ดอกคำฝอย เป็นพืชสมุนไพรที่มีสารประกอบหลากชนิด เชื่อกันว่าดอกคำฝอยอาจมีคุณประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ระดับความดันโลหิต และอาจดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ยังมีการนำดอกคำฝอยไปใช้ประกอบอาหาร ใช้เป็นสีย้อมผ้า และเป็นสารเพิ่มสีสันในเครื่องสำอางอีกด้วย
น้ำมันจากดอกคำฝอยอุดมไปด้วยกรดไขมันไลโนเลอิก (Linoleic Acid) และกรดโอเลอิก (Oleic Acid) กรดปาลมิติก (Palmitic Acid) กรดสเตียริก (Stearic Acid) รวมถึงกรดไขมันชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด ส่วนเมล็ดของดอกคำฝอยประกอบไปด้วยสารกลุ่มลิกแนน ไกลโคไซด์ (Lignan Glycoside) และสารเซโรโทนิน (Serotonin)
ดอกคำฝอยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายจริงหรือไม่ มีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนพิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ ของดอกคำฝอยไว้ ดังนี้
ดอกคำฝอยกับการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
คอเลสเตอรอลในร่างกายส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นที่ตับ แต่พบในอาหารได้ด้วย เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ เป็นต้น หากรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงมากเกินไป อาจเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ มีความเชื่อที่ว่าการรับประทานน้ำมันจากดอกคำฝอยอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ จากการศึกษาด้านนี้พบว่าผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูงที่รับประทานน้ำมันจากดอกคำฝอยผสมกับน้ำมันรำข้าวเป็นเวลา 3 เดือน มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลงต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ให้ผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูงรับประทานน้ำมันจากดอกคำฝอยเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ผสมกับน้ำมันรำข้าว 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ประสิทธิภาพการลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีอาจมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากประสิทธิภาพของน้ำมันดอกคำฝอยร่วมด้วย อีกทั้งยังเป็นงานวิจัยขนาดเล็กที่มีผู้เข้าร่วมทดลองน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพในด้านดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ดอกคำฝอยกับการลดความดันโลหิต
ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่าง เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาจช่วยให้ความดันโลหิตอยู่ในระดับที่เหมาะสม และเป็นผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากดอกคำฝอยประกอบด้วยสารที่ออกฤทธิ์ต่อหลอดเลือดแดง เช่น สารพอลีฟีนอล (Polyphenols) และสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่อาจช่วยยับยั้งไขมันชนิดที่ไม่ดี (LDL) ลดการก่อตัวของพลัค (Plaques) ตามผนังหลอดเลือด จึงเชื่อว่าดอกคำฝอยอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับความดันโลหิต จากผลการวิจัยประสิทธิภาพสารสกัดจากเมล็ดดอกคำฝอย นักวิจัยแนะนำว่าการบริโภคสารสกัดจากเมล็ดดอกคำฝอยเป็นเวลานานค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย และอาจช่วยบรรเทาภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของดอกคำฝอยให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป
ดอกคำฝอยกับโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หากไม่รักษาจะทำให้เส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายเสียหาย วิธีการรักษาโรคเบาหวาน คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งทำได้หลายวิธี รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ด้วย หลายคนเชื่อว่าการรับประทานดอกคำฝอยอาจส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด จากผลการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของน้ำมันจากดอกคำฝอยที่ทดลองกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 พบว่าการรับประทานน้ำมันจากดอกคำฝอยวันละ 8 กรัม เป็นเวลา 16 สัปดาห์ อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มระดับไขมันชนิดที่ดี (HDL) ได้ อีกทั้งการรับประทานน้ำมันจากดอกคำฝอยวันละ 8 กรัม อาจส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดและอาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักได้อีกด้วย
แม้งานค้นคว้านี้จะแสดงถึงประสิทธิภาพของดอกคำฝอย แต่เป็นเพียงการศึกษากับผู้เข้าร่วมการทดลองบางกลุ่ม และบางงานวิจัยพบว่าการรับประทานดอกคำฝอยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันประโยชน์ของดอกคำฝอยที่มีต่อผู้ป่วยเบาหวานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
รับประทานดอกคำฝอยอย่างไรให้ปลอดภัย
การบริโภคน้ำมันจากดอกคำฝอยค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้
- หญิงตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร การรับประทานน้ำมันจากเมล็ดดอกคำฝอยอาจปลอดภัยสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ห้ามรับประทานดอกคำฝอย เพราะอาจทำให้มดลูกบีบตัวหรือเป็นเหตุให้แท้งลูก ส่วนผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จากดอกคำฝอย เนื่องจากมีข้อมูลด้านความปลอดภัยไม่เพียงพอ
- ผู้ที่เผชิญภาวะมีเลือดออก เช่น โรคริดสีดวงทวาร มีแผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้ หรือมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด ห้ามรับประทานดอกคำฝอย เพราะอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง
- ผู้ที่แพ้ดอกคำฝอยหรือพืชในตระกูลทานตะวัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์จากดอกคำฝอย เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากน้ำมันจากดอกคำฝอยอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลง การบริโภคน้ำมันดอกคำฝอยจึงอาจส่งผลต่อการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้
- ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานผลิตภัณฑ์จากดอกคำฝอยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะดอกคำฝอยอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยมีเลือดออกมากในระหว่างและหลังการผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง เช่น แอสไพริน โคลพิโดเกรล ไดโคลฟีแนค ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน อีนอกซาพาริน เฮพาริน วาร์ฟาริน เป็นต้น เพราะการบริโภคดอกคำฝอยในระหว่างการใช้ยาดังกล่าว อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงจนเสี่ยงเกิดแผลฟกช้ำ และทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น