หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า การดื่มน้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งช่วยลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย รักษาระดับความดันโลหิต ช่วยในการย่อยอาหาร ป้องกันการเกิดอาการท้องผูก และประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำในปริมาณที่มากเกินพอดีอาจส่งผลให้เซลล์ในร่างกายเกิดอาการบวม และระดับแร่ธาตุในร่างกายเกิดการเจือจางและเสียสมดุล โดยเฉพาะโซเดียม ซึ่งอาจนำไปสู่อาการผิดปกติทางร่ายกายตามมา
สัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังดื่มน้ำมากเกินไป
- ลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น และปัสสาวะเริ่มเปลี่ยนสี
การลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นถือเป็นสัญญาณแรก ๆ ที่กำลังบ่งบอกถึงการดื่มน้ำที่มากเกินไป โดยจำนวนการเข้าห้องน้ำในหนึ่งวันจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6–8 ครั้งต่อวัน และสัญญาณอีกอย่างที่มักพบได้เมื่อดื่มน้ำมากเกินไปคือ สีของปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีใส ซึ่งสีของน้ำปัสสาวะในสภาวะที่ร่างกายเป็นปกติหรือได้รับน้ำที่เพียงพอ ควรจะเป็นสีเหลืองใสอ่อน ๆ
- พบอาการผิดปกติบางอย่างทางร่างกาย
การดื่มน้ำในปริมาณมากมักไม่พบอาการผิดปกติในช่วงแรก แต่หากยังดื่มน้ำปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ไตไม่สามารถขับน้ำออกไปได้หมด และอาจเกิดอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย รวมถึงทำให้ไตทำงานหนักขึ้นจนร่างกายเกิดความเครียดและอาการอ่อนเพลียตามมา
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการดื่มน้ำมากเกินไปอาจส่งผลให้เซลล์ในร่างกายมีน้ำไปสะสมอยู่จนเกิดอาการบวม ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจนำไปสู่อาการผิดปกติบางอย่างได้ เช่น อาการมึนงง สับสน ปวดศีรษะ และง่วงซึมจากการที่เซลล์ในสมองบวมจนสมองได้รับแรงกดทับ หรือบริเวณริมฝีปาก เท้า และมือ มีอาการบวมและเปลี่ยนสีไปจากการที่เซลล์บริเวณดังกล่าวบวม
นอกจากนี้ การดื่มน้ำที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ระดับแร่ธาตุในร่างกายลดลงผิดปกติ โดยเฉพาะโซเดียม ส่งผลให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อหรือตะคริว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจนำไปสู่ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการชัก สูญเสียการรับรู้รอบตัว โคม่าไปจนถึงการเสียชีวิตได้
ดื่มน้ำมากเกินไปไม่เป็นผลดี แล้วควรดื่มน้ำปริมาณเท่าไร
การดื่มน้ำควรอยู่ในปริมาณที่พอดีต่อความต้องการของร่างกาย ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไปหรือดื่มน้ำน้อยเกินไป โดยปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น กิจกรรมที่ทำ เพศ น้ำหนักตัว และสภาพอากาศที่อาศัยอยู่ เป็นต้น
ในเบื้องต้นอาจลองคำนวณปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมได้จากการนำน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมหารด้วย 30 ก็จะได้ปริมาณน้ำหน่วยเป็นลิตรที่ร่างกายต้องการในหนึ่งวัน ตัวอย่างเช่น หากน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ก็ควรจะดื่มน้ำให้ได้ประมาณวันละ 1.66 ลิตรต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เสียเหงื่อมากเป็นประจำ สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร มีไข้ มีอาการอาเจียน ท้องเสีย กำลังป่วยเป็นโรคบางชนิด และคนที่ออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติเล็กน้อยหรือดื่มตามคำแนะนำของแพทย์
ทั้งนี้ แม้จะคำนวณปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมอย่างคร่าว ๆ ในแต่ละวันมาแล้ว แต่ควรแบ่งปริมาณการดื่มน้ำในระหว่างวันให้เหมาะสม โดยอาจสังเกตจากสัญญาณของร่างกาย อย่างความรู้สึกกระหายน้ำ ซึ่งการดื่มน้ำที่ดีควรจิบทีละน้อยตลอดทั้งวัน ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไปในเวลาสั้น ๆ หรือดื่มน้ำมากกว่า 1 ลิตรภายใน 1 ชั่วโมงติดต่อกัน