ตรวจมวลกระดูก คือการตรวจหาความหนาแน่นของมวลกระดูกเพื่อดูความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งแพทย์อาจนำผลการตรวจไปใช้เพื่อวินิจฉัยโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมวลกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน หรืออาจนำไปใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักในอนาคต โดยการตรวจมวลกระดูกอาจช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ตรวจมวลกระดูกเป็นการตรวจที่ปลอดภัย โดยการตรวจมักทำได้อย่างรวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม การตรวจมวลกระดูกอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะการตรวจมวลกระดูกมักมีการใช้รังสีในการตรวจ ซึ่งการสัมผัสรังสีใด ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้
ทำความรู้จักการตรวจมวลกระดูก
ตรวจมวลกระดูก เป็นการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือการตรวจมวลกระดูกโดยใช้เครื่อง Dual-Energy X-ray Absorptiometry (DEXA) ซึ่งเป็นการใช้รังสีเอ็กซ์หรือเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบปริมาณของแคลเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ ภายในกระดูก
โดยปริมาณแร่ธาตุจะเป็นตัวบ่งบอกความแข็งแรงของกระดูก ยิ่งมวลกระดูกมีแร่ธาตุต่าง ๆ เยอะ มวลกระดูกก็จะยิ่งมีความหนาแน่นมาก ซึ่งอาจหมายความว่ากระดูกมีความแข็งแรง และมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหักน้อย
ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจมวลกระดูก หากแพทย์ต้องการทราบความแข็งแรงของกระดูก หรือแพทย์เล็งเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมวลกระดูก เช่น
- ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้น มวลกระดูกยิ่งมีความหนาแน่นน้อย และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหักง่ายได้
- ผู้ที่เคยมีประวัติกระดูกหัก กระดูกเปราะ หรือกระดูกหักง่าย
- ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคกระดูกพรุน หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมวลกระดูก
- ผู้ที่มีความสูงลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- ผู้ที่กำลังมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติต่าง ๆ หรือเป็นผู้ที่มีฮอร์โมนบางชนิดลดลง เช่น ผู้ที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยทอง หรือเคยผ่านการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
- ผู้ที่กำลังใช้ยาบางอย่างที่อาจส่งผลข้างเคียงให้กระดูกหักง่าย เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคมะเร็ง ยาบางชนิดที่ใช้หลังจากการปลูกถ่ายอวัยวะ
โดยแพทย์อาจนำผลการตรวจไปใช้ได้หลายกรณี เช่น ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกว่ามากหรือน้อย วินิจฉัยโรคกระดูกพรุนและภาวะกระดูกบาง วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักในอนาคต ตรวจสอบสภาพของมวลกระดูกหลังจากการรักษา และตรวจสอบความหนาแน่นของกระดูกก่อนเริ่มการรักษาที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงให้กระดูกหักง่าย
ขั้นตอนการตรวจมวลกระดูก
ขั้นตอนการตรวจมวลกระดูกโดยใช้เครื่อง DEXA อาจมีดังนี้
- แพทย์ประจำห้องเอกซเรย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจมวลกระดูกนอนลงบนโต๊ะสำหรับการตรวจ โดยอาจมีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดท่าทางให้ถูกต้อง
- แพทย์จะเลื่อนอุปกรณ์สำหรับการเอกซเรย์ไปทั่วร่างกายเพื่อสแกนมวลกระดูก
- แพทย์จะแปลผลการตรวจมวลกระดูก และส่งต่อให้แพทย์ที่ดูแลการรักษาเพื่อนำไปแจ้งผลแก่ผู้ที่เข้ารับการตรวจ เพื่อพูดคุยและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
โดยแพทย์อาจใช้ระบบ T-score ในการแปลผล ซึ่งเป็นระบบที่จะนำค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกของผู้ที่เข้ารับการตรวจมาเทียบกับมวลกระดูกของผู้ใหญ่สุขภาพดีที่มีเพศและเชื้อชาติเดียวกัน โดยผลการตรวจจะเป็นค่าลบ และอาจแบ่งเกณฑ์ได้ดังนี้
- ค่า T-score มีค่า -1 ขึ้นไป หมายถึงกระดูกมีสุขภาพดี
- ค่า T-score มีค่าระหว่าง -1.5 ถึง -2.5 หมายถึงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน
- ค่า T-score มีค่าน้อยกว่า -2.5 หมายถึงกระดูกเปราะบาง แตกหักง่าย และอาจกำลังเป็นโรคกระดูกพรุน
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจมวลกระดูก
ผู้ที่เข้ารับการตรวจอาจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวด้านใดเป็นพิเศษ โดยสามารถเตรียมความพร้อมในการตรวจมวลกระดูกได้ดังนี้
- ผู้ที่เข้ารับการตรวจสามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารก่อนตรวจมวลกระดูก
- ผู้ที่เข้ารับการตรวจสามารถกินยาต่าง ๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นว่าแพทย์จะสั่งห้ามรับประทานยาบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการตรวจ
- งดการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมหรือวิตามินอื่น ๆ ก่อนการตรวจ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ควรแจ้งแพทย์ว่ากำลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน หรือสมุนไพรใด ๆ ก่อนเข้ารับการตรวจ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม ใส่สบาย และไม่รัดแน่นจนเกินไป ทั้งนี้ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่มีส่วนประกอบของโลหะ เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจได้
นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องรู้สึกกลัว เครียด หรือกังวลว่าจะเกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงจากการตรวจ เพราะ การตรวจมวลกระดูกเป็นการตรวจที่รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ และมักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย