในช่องอก ได้แก่ หลอดลม ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ หลอดอาหาร หัวใจ เอออร์ตาส่วนอก (Thoracic Aorta) และปอด จากนั้นแพทย์จะผ่าเปิดช่องท้อง เพื่อตรวจอวัยวะภายในช่องท้อง ได้แก่ ลำไส้เล็ก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับอ่อน ม้าม ต่อมหมวกไต ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ เอออร์ตาส่วนท้อง (Abdominal Aorta) และอวัยวะสืบพันธุ์
      • ตรวจสมอง แพทย์จะตรวจตั้งแต่กะโหลกศีรษะ จากนั้นจึงเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อตรวจสมอง รวมทั้งเปิดกระดูกสันหลังเพื่อตรวจไขสันหลังต่อไป
      • ตรวจความผิดปกติ แพทย์จะตรวจดูอวัยวะแต่ละส่วนและบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ตับแข็งหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่อผ่าเอาอวัยวะภายในร่างกายออกไปแล้ว แพทย์จะแยกอวัยวะแต่ละส่วนและผ่าชันสูตรต่อไปเพื่อดูความผิดปกติอื่น ๆ หรือนำตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ได้จากอวัยวะไปส่องกล้องจุลทรรศน์อีกครั้ง ทั้งนี้ อาจต้องมีการศึกษาอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ศึกษาเพื่อระบุตัวเชื้อโรค วิเคราะห์สารเคมีสำหรับวัดระดับการใช้ยาและความผิดปกติของเมตาบอลิซึม หรือศึกษาทางพันธุกรรม
      • เย็บแผลผ่าชันสูตร แพทย์จะนำอวัยวะที่ผ่าออกมาใส่กลับคืนให้แก่ร่างผู้เสียชีวิต โดยจะเย็บรอยผ่าให้เรียบร้อยหลังสิ้นสุดการชันสูตรศพ กระบวนการนี้จะไม่ส่งผลต่อการนำร่างผู้เสียชีวิตไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เนื่องจากรอยแผลจากการผ่าชันสูตรไม่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน
  • หลังชันสูตร เมื่อแพทย์ดำเนินการชันสูตรศพจนสิ้นสุดกระบวนการทั้งหมดแล้ว จะต้องเขียนรายงานผลการชันสูตร โดยระบุว่าเสียชีวิตด้วยวิธีธรรมชาติ (ป่วยเป็นโรคอื่น ๆ หรือเสียชีวิตตามอายุขัย) หรือเสียชีวิตผิดธรรมชาติ (ฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย ประสบอุบัติเหตุ หรือไม่สามารถระบุได้) รายงานผลชันสูตรประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต ขั้นตอนการชันสูตรศพ ข้อวินิจฉัยทางการแพทย์ ข้อสรุปโดยรวม และความสอดคล้องกันระหว่างผลการตรวจของแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยและผลการชันสูตรจากแพทย์นิติเวช ซึ่งเป็นประโยชน์ในการตอบข้อสงสัยของญาติ แพทย์ที่รักษาผู้เสียชีวิต และเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ผลการชันสูตรเบื้องต้นจะปรากฏออกมาภายใน 2-3 วัน ส่วนผลการชันสูตรขั้นสุดท้ายจะใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เนื่องจากข้อมูลจากการตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อมีรายละเอียดมาก ทั้งนี้ การออกใบมรณบัตรให้แก่ผู้เสียชีวิตที่เข้ารับการชันสูตรจะแตกต่างกันไปตามกรณีที่ร้องขอให้ดำเนินการชันสูตร ดังนี้
    • กรณีที่มีการชันสูตรตามความต้องการของญาติ แพทย์ที่ดูแลและทำการรักษาผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้ลงชื่อในใบมรณบัตรของผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจออกใบมรณบัตรเรียบร้อยก่อนจะทราบผลชันสูตร
    • กรณีที่มีการชันสูตรตามการร้องขอจากกฎหมาย แพทย์นิติเวชหรือเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพจะระบุสาเหตุการเสียชีวิตและลงชื่อในใบมรณบัตรให้แก่ผู้เสียชีวิตเอง

ประโยชน์ของการชันสูตร

การชันสูตรศพตามความต้องการของญาติผู้เสียชีวิตหรือตามการร้องขอจากกฎหมาย ล้วนมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ประโยชน์แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต การชันสูตรศพมีคุณประโยชน์ต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งทางกายภาพและด้านจิตใจ กระบวนการนี้จะช่วยวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการป่วยด้วยโรคบางอย่าง รวมทั้งโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคคลในครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ ส่วนประโยชน์ที่ส่งผลทางด้านจิตใจนั้น จะช่วยให้ญาติผู้เสียชีวิตเข้าใจสาเหตุการเสียชีวิตได้มากขึ้น เนื่องจากผลการชันสูตรสามารถอธิบายสาเหตุการเสียชีวิตตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ช่วยให้บุคคลในครอบครัวผู้เสียชีวิตรู้สึกผิดน้อยลงในกรณีที่คิดว่ายังดูแลผู้เสียชีวิตได้ไม่ดี ทั้งนี้ ครอบครัวผู้เสียชีวิตยังได้รับความรู้ทางการแพทย์จากการได้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนี้
  • ประโยชน์ต่อวงการแพทย์ การชันสูตรศพสามารถยืนยันผลการวินิจฉัยและการดูแลอาการป่วยของผู้เสียชีวิตจากแพทย์ที่ทำการรักษาได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ ผลการชันสูตรยังเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ เนื่องจากแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในวงการแพทย์สามารถศึกษาข้อมูลทางการแพทย์จากกรณีดังกล่าว และนำไปต่อยอดความรู้ เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยต่อไป
  • ประโยชน์แก่สังคม กระบวนการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตมีประโยชน์ต่อสังคมหลายประการ โดยช่วยประเมินวิธีวินิจฉัยโรคแนวใหม่ ทำให้ทราบว่าการวินิจฉัยหรือวิธีรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาผู้ป่วยรายอื่นที่ได้รับการวินิจฉัยหรือมีอาการป่วยลักษณะเดียวกันต่อไป อีกทั้งยังช่วยให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำข้อมูลที่ได้จากการชันสูตรผู้เสียชีวิตมาเป็นแนวทางการป้องกันโรคแก่ผู้คนในอนาคตได้