ตะขาบกัด และวิธีปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง

ตะขาบกัดพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำ ทำให้ตะขาบหนีน้ำเข้ามาภายในตัวบ้าน ซึ่งหลายคนอาจโดนตะขาบกัดได้โดยไม่รู้ตัว แต่โดยทั่วไปการถูกตะขาบกัดมักไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต และสามารถปฐมพยาบาลบาดแผลหรือรอยกัดด้วยตัวเองในเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ 

ตะขาบเป็นสัตว์ที่มีเขี้ยวพิษอยู่บริเวณศีรษะของมัน 1 คู่ ไว้ใช้สำหรับกัดเหยื่อ ซึ่งในพิษจะมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่น สารเซโรโทนิน (Serotonin) หรือสารฮิสตามีน (Histamine) โดยปริมาณพิษและความระดับความปวดบริเวณผิวหนังจะขึ้นอยู่กับขนาดตัวตะขาบ หมายความว่าหากโดนตะขาบตัวใหญ่กัดก็จะได้รับพิษและรู้สึกปวดมากกว่าโดนตะขาบตัวเล็กกัดนั่นเอง

ตะขาบกัดและวิธีปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง

ตะขาบกัดทำให้เกิดอาการอะไรบ้าง

ตะขาบกัดสามารถก่อให้เกิดอาการปวด มีจุดเลือดออกตรงรอยเขี้ยว 2 รอย บวมแดงบริเวณแผล หรือมีแผลพุพองนานหลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน โดยอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อาการคัน ปวดศีรษะ วิตกกังวล ในบางรายอาจรู้สึกชาบริเวณที่ถูกกัดหรือมีต่อมน้ำเหลืองบวม แต่มักพบได้น้อยมาก

ผู้ที่โดนตะขาบกัดบางรายยังอาจเกิดอาการแพ้พิษจากตะขาบ ส่งผลให้หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ปาก ลิ้นหรือลำคอ หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกคันมาก ผื่นลมพิษ เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือความดันโลหิตต่ำ ซึ่งหากสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ในกรณีที่ผู้ป่วยละเลยการรักษาหรือรักษาอาการจากตะขาบกัดไม่ถูกวิธีอาจทำให้แผลติดเชื้อ โดยจะรู้สึกอุ่นบริเวณแผล แผลแดง มีเลือดออก มีหนอง หรือมีกลิ่นเหม็น นอกจากนั้นยังอาจทำให้เป็นแผลรุนแรงจนเกิดเนื้อเน่าได้ด้วย

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนตะขาบกัด

หากผู้ป่วยทราบชัดเจนว่าแผลนั้นเกิดจากตะขาบกัดและมีอาการไม่รุนแรง ก็สามารถปฐมพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างแผลและผิวหนังบริเวณโดยรอบด้วยสบู่และน้ำสะอาดแล้วซับให้แห้ง โดยไม่ควรกรีดแผลหรือนำสมุนไพรมาพอกแผลด้วยตัวเอง เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังได้
  • ประคบเย็นด้วยเจลเย็นหรือถุงน้ำแข็งห่อผ้าขนหนูบริเวณผิวหนังที่ถูกตะขาบกัด เพื่อบรรเทาอาการบวมและคัน ผู้ป่วยอาจประคบร้อนหรือแช่ผิวหนังบริเวณดังกล่าวในน้ำอุ่นเพื่อลดอาการปวด แต่วิธีนี้อาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • รับประทานยาสามัญประจำบ้านหรือยาที่หาซื้อได้เองที่เหมาะกับอาการตะขาบกัด เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ หรือยาแก้อักเสบ โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาตามฉลากยาหรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาเภสัชก่อนเสมอ 

หากรู้สึกเหมือนโดนสัตว์กัดโดยที่ไม่เห็นตัวตะขาบอยู่ใกล้ ๆ หรือไม่แน่ใจว่าแผลเกิดจากตะขาบแน่หรือไม่ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้องและรับการรักษาที่เหมาะสม

โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง อาการคงอยู่นานกว่า 48 ชั่วโมง อาการแพ้ หรือสัญญาณการติดเชื้อ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะหากพบสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักตั้งแต่เนิ่น ๆ