ซูชิ เป็นอาหารญี่ปุ่นที่คนไทยนิยมรับประทานกันอย่างมาก นอกจากจะมีรสชาติที่ถูกปากใครหลายคนแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายซึ่งถูกใจบรรดาคนรักสุขภาพด้วย เพราะส่วนผสมหลักของซูชิ ไม่ว่าจะเป็นปลา วาซาบิ สาหร่าย และขิงดอง ต่างก็ประกอบด้วยสารอาหารสำคัญมากมายที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย
ซูชิ เมนูสุขภาพยอดนิยม
ซูชิ เป็นเมนูอาหารที่ทำโดยนำข้าวมาผสมกับน้ำส้มสายชู จากนั้นนำไปปั้นเป็นก้อนแล้วใส่หน้าเนื้อสัตว์ เนื้อปลาดิบ หรือผัก บางครั้งอาจห่อด้วยสาหร่าย มักรับประทานคู่กับซอสถั่วเหลือง วาซาบิ และขิงดอง
โดยส่วนประกอบต่าง ๆ ของซูชิที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีดังนี้
ปลา
ปลาเป็นแหล่งโปรตีน ไอโอดีน รวมถึงวิตามินและเกลือแร่หลายชนิด โดยเฉพาะปลาแซลมอนและปลาแมคเคอเรล ซึ่งเป็นปลาจำพวกที่มีกรดไขมันจำเป็นและวิตามินดีสูง ซึ่งวิตามินดีเป็นสารที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับจากอาหารหรือแสงแดด มีหน้าที่สำคัญในการช่วยดูดซึมแคลเซียม รวมทั้งรักษาสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัส และปลาเหล่านี้ยังมีโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีส่วนช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีงานวิจัยที่พบว่า โอเมก้า 3 อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วย
ในปัจจุบัน มีงานวิจัยบางส่วนศึกษาประโยชน์ต่อสุขภาพจากการรับประทานปลา ซึ่งพบผลลัพธ์ที่ว่า การบริโภคปลาในปริมาณที่พอเหมาะอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแพ้ภูมิตนเอง โรคซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม รวมถึงปัญหาสายตาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
สาหร่าย
ประกอบไปด้วยสารอาหารสำคัญหลายชนิด ทั้งแมกนีเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม เหล็ก ไอโอดีน ไทอะมีนหรือวิตามินบี 1 วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี อีกทั้งยังจัดเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงเช่นเดียวกับถั่วเหลืองด้วย โดยมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าสารบางชนิดในสาหร่ายอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน และมีงานค้นคว้าชิ้นหนึ่งได้ศึกษาคุณสมบัติของสาหร่ายในด้านนี้ โดยให้อาสาสมัครที่เป็นโรคเบาหวานรับประทานอาหารเสริมที่แปรรูปมาจากสาหร่ายวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าอาสาสมัครมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่งานวิจัยนี้ทดลองด้วยการใช้อาหารเสริมที่แปรรูปมาจากสาหร่าย ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพแตกต่างจากการใช้สาหร่ายสดหรือสาหร่ายในรูปแบบอื่นได้เช่นกัน
นอกจากนั้น มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า แอลจิเนต ซึ่งเป็นสารที่สกัดได้จากสาหร่ายโดยเฉพาะสาหร่ายสีน้ำตาลอาจช่วยลดน้ำหนักได้ เพราะเมื่อแอลจิเนตสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหาร สารชนิดนี้จะกลายเป็นเจลพองตัวอยู่ในกระเพาะอาหาร จึงอาจมีคุณสมบัติช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้นและไม่อยากอาหาร อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นยังคงมีข้อจำกัด เพราะอาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการทดลองและทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนไปได้ จึงจำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิผลที่แท้จริงของสาหร่ายในด้านนี้ต่อไป
วาซาบิ
มีสารอาหารสำคัญหลายชนิดอยู่ในวาซาบิ ทั้งเบต้าแคโรทีน กลูโคซิโนเลต และไอโซไทโอไซยาเนต ซึ่งเชื่อว่าอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และต้านมะเร็งได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่า สารอัลลิลไอโซไทโอไซยาเนทในวาซาบิอาจมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้ออีโคไลและเชื้อสแตฟิโลค็อกคัสออเรียสในอาหาร ซึ่งล้วนเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่ค้นพบด้วยว่าสารดังกล่าวสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ในช่องปาก อันเป็นสาเหตุของฟันผุได้อีกด้วย
แม้อาจมีประโยชน์หลายประการ แต่วาซาบิที่ถูกวางจำหน่ายตามท้องตลาดบางยี่ห้ออาจเป็นวาซาบิสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นจากต้นฮอร์สแรดิช ผงมัสตาร์ด และสีผสมอาหาร ซึ่งให้สารอาหารแตกต่างกับวาซาบิแท้ที่แปรรูปจากต้นวาซาบิ ดังนั้น ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อน เพื่อให้ทราบส่วนประกอบก่อนบริโภควาซาบิชนิดนั้น
ขิงดอง
เป็นแหล่งโพแทสเซียม แมกนีเซียม ทองแดง และแมงกานีส โดยมีงานวิจัยที่พบว่า ขิงดองอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเซลล์มะเร็ง อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่าขิงดองอาจช่วยเสริมสมรรถภาพความจำ ลดอาการคลื่นไส้ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อหรือปวดข้อต่อ ลดอาการปวดประจำเดือน และลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล แต่งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาในห้องทดลอง และมีตัวอย่างทดลองที่ค่อนข้างจำกัด จึงจำเป็นต้องมีการค้นคว้ากับคนเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ข้อควรระวังของการรับประทานซูชิ
แม้ซูชิจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ผู้บริโภคควรรับประทานแต่พอดีและระมัดระวังความเสี่ยงดังต่อไปนี้
- ซูชิมีคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวหรือน้ำตาลและมีแป้งขัดสีในปริมาณสูง หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคหัวใจ
- ซูชิมีเกลือเป็นส่วนผสม การรับประทานเกลือในปริมาณมากอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ปลาดิบหรืออาหารทะเลดิบที่นิยมนำมาทำเป็นหน้าซูชิ อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหลายชนิด เช่น อาหารเป็นพิษ พยาธิใบไม้ตับ เป็นต้น โดยผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออย่างหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานซูชิหน้าปลาหรืออาหารทะเลดิบ นอกจากนั้น ปลาบางชนิดอาจมีพิษหรือเสี่ยงปนเปื้อนสารพิษอย่างปรอท ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้