ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นการติดเชื้อบริเวณต่อมทอนซิลที่อยู่บริเวณด้านหลังของลำคอ โดยสาเหตุมักมากจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไรโนไวรัส (Rhinovirus) เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) เชื้อไวรัสอะดีโน (Adenovirus) รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยเช่นกัน
ต่อมทอนซิลอักเสบพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านละอองในอากาศจากการไอ จามหรือการสัมผัส และผู้ที่เคยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบมาก่อนสามารถติดเชื้อและเกิดอาการซ้ำได้อีก บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจถึงอาการและการดูแลตนเองอย่างถูกวิธีเมื่อต่อมทอนซิลอักเสบ
อาการต่อมทอนซิลอักเสบเป็นอย่างไร
อาการต่อมทอนซิลอักเสบอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยผู้ที่ต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการที่มักพบได้เมื่อต่อมทอนซิลอักเสบ คือ ต่อมทอนซิลบวมและแดง มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว มีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก มีจุดสีขาวหรือสีเหลืองปกคลุมบนต่อมทอนซิล มีตุ่มพองหรือบาดแผลในคอ เจ็บหู เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณคอหรือกราม มีกลิ่นปาก เสียงแหบหรืออู้อี้ และเจ็บตึงบริเวณต้นคอ
ส่วนเด็กที่ต่อมทอนซิลอักเสบ ผู้ปกครองอาจสังเกตได้ว่าเด็กจะมีอาการงอแงผิดปกติ เป็นไข้ คอหรือต่อมทอลซิลแดง อ่อนเพลีย ไม่กินอาหารหรือกลืนอาหาร
วิธีดูแลตนเองเมื่อต่อมทอนซิลอักเสบ
ผู้ที่ต่อมทอนซิลอักเสบสามารถบรรเทาอาการตนเองเบื้องต้นได้โดย
- พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ดื่มน้ำในปริมาณมากเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เนื่องจากร่างกายอาจเสียน้ำมากจากอาการไข้และการหายใจทางปาก
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ สามารถทำได้ด้วยการผสมเกลือ 1 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1 ถ้วย คนให้เกลือละลายทั้งหมด กลั้วคอและปาก ก่อนจะบ้วนออกและกลั้วซ้ำด้วยน้ำเปล่า
- อมยาอมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บและช่วยให้ชุ่มคอ แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ เนื่องจากยาอมบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
- ดื่มชาอุ่นผสมน้ำผึ้ง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
- ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศจนกว่าอาการต่อมทอนซิลอักเสบจะดีขึ้น เนื่องจากอากาศที่แห้งอาจทำให้ระคายเคืองคอได้
- ในกรณีที่มีไข้ เจ็บคอหรืออาการผิดปกติอื่น ๆ จากต่อมทอนซิลอักเสบ สามารถซื้อยากินตามอาการได้ เช่น ยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน แต่หากสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกไม่ควรกินยาไอบูโพรเฟน และไม่ควรให้เด็กกินยาแอสไพรินเนื่องจากอาจก่อให้เกิดโรคกลุ่มอาการราย (Reye's Syndrome)
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินหรือดื่มเครื่องดื่มที่เป็นกรด อาหารรสเผ็ด อาหารที่มีเนื้อสัมผัสแข็ง และควรหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด ควันบุหรี่ หรือสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อทางเดินหายใจอย่างน้อย 1 สัปดาห์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ต่อมทอนซิลอักเสบ ป้องกันได้อย่างไรบ้าง
เนื่องจากต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อ รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันเป็นประจำและเปลี่ยนแปรงสีฟันหลังได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ
ในรายที่ต้องไปพบแพทย์ด้วยอาการต่อมทอนซิลอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ยาเซฟาเลกซิน (Cephalexin) หรือยารอกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) เป็นต้น
หากพบว่าตนเองมีอาการต่อมทอนซินอักเสบอย่างรุนแรง อาการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรืออาการไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อเข้ารับการผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการกลืน ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบของต่อมทอนซิลได้