ซีเซียม–137 (Caesium-137) คือสารกัมมันตรังสีซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวหรือเป็นผงฝุ่นที่สามารถแผ่กัมมันภาพรังสีออกมาได้ โดยซีเซียมถูกนำมาใช้ในเครื่องมือหลายอย่าง เช่น เครื่องตรวจจับรังสี เครื่องวัดความหนา และเครื่องมือรักษามะเร็ง ซีเซียม–137 จึงเป็นสารอันตรายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หากมีมาตรการควบคุมความปลอดภัยที่เหมาะสม
ซีเซียม–137 เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่สามารถพบได้ทั่วไปในอากาศ เพราะเคยแพร่กระจายจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในอดีต และเพราะเป็นธาตุที่มีค่าครึ่งชีวิตมากถึง 30 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วซีเซียมในปริมาณเล็กน้อยจะไม่สร้างอันตรายต่อชีวิตในทันที แต่หากสูดดม กินอาหารและน้ำที่มีซีเซียมปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องก็อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็ง รวมถึงหากสัมผัสโดยตรงในปริมาณมากก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ทำความรู้จักอันตรายจากซีเซียม–137
อันตรายที่เกิดจากกัมมันตภาพรังสีต่อร่างกายนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ช่องทางที่ได้รับรังสี ระยะเวลา และปริมาณ รวมถึงประเภทของรังสี และปัจจัยส่วนบุคคลอย่าง เพศ อายุ หรือโรคประจำตัว ซึ่งโดยปกติแล้วการถูกรังสีในปริมาณน้อยจะไม่ส่งผลต่อสุขภาพมากนัก เพราะร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่การสัมผัสกับซีเซียมปริมาณน้อยและปริมาณมากก็อาจส่งผลต่อสุขภาพ ดังนี้
1. เสี่ยงเป็นมะเร็ง
การสัมผัสซีเซียม–137 ผ่านการหายใจเอาละอองฝุ่นที่มีซีเซียม กินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนในปริมาณน้อยอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งในอนาคตได้ เนื่องจากซีเซียมสามารถปล่อยรังสีแกมม่าพลังงานสูง ซึ่งมีพลังทะลุทลวงและสามารถเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อ เซลล์ และดีเอ็นเอภายในร่างกายจนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
2. กลุ่มอาการเฉียบพลันจากรังสี (Acute Radiation Syndrome)
การสัมผัสซีเซียม–137 อาจส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการเฉียบพลันจากรังสี ซึ่งเป็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารกัมมันตรังสีในปริมาณมาก โดยอาการในรอบแรก เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาจเกิดได้ในทันทีหรือหลายวันถัดมาหลังสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี
จากนั้นผู้ที่มีอาการอาจกลับมาหายดีอยู่สักพักหนึ่ง ก่อนจะเกิดอาการรอบที่สองซึ่งอาจจะหนักกว่าเดิมขึ้นอยู่กับปริมาณที่สัมผัสสาร อาการรอบที่สอง ได้แก่
- อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง
- ไม่มีความอยากอาหาร
- มีไข้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือดเนื่องจากเลือดออกภายใน
- ผมร่วง
- ผิวบวม คัน ไหม้ พุพอง
- ติดเชื้อ
- ชัก หรือโคม่า
กลุ่มอาการเฉียบพลันจากรังสีสามารถเกิดได้แม้ว่าจะสัมผัสสารกัมมันตรังสี หรือซีเซียม–137 เป็นเวลาสั้น ๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากการกระจายของสารกัมมันตรังสีปริมาณมากจะเกิดก็ต่อเมื่ออุปกรณ์ที่ใช้สารเสียหาย ระเบิด หรือมีอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมนิวเคลียร์
วิธีป้องกันซีเซียม–137
หากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอุปกรณ์กัมมันตรังสีเสียหาย เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ซีเซียม–137 ควรป้องกันตัวเองด้วยการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่ปนเปื้อน และทำตามคำแนะนำจากหน่วยงานรัฐ
แต่หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เกิดอุบัติเหตุในโรงงานนิวเคลียร์ ควรอยู่แต่ในบ้าน ปิดประตู หน้าต่าง รวมถึงปิดแอร์ให้หมดและเลือกอยู่ในห้องที่มีทางออกสู่ภายนอกน้อยเพื่อป้องกันรังสีที่อาจทะลุเข้ามา แล้วคอยติดตามข่าวสารจากรัฐบาล
สำหรับผู้ที่สัมผัสกับซีเซียม–137 ในปริมาณเล็กน้อย ร่างกายจะสามารถขับสารกัมมันตรังสีออกไปได้เองผ่านทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่อาจใช้เวลานานเนื่องจากซีเซียมมีค่าครึ่งชีวิตในร่างกาย 110 วัน ดังนั้นแพทย์อาจให้ยาปรัสเซียนบลู (Prussian Blue) ซึ่งจะช่วยดักจับซีเซียมในลำไส้ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย และลดเวลาที่ซีเซียมจะอยู่ในร่างกายลงเหลือแค่ประมาณ 30 วัน
ซีเซียม–137 อาจดูเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่อันตราย แต่การกระจายของสารกัมมันตรังสีปริมาณมากนั้นเกิดได้ยาก อย่างไรก็ตาม หากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ทำให้ซีเซียมกระจายมายังพื้นที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ก็ไม่ควรตื่นตระหนก แต่ให้คอยติดตามข่าวสาร ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐ และคอยหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดกับร่างกาย โดยควรไปพบแพทย์หากสงสัยว่าอาจมีอาการจากการสัมผัสซีเซียม–137