ดูแลเด็กหลังเจอเรื่องร้าย ภาวะทางใจที่พ่อแม่ต้องรับมือ

เด็กอาจเคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เด็กบางคนอาจเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจด้วยตนเอง หรืออาจเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ในสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง และมักส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว แต่หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจช่วยให้เด็กสามารถก้าวข้ามความทรงจำอันเลวร้ายไปได้

โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือโรค PTSD (Posttraumatic Stress Disorder) เป็นความผิดปกติทางจิตใจหลังการเผชิญเหตุการณ์อันเลวร้าย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่สำหรับเด็กอาจต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กมักคิดหรือฝันถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำไปมาทุกครั้งเมื่อถูกกระตุ้นจากสถานที่หรือสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ฝังใจที่เคยเจอ และไม่สามารถถ่ายทอดอาการหรือความรู้สึกของตัวเองได้ดีเท่าผู้ใหญ่ จึงอาจกลายเป็นบาดแผลฝังใจที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเด็กในระยะยาว

5,Year,Old,Asian,Little,Girl,Stand,Alone,At,The

สาเหตุและอาการของเด็กหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้าย

โรค PTSD เกิดจากเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจของเด็ก โดยอาจเกี่ยวข้องกับการได้รับบาดเจ็บ การเสียชีวิต หรือการสูญเสียความสมบูรณ์ทางร่างกายของตัวเด็กเอง หรือผู้อื่นที่เด็กเห็นเหตุการณ์ ซึ่งทำให้เด็กเกิดความตื่นกลัว หวั่นวิตก สับสน และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ได้แก่

  • การประสบอุบัติเหตุร้ายแรง
  • การถูกทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางเพศ
  • ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
  • สงคราม หรือการก่อจลาจล
  • การสูญเสียคนในครอบครัวไปอย่างกะทันหัน

อาการของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของเหตุการณ์ที่พบ พัฒนาการของเด็ก ลักษณะนิสัยของตัวเด็กเองหรือปัญหาครอบครัวที่มีมาก่อนหน้า และสภาพสังคมที่เด็กอาศัยอยู่ โดยมักเริ่มมีอาการปรากฏภายใน 1 เดือนหลังเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ แต่เด็กบางคนอาจเพิ่งเริ่มมีอาการหลังผ่านไปหลายเดือนหรือหลายปีได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการเหล่านี้มักคงอยู่ยาวนานแม้ผ่านเหตุการณ์ไปหลายปี หรืออาจหายไปช่วงหนึ่งและอาจกลับมามีอาการซ้ำได้อีกเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น ทั้งนี้อาการของโรค PTSD ที่พบโดยทั่วไป ได้แก่

  • วิตกกังวล โมโหร้าย ฉุนเฉียวง่าย รู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ หมดหวัง ท้อแท้ คิดโทษตัวเอง และกลัวการแยกจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแล
  • เงียบเฉย ขาดการตอบสนอง สับสน ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง และในบางครั้งอาจหลงลืมเหตุการณ์ที่เผชิญไปบางส่วน
  • มักมีความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นอาจเกิดขึ้นอีก จึงมักหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
  • มีพฤติกรรมก้าวร้าว ตื่นกลัวง่าย หวาดระแวง มีพฤติกรรมถอยกลับเป็นเด็กกว่าวัย เช่น ดูดนิ้ว ไม่ยอมช่วยเหลือตัวเอง หรือปัสสาวะรดที่นอน มีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ การรับประทานอาหาร การเรียน และความประพฤติที่โรงเรียน
  • มีอาการทางร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดหัว หรือปวดท้องเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ที่เคยพบเจอ

หากเด็กมีอาการหรือสัญญาณของความเครียดมากผิดปกติเกินกว่า 4 สัปดาห์ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอาการ

ดูแลเด็กอย่างไร หลังเผชิญเรื่องร้าย

เด็กส่วนมากต้องใช้เวลาในการปรับตัวในช่วงแรกหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กควรได้รับการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากผู้ปกครองที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็กด้วยความรักและความเข้าใจ โดยอาจใช้วิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • ผู้ปกครองควรยอมรับว่าเด็กมีอาการผิดปกติหลังผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้าย เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม การนิ่งเฉยหรือคิดว่าเป็นพฤติกรรมปกติอาจยิ่งทำให้เด็กมีอาการแย่ลง หรือมีอาการในระยะยาว
  • จัดตารางการทำกิจวัตรประจำวันของเด็กตามปกติ เช่น การรับประทานอาหาร การเข้านอน และการไปโรงเรียน
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้บอกเล่าเหตุการณ์ที่พบเจอ และรับฟังด้วยความเข้าใจ แต่ผู้ปกครองไม่ควรบังคับหรือกดดันให้เด็กพูด หากเด็กยังไม่พร้อมที่จะเล่าเหตุการณ์ หรือบางคนวาดรูปหรือเขียนระบายแทนการพูดคุย
  • สอนให้เด็กรู้จักการปฏิเสธ เมื่อมีคนแปลกหน้าแสดงท่าทางไม่น่าไว้วางใจ ลวนลาม หรือคุกคามจนทำให้รู้สึกไม่สบายใจ
  • ย้ำให้เด็กเข้าใจอย่างชัดเจนว่าความกลัวหรือความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ และสามารถหายดีได้ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
  • ให้เด็กทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดและทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน เช่น วาดรูป เล่นเกม หรือเล่นกีฬา หรือให้เด็กทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้อื่นในชุมชน
  • ควรพูดคุยและหาแนวทางดูแลเด็กร่วมกับครูอาจารย์ พี่เลี้ยง และบุคคลอื่น ๆ ที่ใกล้ชิดกับเด็ก เพื่อการดูแลที่ครอบคลุม
  • หากสังเกตว่าเด็กมีความคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เนื่องจากอาจเป็นภาวะร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

ทั้งนี้ การไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้อาการของเด็กดีขึ้น มีพัฒนาการตามวัย และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเร็วขึ้น ซึ่งการรักษาโรค PTSD อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาการของเด็ก

โดยส่วนมากมักใช้การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ร่วมกับการใช้ยารักษา อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการวิตกกังวล มีพฤติกรรมที่ผิดปกติซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาการแย่ลง หรือมีอาการเครียดอย่างรุนแรงและอาการผิดปกติอื่น ๆ ต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือน ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือการฆ่าตัวตาย

ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการดูแลเอาใจใส่และรับฟังปัญหาของเด็กด้วยความเข้าใจ ร่วมกับความร่วมมือของจิตแพทย์ โรงเรียน และคนในชุมชน เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตต่อได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ หากผู้ปกครองรู้สึกเครียดหรือไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ การปรึกษาจิตแพทย์ถือเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยให้เด็กและผู้ปกครองข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ได้อย่างเหมาะสม