ช่องคลอดกับความผิดปกติที่คุณสังเกตได้ด้วยตนเอง

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสุขภาพของช่องคลอดในปัจจุบันนั้นยังมีอยู่มาก ช่องคลอดเป็นส่วนสำคัญที่ต้องดูแลไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หากเกิดความผิดปกติในบริเวณดังกล่าวคงเป็นที่กังวลใจของสาว ๆ อยู่ไม่น้อย เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อความมั่นใจไปจนถึงการตั้งครรภ์เลยก็เป็นได้

โดยปกติแล้วช่องคลอดจะมีลักษณะเป็นท่อกล้ามเนื้อยืดหยุ่นได้ มีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร เป็นส่วนที่ต่อออกมาจากปากมดลูกถึงอวัยวะเพศภายนอก โดยบริเวณนี้สามารถยืดขยายรับอวัยวะของเพศชายและสามารถขยายออกได้ขณะคลอดลูก อวัยวะเพศหญิงในแต่ละบุคคลจะมีขนาด รูปทรง และสีที่แตกต่างกัน มีทั้งรูปทรงไข่ขนาดเล็กหรือรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ และมีสีชมพูอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลอมชมพูและแดงเข้ม

ช่องคลอด

การตรวจเช็กว่าช่องคลอดของเราปกติเป็นสิ่งสำคัญ บทความนี้จึงบอกเล่าถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในบริเวณดังกล่าว รวมถึงวิธีการตรวจเช็กบริเวณอวัยวะเพศที่สาว ๆ สามารถทำได้ด้วยตนเอง 

ความผิดปกติที่ช่องคลอด

อาการผิดปกติที่พบบ่อยในบริเวณดังกล่าวได้แก่

  • อาการเจ็บปวดจากเพศสัมพันธ์ โดยเป็นอาการเจ็บปวดบริเวณช่องคลอดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือในขณะมีเพศสัมพันธ์ 
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) และโรคหนองในเทียม (Chlamydia) ที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก และหากหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคซิฟิลิส (Syphilis) ไม่ได้เข้ารับการรักษา อาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  • ภาวะช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) โดยจะสังเกตได้จากตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นออกจากช่องคลอด อาจคันและรู้สึกเจ็บร่วมด้วย
  • คันช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของอาการเชื้อราในช่องคลอด
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ที่มีสาเหตุจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำหน้าที่เชื่อมมดลูกและผนังช่องคลอดเข้าด้วยกันเกิดการอ่อนแรง ทำให้มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้และผนังช่องคลอดเคลื่อนตัวลงจากตำแหน่งเดิมและอาจส่งผลให้ปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม 
  • อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น มะเร็งช่องคลอดหรือซีสต์ของช่องคลอด (Vaginal Cyst) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์และทำให้ใส่ผ้าอนามัยแบบสอดได้ยาก

ความผิดปกติของช่องคลอดเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเครียดจนกระทบต่อความมั่นใจในตนเองและปัญหาด้านความสัมพันธ์ได้ ดังนั้นการตรวจช่องคลอดเบื้องต้นด้วยตนเอง ก็จะช่วยให้สาว ๆ สามารถพบความผิดปกติได้เร็วยิ่งขึ้น

การตรวจช่องคลอดและอวัยวะเพศเบื้องต้นด้วยตนเอง

การตรวจด้วยตนเองในเบื้องต้นอาจช่วยให้พบร่องรอยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความผิดปกติในบริเวณผนังช่องคลอดและปากมดลูก การเปลี่ยนแปลงในบริเวณอวัยวะเพศหญิงภายนอกหรือความผิดปกติอื่น ๆ อย่างรอยด่าง แผลหรือตุ่มบวมที่อาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ได้

ทั้งนี้ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการทำการตรวจคือช่วงเวลาที่ไม่มีประจำเดือน โดยก่อนการทำการตรวจอวัยวะเพศเบื้องต้นด้วยตนเองนั้น จะต้องงดการใช้ครีมและงดการสวนล้างช่องคลอดเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ล้างมือให้สะอาดหรือสวมถุงมือปราศจากเชื้อและระวังการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากเล็บ และต้องจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการตรวจ ได้แก่ กระจก หมอน ผ้าขนหนู ไฟฉายขนาดเล็ก จากนั้นถึงเริ่มตรวจตามวิธีต่อไปนี้

  1. ถอดเสื้อผ้าตั้งแต่ระดับเอวลงมา นั่งลงบนเตียงหรือบนพื้นที่รองด้วยผ้าขนหนู โดยให้นั่งหลังพิงกับกำแพงและใช้หมอนรอง ชันเข่าขึ้นและแยกขาออก พยายามไม่เกร็งและอยู่ในท่าทางที่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณเชิงกราน
  2. ถือกระจกไว้ในตำแหน่งที่ตรงกับกระดูกเชิงกรานและใช้ไฟฉายขนาดเล็กตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศภายนอก ใช้นิ้วแยกแคมทั้งสองข้างออกจากกันอย่างเบามือและทำมุมตั้งฉากกับกระจก ส่องไฟฉายเพื่อให้เห็นภาพภายในช่องคลอด 
  3. หากเป็นการตรวจครั้งแรก อาจใช้แผนภาพรายละเอียดของอวัยวะเพศหญิงช่วยเปรียบเทียบลักษณะทั่วไปและตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น รอยฉีก แผล หรือก้อนเนื้อขนาดเล็ก เป็นต้น  
  4. อาจจดบันทึกขนาดและสีของบริเวณต่าง ๆ ของอวัยวะเพศ เพื่อให้สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายในการตรวจครั้งต่อไป
  5. หากสามารถสอดนิ้วเข้าไปยังช่องคลอดได้ให้ค่อย ๆ สอดนิ้วเข้าไป ซึ่งสัมผัสภายในช่องคลอดจะสัมผัสคล้ายกับเพดานปาก หากพบว่ามีบาดแผล มีอาการเจ็บ หรือสงสัยสิ่งผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย หากไม่มั่นใจกับการสอดนิ้วก็สามารถข้ามขัั้นตอนนี้ได้
  6. ดึงนิ้วออกช้า ๆ ตรวจดูตกขาวหรือของเหลว หากมีสีผิดปกติหรือมีกลิ่นควรไปพบแพทย์

ทั้งนี้ การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวเป็นเพียงการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น สาว ๆ ยังคงจำเป็นจะต้องเข้ารับการตรวจภายในโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอเพื่อตรวจหาปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างละเอียด เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian Cysts) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroid) และอาการผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกาย 

การดูแลช่องคลอด

ถึงแม้ว่าช่องคลอดจะสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ด้วยน้ำเมือกปกติภายใน แต่การล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศหญิงภายนอกอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้เกิดความสะอาดด้วยเช่นกัน โดยหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดด้วยสบู่เหลวผสมน้ำหอมและยาฆ่าเชื้อ (Antiseptics) แต่ควรใช้สบู่สูตรอ่อนโยนเพื่อป้องกันการระคายเคืองและรักษาสมดุลของแบคทีเรียชนิดดีและคงค่าความเป็นกรด-ด่างภายในช่องคลอด

นอกจากการทำความสะอาดอย่างถูกวิธีแล้ว การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย รับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีน HPV การฝึกให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงและกระชับ รวมถึงการจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่สูบบุหรี่ ก็มีความสำคัญต่อสุขภาพไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตามหากพบลักษณะผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นหูดหงอนไก่ ตุ่ม รอย สีผิดปกติในบางจุด ตกขาวมีกลิ่นรุนแรง หรือความผิดปกติอื่น ๆ ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะการปล่อยความผิดปกติทิ้งไว้ อาจทำให้ยากต่อการรักษา และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในอนาคต