แม้การดูทีวีหรือดูวิดีโอผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ จะช่วยเปิดโลกกว้างให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมาย รวมทั้งอาจสร้างแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อเด็กจากการได้เห็นตัวอย่างที่ดี แต่เนื้อหาที่ปรากฏในทีวีและบนอินเตอร์เน็ตนั้น ก็มีบางส่วนที่ไม่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชนเช่นกัน ซึ่งล้วนส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของเด็กได้ ทั้งยังอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ด้วย โดยพ่อแม่ที่กังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมติดทีวีของลูกน้อย สามารถศึกษาวิธีป้องกันและแนวทางการแก้ไขได้จากบทความนี้
ผลกระทบจากการดูทีวี
มีงานวิจัยที่พบว่า เนื้อหาบางประเภทในทีวี โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีความรุนแรง อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กเล็กได้ และยิ่งใช้เวลาในการดูทีวีมากเท่าไรก็ยิ่งส่งผลเสียมากขึ้นเท่านั้น
โดยผลกระทบที่เด็กอาจได้รับจากการดูทีวีหรือสื่อดิจิทัลต่าง ๆ มีดังนี้
- มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า การสื่อสารและการโต้ตอบกับผู้ใหญ่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็ก แต่การดูทีวีอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในด้านนี้ของเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 4 ปี เพราะระหว่างที่เปิดทีวี ผู้ใหญ่จะพูดคุยกับเด็กน้อยลง อีกทั้งทีวียังดึงดูดความสนใจของเด็กไปจากการเล่นของเล่นหรือการพูดคุยกับพ่อแม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่าการดูทีวี ดังนั้น กุมารแพทย์ส่วนใหญ่จึงไม่แนะนำให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีดูทีวี และสนับสนุนให้เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพูดคุย การเล่น และการทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่
- ถูกปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง การเห็นภาพความรุนแรงจากทีวี รวมถึงการเล่นเกมหรือแอปพลิเคชั่นที่มีเนื้อหารุนแรง อาจทำให้เด็กได้รับผลกระทบทางอารมณ์ และมีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวหรือมีมุมมองต่อโลกในแง่ลบได้ นอกจากนี้ อาจทำให้เด็กเกิดความเคยชินจนขาดความเห็นอกเห็นใจต่อเหยื่อที่เผชิญความรุนแรง หรืออาจคิดว่าการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
- เสี่ยงเกิดโรคอ้วน งานวิจัยชี้ว่าเด็กที่ดูทีวีสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมงขึ้นไปเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนมากกว่าเด็กที่ดูทีวีน้อยกว่าถึง 2 เท่า และอาจทำให้มีมวลไขมันมากขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร ทั้งยังทำให้เด็กมีแนวโน้มรับประทานอาหารหรือขนมมากขึ้นในขณะที่ดูทีวีด้วย
- มีปัญหาในการนอนหลับ การดูทีวีอาจทำให้เด็กมีคุณภาพในการนอนแย่ลงหรือนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในทารกและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี
- มีผลกระทบต่อการควบคุมตนเอง พฤติกรรมก้าวร้าวหรือการควบคุมตัวเองไม่ได้ในวัยผู้ใหญ่อาจเกี่ยวข้องกับการดูทีวีมากเกินไปในช่วงวัยเด็ก โดยยิ่งเริ่มดูทีวีเร็วเท่าไรก็ยิ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
- มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยรวมที่แย่ลง มีการศึกษาพบว่าการดูทีวีอาจสัมพันธ์กับการเกิดภาวะอ้วน และเนื้อหาบางประเภทที่ถูกฉายหรือผลิตซ้ำอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้สารเสพติด การดื่มแอลกอฮอล์ โรคสมาธิสั้น ความล้มเหลวทางการศึกษา ความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม
พ่อแม่ควรให้ลูกดูทีวีบ่อยแค่ไหน ?
แม้การดูทีวีอาจมีประโยชน์ในการช่วยเปิดโลกกว้างให้เด็ก แต่การดูทีวีมากเกินไปย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้พ่อแม่จำกัดช่วงเวลาในการดูทีวีของเด็กแต่ละช่วงวัย ได้แก่ ทารกที่มีอายุไม่เกิน 18 เดือน ยังไม่ควรเริ่มดูทีวีหรือใช้สื่อดิจิทัลต่าง ๆ ยกเว้นว่าเป็นการพูดคุยสื่อสารกันทางวิดีโอที่มีการโต้ตอบกันกับพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด เด็กที่มีอายุ 18-24 เดือนอาจดูทีวีได้บ้าง และเด็กก่อนวัยเรียนที่มีอายุ 2-5 ปี ควรดูทีวีเพียงวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้ แม้เด็กจะโตขึ้นแล้ว พ่อแม่ก็ควรจำกัดเวลาการดูทีวีในแต่ละวันไม่ให้มากเกินพอดี รวมทั้งจำกัดเวลาในการเล่นวิดีโอเกม การดูวิดีโอบนอุปกรณ์อื่น ๆ และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งพ่อแม่ควรนั่งดูอยู่ข้าง ๆ เด็กเพื่ออธิบายให้เด็กเกิดการเรียนรู้ไปด้วยเสมอ และคอยเตือนไม่ให้เด็กทำตามหากมีตัวละครหรือตัวการ์ตูนที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ฝึกวินัยในการดูทีวีให้ลูกอย่างไรดี ?
พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องห้ามเด็กดูทีวีหรือเล่นโทรศัพท์ เพราะหากเลือกใช้ให้เหมาะสม สื่อเหล่านี้ก็มีประโยชน์ต่อลูกไม่น้อย ดังนั้น พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกดูทีวีเท่าที่จำเป็น และเน้นทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ โดยทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
กำหนดเวลาการดูทีวีในแต่ละวัน
ควรกำหนดระยะเวลาในการดูทีวีให้ชัดเจน ว่าดูได้นานแค่ไหน ดูเมื่อไร และควรดูรายการทีวีประเภทไหน โดยไม่ควรเปิดดูทีวีในระหว่างรับประทานอาหารเย็นและช่วงก่อนนอน แต่ควรใช้เวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นร่วมกันภายในครอบครัว เช่น เล่นเกมตัวต่อ ต่อจิ๊กซอว์ เล่นบอร์ดเกม หรือให้เด็กช่วยเตรียมอาหารเย็น เป็นต้น
ทำให้การดูทีวีเป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก
ควรวางทีวีไว้ให้ห่างจากจุดสนใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาจวางทีวีไว้ในตู้เก็บของและเปิดให้เด็กดูในช่วงสุดสัปดาห์เท่านั้น นำรีโมททีวีไปซ่อน วางทีวีไว้ที่ชั้นบนของบ้าน และไม่ควรมีทีวีอยู่ในห้องนอนของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเปิดดูได้ทุกเมื่อและเสี่ยงติดการดูทีวีได้สูง
เลือกเปิดรายการที่เหมาะสม
เลือกรายการทีวี เกม ภาพยนตร์ ละคร หรือแอปพลิเคชั่นใด ๆ ก็ตามที่เหมาะสมกับเด็กและครอบครัว ซึ่งอาจพิจารณาโดยอ่านคำวิจารณ์จากผู้ชมคนอื่น ดูตัวอย่าง หรือทดลองดูเองก่อนเปิดให้เด็กดูพร้อมกัน
เลือกดูเฉพาะบางรายการ
พ่อแม่อาจเลือกรายการที่จะดูไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้วเปิดทีวีเมื่อถึงเวลา หรืออัดเทปรายการนั้น ๆ ไว้สำหรับเปิดดูในเวลาที่ต้องการ เมื่อรายการจบแล้วก็ปิดทีวี เพื่อไม่ให้เด็กดูทีวีเพียงเพราะรู้สึกเบื่อ และไม่เปิดทีวีไปเรื่อย ๆ เพราะจะทำให้ระยะเวลาในการดูทีวียาวนานขึ้น
นั่งดูไปพร้อม ๆ กับเด็ก
ผู้ปกครองควรนั่งข้าง ๆ เด็กเพื่อดูทีวีหรือสื่อใด ๆ ก็ตามไปพร้อมกัน เพื่อให้แน่ใจว่ารายการที่ดูนั้นเหมาะสมและไม่มีเนื้อหาที่รุนแรง ทั้งยังช่วยให้มีเรื่องชวนเด็ก ๆ คุยเกี่ยวกับรายการที่ดู ทำให้เด็กได้สื่อสารในขณะที่ดูรายการต่าง ๆ ไปด้วย
ปิดทีวีเมื่อเด็กทำกิจกรรมอื่น ๆ หรือเล่นกับเพื่อน
พ่อแม่ควรงดให้ลูกดูทีวีในขณะที่เด็กเล่นกับเพื่อนหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ อยู่ เพื่อให้เด็กจดจ่อกับกิจกรรมตรงหน้า และให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนอย่างแท้จริง
เป็นตัวอย่างที่ดี
พ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้านควรทำตามข้อตกลงเหมือน ๆ กัน เพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็กปฏิบัติตาม โดยปิดทีวีเมื่อไม่ได้ดู หรือวางโทรศัพท์ลงในระหว่างที่ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว
หากิจกรรมอื่น ๆ ให้เด็กทำ
เด็กอาจเลิกติดทีวีเมื่อมีกิจกรรมอื่นที่ดึงดูดความสนใจมากกว่า เช่น การเล่นกีฬา การอ่านหนังสือการ์ตูน การเข้าชมรมต่าง ๆ เป็นต้น โดยอาจพาเด็กไปเข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลาย แล้วสังเกตดูว่าเด็กรู้สึกสนุกและสนใจกิจกรรมใดมากที่สุด นอกจากนี้ เด็ก ๆ มักรอคอยที่จะพบเพื่อนเพื่อเล่นสนุกด้วยกัน จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะทำให้เด็กหันมาสนใจกิจกรรมอื่น ๆ มากกว่าการดูทีวี