ตับแข็งเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อตับได้รับความเสียหายจนเกิดแผลหรือเกิดพังผืดสะสมเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับลดลง ในช่วงแรกอาจไม่พบอาการใด ๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการบางอย่างได้ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด เลือดออกหรือเกิดรอยช้ำง่าย ผิวและดวงตาเหลือง และผิวหนังเกิดรอยแดงเป็นเส้น
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาภาวะตับแข็งให้หายขาด แต่การรักษาอาจช่วยควบคุมหรือชะลอความรุนแรงเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่ป่วยดีขึ้น ซึ่งในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับภาวะตับแข็ง ทั้งสาเหตุที่พบได้บ่อยและวิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยให้นำไปปรับใช้กัน
ตับแข็งเกิดจากอะไรได้บ้าง
ภาวะตับแข็งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่มักพบได้แก่
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การติดเชื้อไวรัสบริเวณตับอย่างเรื้อรัง โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี
- ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non–alcoholic Fatty Liver Disease) หรือภาวะที่ตับเกิดการอักเสบจากการสะสมของไขมันที่มากเกินไป
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ภาวะท่อน้ำดีอุดตัน โรคซิฟิลิส (Syphilis) การใช้ยาบางชนิด การได้รับสารพิษ โรคพยาธิบางชนิด ภาวะดีซ่านเรื้อรัง ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง โรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง (Autoimmune Diseases) ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson’s Disease) โรคซิสติก ไฟโบรซิส(Cystic Fibrosis)
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างที่อาจส่งผลให้บางคนมีโอกาสเกิดตับแข็งได้มากขึ้นอีกด้วย เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน มีประวัติป่วยเป็นโรคตับ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
ผู้ป่วยตับแข็ง ดูแลตัวเองอย่างไรดี
การปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันบางอย่างอาจช่วยลดความเสี่ยง หรือชะลอความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยตับแข็งได้ เช่น
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะยิ่งส่งผลเสียต่อตับมากขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือการควบคุมอาหาร เนื่องจากไขมันในร่างกายที่มากเกินไปจะยิ่งส่งผลเสียต่อตับ โดยผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสมกับตนเอง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง เนื่องจากผู้ป่วยตับแข็งอาจมีโอกาสเกิดภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ได้ง่าย
- ระมัดระวังการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงเนื่องจากอาหารประเภทนี้อาจส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยมีของเหลวสะสมในร่างกายได้
- เข้ารับการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำแพทย์ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ เนื่องจากภาวะตับแข็งและกระบวนการการรักษาภาวะตับแข็งอาจส่งให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยอ่อนแอลงจนร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา สมุนไพร หรือสารใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน หากจำเป็นต้องใช้ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนว่ากำลังป่วยเป็นตับแข็ง
- รักษาความสะอาดอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังป่วย เนื่องจากผู้ป่วยตับแข็งอาจมีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
ทั้งนี้ วิธีที่กล่าวไปในข้างต้นเป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น สิ่งที่ผู้ป่วยตับแข็งควรทำเป็นหลักคือ การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา ไม่ว่าจะเป็นการไปพบแพทย์ตามนัด หรือการรับประทานยา เนื่องจากภาวะนี้สามารถเกิดได้จากหลายโรค การรักษาจากแพทย์และคำแนะนำในการปรับตัวต่าง ๆ จึงอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน