ดีเฟอร์ร็อกซามีน (Deferoxamine)
Deferoxamine (ดีเฟอร์ร็อกซามีน) เป็นยารักษาภาวะธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินอย่างฉับพลันหรืออย่างเรื้อรังจากหลายสาเหตุ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ช่วยให้ไตและถุงน้ำดีกำจัดธาตุเหล็กในร่างกายได้ดีขึ้น บางกรณีอาจใช้รักษาภาวะระดับอะลูมิเนียมในร่างกายเกิน และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Deferoxamine
กลุ่มยา | ยาขับเหล็ก (Chelating Agent) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | กำจัดธาตุเหล็กในร่างกาย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีดทางใต้ผิวหนังหรือหลอดเลือดดำ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ สตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา |
คำเตือนในการใช้ยา Deferoxamine
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Deferoxamine ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Deferoxamine เกี่ยวกับประวัติแพ้ยาต่าง ๆ รวมถึงกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาใด ๆ อยู่ก่อนแล้ว เช่น วิตามินซี ยารักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียน
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ก่อนใช้ยา Deferoxamine โดยเฉพาะโรคไตขั้นรุนแรง ไม่สามารถปัสสาวะได้ กำลังได้รับการรักษาด้วยวิธีฟอกเลือด โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ แคลเซียมในเลือดต่ำ ระดับอะลูมิเนียมในร่างกายเกิน ฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง มีปัญหาในการมองเห็นหรือการได้ยิน
- ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินซีระหว่างที่ใช้ยา Deferoxamine หากไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Deferoxamine หากเข้ารับการเอกซเรย์ร่วมกับการฉีดสีเข้าหลอดเลือด
- ในช่วงก่อนหรือหลังใช้ยา Deferoxamine แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการตรวจตาและการได้ยิน เพื่อตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ
- สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Deferoxamine
- ผู้สูงอายุที่ต้องใช้ยา Deferoxamine ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
- การใช้ยา Deferoxamine ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี อาจกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- การใช้ยา Deferoxamine อาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือง่วงซึมได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ปริมาณการใช้ยา Deferoxamine
ปริมาณการใช้ยา Deferoxamine จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การรักษา และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น
การตรวจระดับธาตุเหล็กในร่างกาย
ตัวอย่างการใช้ยา Deferoxamine เพื่อตรวจวัดระดับธาตุเหล็กในร่างกาย
ผู้ใหญ่ แพทย์จะฉีดยาในปริมาณ 500 มิลลิกรัมเข้ากล้ามเนื้อของผู้ป่วย จากนั้นภายใน 6 ชั่วโมง แพทย์จะตรวจระดับธาตุเหล็กของผู้ป่วยจากปัสสาวะเป็นระยะ
ภาวะเหล็กเกินเรื้อรัง
ตัวอย่างการใช้ยา Deferoxamine เพื่อรักษาภาวะเหล็กเกินเรื้อรัง
ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกจะให้ยาในปริมาณ 500 มิลลิกรัม โดยหยดยาช้า ๆ ผ่านทางหลอดเลือดดำเป็นระยะเวลา 8–12 ชั่วโมงหรือ 24 ชั่วโมง หรือฉีดยาเข้าทางใต้ผิวหนัง จากนั้นอาจปรับปริมาณยาเป็น 20–60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยความถี่จะอยู่ที่ประมาณ 3–7 วัน/1 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
ในบางกรณีอาจฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อแทน ในช่วงแรกจะให้ยาปริมาณ 0.5–1 กรัม วันละ 1 ครั้ง อาจฉีดเพียงครั้งเดียวหรือแบ่งฉีดเป็น 2 เข็ม จากนั้นจะปรับปริมาณยาตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
ภาวะเป็นพิษจากเหล็กแบบเฉียบพลัน
ตัวอย่างการใช้ยา Deferoxamine เพื่อรักษาภาวะเป็นพิษจากเหล็กแบบเฉียบพลัน
เด็ก ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียวในปริมาณ 1 กรัม
ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกจะให้ยาในปริมาณ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/1 ชั่วโมง และค่อย ๆ ลดปริมาณยาลงหลังจากผ่านไป 4–6 ชั่วโมง เพื่อควบคุมปริมาณยาให้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/24 ชั่วโมง หรือฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียวในปริมาณ 2 กรัม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
ภาวะอะลูมิเนียมเกิน
ตัวอย่างการใช้ยา Deferoxamine เพื่อรักษาภาวะอะลูมิเนียมเกินสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย และผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในช่วงฟอกเลือด
ผู้ใหญ่ ให้ยาในปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ ในช่วง 1 ชั่วโมงสุดท้ายของการฟอกเลือด หรือ 5 ชั่วโมงก่อนฟอกเลือดหากผู้ป่วยมีอาการขั้นรุนแรง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ในกรณีที่ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง จะให้ยาในปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในช่วงก่อนล้างไตครั้งสุดท้ายในแต่ละวัน โดยรูปแบบการให้ยาจะขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน
การตรวจระดับอะลูมิเนียมในร่างกาย
ตัวอย่างการใช้ยา Deferoxamine เพื่อตรวจวัดระดับอะลูมิเนียมในร่างกาย
ผู้ใหญ่ ให้ยาในปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำในช่วง 1 ชั่วโมงสุดท้ายของการฟอกเลือด จากนั้นแพทย์จะนัดตรวจวัดระดับความเข้มข้นของอะลูมิเนียมในร่างกายอีกครั้งในช่วงก่อนการฟอกเลือดครั้งถัดไป
การใช้ยา Deferoxamine
ยา Deferoxamine เป็นยาชนิดฉีดที่ต้องฉีดอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะนัดผู้ป่วยเป็นระยะเพื่อตรวจดูอาการและการตอบสนองต่อยา ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งหากลืมไปพบแพทย์ตามนัด
ในระหว่างที่ใช้ยา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินซีร่วมด้วย โดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมให้ และหากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจวาย หรือโรคประจำตัวอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เนื่องจากใช้ยา Deferoxamine ร่วมกับวิตามินซีในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อหัวใจได้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Deferoxamine
การใช้ยา Deferoxamine อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น ผิวแดงและระคายเคืองบริเวณที่ฉีดยา ปัสสาวะมีสีแดงปน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เกิดผื่น รู้สึกชาหรือเหมือนมีเข็มทิ่มตามร่างกาย เกิดรอยฟกช้ำหรือมีเลือดออก
ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการในข้างต้นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง และควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการที่มีความรุนแรง เช่น
- เกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น หายใจลำบาก หรือเกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด การมองเห็นตอนกลางคืนแย่ลง มองเห็นสีเปลี่ยนไป มองเห็นวงแหวนกระจายรอบดวงไฟ หรือภาพบริเวณลานสายตามีปัญหา
- ปวดดวงตาหรือบริเวณด้านหลังดวงตา หรือเกิดจุดมัวในดวงตา
- ได้ยินเสียงดังในหู ได้ยินเสียงต่าง ๆ เบาลง หรือสูญเสียการได้ยิน
- มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ไข้ขึ้น ท้องเสียหรือปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีสัญญาณของกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome) เช่น หายใจไม่อิ่มขั้นรุนแรงอย่างฉับพลัน หายใจลำบาก หายใจหอบถี่ หรือเวียนศีรษะขั้นรุนแรง
- อาการผิดปกติรุนแรงอื่น ๆ เช่น เป็นลม ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย อุจจาระเหลวหรือปนเลือดขั้นรุนแรงร่วมกับอาการปวดท้อง ร่างกายรู้สึกร้อนหรือแดงผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกระดูก สับสน พูดลำบาก มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ หรือชัก