ช่วยคนจมน้ำ วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นให้ปลอดภัย

การช่วยคนจมน้ำหากทำได้ถูกวิธีจะสามารถช่วยชีวิตผู้ที่จมน้ำให้ปลอดภัยได้ การจมน้ำเกิดขึ้นเมื่อคนตกลงไปใต้น้ำแล้วหายใจหรือกลืนน้ำเข้าไป หากน้ำเข้าไปในปอดจะขัดขวางการหายใจและทำให้ปอดไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปสู่หัวใจ ซึ่งทำให้หมดสติ หากไม่ได้รับการช่วยชีวิตทันเวลาอาจทำให้เสียชีวิตในที่สุด การเรียนรู้วิธีช่วยคนจมน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ

จมน้ำเป็นอุบัติเหตุที่พบได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเด็ก โดยในช่วงปี พ.ศ. 2555–2564 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 35,915 คน และในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่เสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง 7,374 คน หรือคิดเป็น 20.5% 

ช่วยคนจมน้ำ วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นให้ปลอดภัย

การจมน้ำมักเกิดจากการว่ายน้ำไม่เป็น หรือว่ายน้ำเป็นแต่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เนื่องจากเป็นตะคริว ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือมีโรคประจำตัว เช่น ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีอาการแพนิค (Panic Attack) รวมทั้งการดื่มสุรา และการไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ 

ช่วยคนจมน้ำอย่างไรให้ถูกวิธี

การช่วยคนจมน้ำควรทำอย่างถูกวิธีและมีสติ ซึ่งการช่วยคนจมน้ำอย่างถูกวิธี มีดังนี้

  1. รีบพาคนจมน้ำขึ้นจากน้ำ

ตะโกนขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิต (Lifeguard) หากเกิดเหตุจมน้ำที่สระว่ายน้ำ ขณะที่ยังไม่มีคนมาช่วยและผู้จมน้ำยังมีสติ ให้โยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วงยางชูชีพ หรือยื่นเชือก ไม้ยาว ๆ หรือผ้ายาว ๆ ให้เกาะ และดึงคนที่ตกน้ำเข้าฝั่ง ในระหว่างนี้ให้ผู้อื่นโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 โดยแจ้งรายละเอียดเหตุการณ์ สถานที่เกิดเหตุ และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ

หากผู้ที่จมน้ำอยู่ไกลฝั่งและจำเป็นต้องกระโดดลงน้ำไปช่วย ควรนำอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ลอยน้ำได้ไปด้วย โดยระมัดระวังไม่เข้าถึงตัวผู้ที่จมน้ำ แต่ให้ยื่นอุปกรณ์ช่วยเหลือไปให้แทน เนื่องจากผู้จมน้ำอยู่ในภาวะตกใจและกำลังพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอด จึงอาจดึงผู้ที่เข้าช่วยเหลือให้จมน้ำไปด้วย 

  1. เป่าปากและทำ CPR

พาผู้จมน้ำขึ้นบนบกและจัดให้นอนหงายบนพื้นที่มีความแข็งและแห้ง โดยห้ามจับผู้ที่จมน้ำอุ้มพาดบ่า วิ่งไปรอบ ๆ หรือกดท้องเพื่อเอาน้ำออก เนื่องจากไม่มีความจำเป็นและอาจทำให้เกิดผลเสีย จากนั้นตรวจสอบดูว่าผู้จมน้ำยังรู้สึกตัวอยู่หรือไม่ โดยอาจจับไหล่ทั้งสองข้างของผู้จมน้ำและเขย่าเรียกดัง ๆ หากรู้สึกตัวให้เช็ดตัวให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้า และนำส่งโรงพยาบาล

หากคนที่จมน้ำไม่รู้สึกตัวหรือหยุดหายใจ ให้เป่าปากช่วยหายใจ การเป่าปากช่วยหายใจทำได้โดยใช้มือหนึ่งกดหน้าผาก อีกมือหนึ่งยกคาง มือที่กดหน้าผากบีบจมูกผู้จมน้ำ ประกบปากเป่าลม 2 ครั้งจนหน้าอกผู้จมน้ำพองขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ช่วยเหลือด้วยเสมอ

หากคลำชีพจรไม่ได้หรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำ CPR ทันที โดยการประสานมือกดหน้าอกบริเวณกึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง กดให้ลึกมากกว่า 2 นิ้วในผู้ใหญ่ หรือในเด็กควรลึกประมาณ 1/3–1/2 ของความหนาของทรวงอก ความเร็ว 100–120 ครั้งต่อนาที ทําการกดหน้าอก 30 ครั้งสลับกับช่วยหายใจ 2 ครั้งไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ที่จมน้ำจะรู้สึกตัวหรือจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง โดยห้ามหยุดเป็นอันขาด

ถ้าผู้ที่จมน้ำหายใจได้เองหรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ให้จับนอนตะแคง หงายศีรษะไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้ความอบอุ่น โดยยังไม่ควรให้กินอาหารและดื่มน้ำ และนำส่งโรงพยาบาล

การจมน้ำมักเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด หากสามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีและถูกวิธีก็อาจป้องกันการเสียชีวิตได้ เราจึงควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในยามฉุกเฉิน

นอกจากนั้น ควรป้องกันการจมน้ำด้วยการสวมเสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ป้องกันการจมน้ำ ระมัดระวังไม่ไปว่ายน้ำตามลำพังหรือว่ายน้ำในสถานที่ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิต อีกทั้งยังควรสวมเสื้อชูชีพขณะนั่งเรือเสมอแม้จะว่ายน้ำเป็นก็ตาม ในกรณีของเด็ก ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กคลาดสายตา และให้เด็กฝึกว่ายน้ำเพื่อให้มีทักษะพื้นฐานในการดูแลตัวเอง