ตะลิงปลิง ผลไม้รสเปรี้ยวจี๊ดที่อุดมไปด้วยสารอาหารและวิตามินมากมาย ในประเทศไทย นอกจากนิยมนำมารับประทาน ยังมีการนำมาใช้รักษาอาการป่วยแบบแพทย์แผนโบราณด้วย เพราะเชื่อว่าตะลิงปลิงมีสรรพคุณต่าง ๆ เช่น อาจช่วยลดความระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต และสมานแผลได้
ตะลิงปลิงประกอบไปด้วยวิตามินซี คาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดอะมิโน น้ำมันหอมระเหย สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) สารอัลคาลอยด์ (Alkaloid) และสารประกอบกลุ่มฟีนอล (Phenolic Compound) ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายและอาจบรรเทาโรคบางชนิดได้ อีกทั้งนิยมนำมารับประทานแบบผลสดคู่กับน้ำพริกต่าง ๆ หรือนำไปปรุงรสเปรี้ยวในเมนูอาหาร เช่น แกงส้ม ต้มยำ ในขณะที่บางคนอาจนำมาต้มดื่ม หรือนำมาพอกตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อหวังคุณประโยชน์ทางการรักษา เช่น ต้านเชื้อแบคทีเรีย รักษาบาดแผล หรือรักษารังแค เป็นต้น
มีงานวิจัยได้พิสูจน์สรรพคุณและประโยชน์ต่าง ๆ ของตะลิงปลิงไว้ ดังนี้
ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เนื่องจากตะลิงปลิงมีสารฟลาโวนอยด์ที่อาจมีผลต่อการลดน้ำหนัก และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ อีกมากมาย จึงเชื่อว่าการบริโภคตะลิงปลิงหรือใบตะลิงปลิงนั้น อาจช่วยลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งให้สารสกัดจากใบตะลิงปลิงปริมาณ 125 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แก่หนูทดลองวันละ 2 ครั้ง แล้วพบว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ของหนูทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษากับหนูทดลองเช่นกัน โดยให้หนูทดลองบริโภคผลตะลิงปลิงปริมาณ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 60 วัน พบว่าสารเควอซิทินซึ่งเป็นสารประกอบกลุ่มฟีนอลที่พบได้ในตะลิงปลิง อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงการเกิดเบาหวานในหนูทดลองได้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหล่านี้เป็นเพียงงานวิจัยขนาดเล็กที่ทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการบริโภคตะลิงปลิงจะช่วยลดไขมันหรือน้ำตาลในเลือดได้จริง ดังนั้น ควรมีการวิจัยอื่นที่ศึกษาประสิทธิภาพของตะลิงปลิงในมนุษย์ เพื่อยืนยันสมมติฐานด้านดังกล่าวให้ชัดเจน
ต้านเชื้อจุลชีพ ตะลิงปลิงเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยกรดหลายชนิด เช่น กรดอะมิโน และกรดออกซาลิก รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ที่มีงานวิจัยพบว่าอาจช่วยต้านเชื้อจุลชีพได้ หลายคนจึงเชื่อว่าการบริโภคตะลิงปลิงอาจช่วยต้านเชื้อจุลชีพชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น แบคทีเรีย และเชื้อรา
มีงานวิจัยหนึ่งเผยว่า สารสกัดจากใบตะลิงปลิงปริมาณ 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร อาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus Cereus) ที่อาจก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas Hydrophila) ที่อาจก่อให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่าได้
ส่วนงานวิจัยที่ศึกษาในห้องทดลองอีกชิ้นหนึ่งเผยว่า ผลตะลิงปลิงและน้ำปั่นตะลิงปลิงอาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม (Salmonella Typhimurium) ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียและโรคไข้ไทฟอยด์ และต้านเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารและก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ งานวิจัยดังกล่าวยังพบด้วยว่า การล้างกุ้งดิบด้วยน้ำตะลิงปลิงแล้วเก็บกุ้งไว้ในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส อาจช่วยลดปริมาณแบคทีเรียออกจากกุ้งดิบได้ ซึ่งอาจนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ทำความสะอาดเนื้อกุ้งเพื่อความปลอดภัยก่อนบริโภค
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่า สารสกัดจากใบตะลิงปลิงอาจช่วยต้านเชื้อราต่าง ๆ เช่น เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในช่องคลอดมากที่สุด และเชื้อราพิไทโรสปอรัม โอวาเล (Pityrosporum Ovale) ที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดรังแค
อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเป็นงานวิจัยเมื่อนานมาแล้ว และเป็นเพียงการค้นคว้าในห้องทดลองเท่านั้น จึงยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเพียงพอในขณะนี้ อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิจัยอื่น ๆ รวมถึงควรทดลองใช้ตะลิงปลิงในมนุษย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์ต่อไป
ลดความดันโลหิต ภาวะความดันโลหิตสูงอาจนำไปสู่โรคร้ายหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการเลือกบริโภคอาหารจำพวกผักผลไม้ อาจช่วยลดระดับความดันโลหิตและลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ข้างต้นได้ รวมทั้งการบริโภคตะลิงปลิง เพราะเป็นผลไม้ที่มีสารฟลาโวนอยด์สูง และเคยมีงานวิจัยพบว่าสารชนิดนี้อาจช่วยลดระดับความดันโลหิตลงได้
มีงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองกับสัตว์แล้วพบว่า สารสกัดจากใบตะลิงปลิงอาจช่วยลดความดันโลหิตในสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจให้ผลลัพธ์การรักษาที่ใกล้เคียงกับการใช้ยาลดความดันโลหิตอีกด้วย เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองใช้สารสกัดจากใบตะลิงปลิงในสัตว์แล้วพบว่า สารดังกล่าวอาจช่วยลดความดันโลหิตลงได้ด้วยการลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบบริเวณผนังหลอดเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น ไม่ได้ทดลองกับมนุษย์โดยตรง จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าตะลิงปลิงช่วยลดความดันโลหิตในมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น ควรศึกษาเพิ่มเติมและทดลองใช้ตะลิงปลิงกับมนุษย์ เพื่อยืนยันสมมติฐานด้านนี้ให้ชัดเจน และนำไปประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์กับโรคอื่น ๆ ได้ต่อไป
รักษาแผล ตะลิงปลิงถูกใช้ในการรักษาตามแบบแผนโบราณมานาน โดยหลายคนเชื่อว่าการนำรากและใบตะลิงปลิงมาพอกบริเวณแผลอาจช่วยสมานแผลให้หายได้ อีกทั้งเคยมีงานวิจัยที่พบว่าสารฟลาโวนอยด์ซึ่งพบได้ในตะลิงปลิงมีฤทธิ์ช่วยสมานแผลให้หายเร็วขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนงานวิจัยที่ใช้สารสกัดจากตะลิงปลิงทดลองในหนูพบว่า สารสกัดจากตะลิงปลิงอาจช่วยรักษาแผลในช่องปากของหนูทดลองได้ โดยการเพิ่มปริมาณเซลล์ไฟโบรบลาส์เพื่อสร้างเนื้อเยื่อในช่องปากให้มากขึ้น
แม้งานวิจัยบางส่วนปรากฏประสิทธิผลของตะลิงปลิงในการใช้รักษาแผล แต่การศึกษาในด้านนี้ยังมีจำนวนน้อย ซึ่งมักเป็นงานวิจัยขนาดเล็กที่ทดลองกับสัตว์เท่านั้น จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าตะลิงปลิงใช้รักษาแผลได้จริง ดังนั้น ควรค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป เพื่อนำหลักฐานที่ได้มาพิสูจน์ให้แน่ชัดก่อนนำตะลิงปลิงไปใช้รักษาแผล
บริโภคตะลิงปลิงอย่างไรให้ปลอดภัย ?
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขไทยเผยว่า การบริโภคตะลิงปลิงเพื่อหวังคุณประโยชน์ต่อสุขภาพนั้นทำได้หลายวิธี เช่น นำรากและใบไปต้มเป็นน้ำดื่ม หรือนำดอกและผลไปชงเป็นชา เป็นต้น
แม้ตะลิงปลิงมีสารอาหารเป็นประโยชน์มากมาย แต่ประกอบไปด้วยกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วไต และอาจทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ จึงควรบริโภคตะลิงปลิงในปริมาณที่พอดี เพื่อให้ได้รับสารต่าง ๆ ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะเคยมีรายงานจากประเทศอินเดียว่ามีผู้ประสบภาวะไตวายเฉียบพลันจากการดื่มน้ำตะลิงปลิงประมาณ 100-400 มิลลิลิตร/วัน ส่วนผู้ป่วยโรคนิ่วในไต หรือผู้ที่ต้องลดปริมาณกรดออกซาลิกในร่างกาย หากต้องการบริโภคตะลิงปลิง อาจนำตะลิงปลิงไปต้มก่อนบริโภค เพื่อลดระดับกรดออกซาลิกลง และไม่ควรบริโภคกรดออกซาลิกเกินวันละ 50 มิลลิกรัม