ดูดไขมัน ขั้นตอนและข้อควรรู้ประกอบการตัดสินใจ

การดูดไขมัน (Liposuction) เป็นกระบวนการศัลยกรรมเพื่อความงามชนิดหนึ่ง ที่แพทย์จะใช้เทคนิคในการดูดไขมันส่วนเกินในชั้นใต้ผิวหนังออกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเฉพาะจุด ซึ่งเป็นจุดที่ลดไขมันได้ยากแม้ว่าจะควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้ว เช่น หน้าท้อง สะโพก ต้นขา ก้น แขน หรือคอ

โดยทั่วไป การดูดไขมันจะมีอยู่ 2 วิธีคือ วิธีแบบดั้งเดิมที่แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึก และวิธีปัจจุบันที่แพทย์จะดูดไขมันด้วยเทคนิคที่มีชื่อว่า Tumescent ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์จะให้ยาชาและน้ำเกลือที่เนื้อเยื่อไขมัน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน

ดูดไขมัน

ข้อควรรู้ก่อนดูดไขมัน

แม้วิธีดูดไขมันจะเป็นการรักษาที่ช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินได้ แต่การดูดไขมันไม่ใช่วิธีการรักษาหลักของผู้ที่เป็นโรคอ้วน เนื่องจากวิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีรูปร่างและน้ำหนักตัวที่ปกติที่ต้องการจะมีสัดส่วนที่ในแบบที่ต้องการ หรือผู้ที่มีการสะสมของไขมันที่กำจัดได้ยากแม้จะมีการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ การดูดไขมันยังเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยง ซึ่งผู้เข้ารับการดูดไขมันต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี โดยที่อย่างน้อยต้องมีน้ำหนักตัวใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีผิวหนังที่กระชับ ไม่สูบบุหรี่ และที่สำคัญ แพทย์อาจไม่แนะนำให้ดูดไขมันหากผู้ที่เข้ารับการรักษามีปัญหาสุขภาพบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง

การเตรียมความพร้อมก่อนการดูดไขมัน

ก่อนจะทำการดูดไขมัน ต้องมีการปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ถึงความคาดหวังและเป้าหมายของการศัลยกรรมดูดไขมัน และมีการตรวจสอบประวัติและตรวจสอบทางการแพทย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา การใช้ยารักษาโรค อาหารเสริม หรือการใช้สมุนไพรชนิดใด ๆ

จากนั้น แพทย์จะแนะนำให้หยุดใช้ยาบางชนิดก่อนการเข้ารับการดูดไขมันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เช่น ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด หรือยาลดการอักเสบ (NSAIDs)

ขั้นตอนการดูดไขมัน

การศัลยกรรมดูดไขมัน เป็นการดูดไขมันที่ไม่ต้องการในบริเวณต่าง ๆ ในร่างกายออกด้วยการใช้ท่อขนาดเล็กและอุปกรณ์สุญญากาศดูดไขมันบริเวณที่ต้องการออก โดยขั้นตอนหลัก ๆ ของการดูดไขมัน ได้แก่

  1. ฉีดสารละลายน้ำเกลือ (Saline) ซึ่งประกอบด้วยยาชาและอะดรีนาลีนเข้าไปในเนื้อเยื่อไขมันเพื่อช่วยระงับความรู้สึกและลดการเสียเลือด ข้อดีของการดูดไขมันด้วยเทคนิคนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย ช่วยให้สามารถนำไขมันออกมาได้ง่าย และช่วยลดความรู้สึกไม่สบายตัวต่าง ๆ หลังขั้นตอนการดูดไขมัน นอกจากนั้นยังช่วยลดรอยช้ำและอาการบวม
  2. แพทย์จะใส่ท่อขนาดเล็กลงในเนื้อเยื่อไขมัน และใช้อุปกรณ์สุญญากาศดูดไขมันในบริเวณที่ต้องการ
  3. หลังจากทำเสร็จแล้วแพทย์จะใช้ผ้าพันแผลพันรอบบริเวณที่ดูดไขมันเพื่อช่วยลดอาการบวมและทำให้แผลหายได้ง่ายยิ่งขึ้น

ระยะเวลาการดูดไขมันส่วนใหญ่มักอยู่ที่ประมาณ 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับประเภทของการดูดไขมัน และหลังจากดูดไขมันเสร็จ แพทย์อาจแนะนำให้สังเกตอาการอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติ ผู้ที่เข้ารับการดูดไขมันมักไม่จำเป็นต้องค้างหรือพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

การดูแลตัวเองหลังการดูดไขมัน

หลังจากขั้นตอนการดูดไขมันเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ศัลยแพทย์อาจให้สวมใส่ชุดบีบกระชับสัดส่วนเป็นเวลาประมาณ 1–2 เดือน เพื่อช่วยในการควบคุมอาการบวมที่เกิดขึ้น และอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในบางราย

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ารับการดูดไขมันโดยส่วนใหญ่จะสามารถกลับมาทำงานได้ภายในไม่กี่วัน และสามารถกลับมาทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ แต่บางกรณีก็อาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

ผลข้างเคียงของการดูดไขมัน

หลังจากการดูดไขมันเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้ารับการรักษาอาจจะมีน้ำไหลซึมออกจากแผลได้ แต่อาการมักเกิดเพียงไม่กี่สัปดาห์ นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ได้พบได้บ่อยก็เช่น

  • มีการบวมและช้ำ ซึ่งอาจเป็นนานถึง 6 เดือน
  • มีอาการชา ซึ่งจะหายไปเองภายใน 6–8 สัปดาห์
  • เกิดรอยแผลเป็น 
  • เกิดการอักเสบในบริเวณที่รับการรักษา
  • มีการสะสมของของเหลว เป็นถุงใต้ผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น

  • เกิดเป็นก้อนไม่สม่ำเสมอบริเวณที่ดูดไขมัน
  • การเปลี่ยนแปลงของสีผิวบริเวณที่ได้รับการรักษา
  • มีอาการห้อเลือด 
  • เกิดอาการชาเป็นระยะเวลาหลายเดือน
  • อาจสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะภายในระหว่างขั้นตอนการดูดไขมัน เช่น เข็มหรือท่อแทงทะลุลำไส้
  • ภาวะไขมันหรือลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด 
  • มีเลือดออกมาก
  • เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • ติดเชื้อ
  • แพ้ยาชา
  • ปอดบวมน้ำ หัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

สุดท้ายนี้ แม้การดูดไขมันจะช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินได้ แต่ผู้เข้ารับการรักษาก็ยังอาจมีไขมันเพิ่มมาได้ใหม่ หรือมีน้ำหนักเพิ่มได้อีก หากไม่ดูแลการรับประทานอาหารหรือไม่ได้ออกกำลังกาย ดังนั้น เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ผู้ที่เข้ารับการดูดไขมันควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่ต่อไปด้วย