ตัวยาแต้มสิวยอดฮิตกับข้อมูลที่ควรรู้ก่อนใช้

ยาแต้มสิวเป็นตัวช่วยในการควบคุมและรักษาสิว ไม่ว่าจะบนใบหน้าหรือร่างกายส่วนอื่น การทายาแต้มสิวเป็นวิธีที่แพทย์ผิวหนังแนะนำและเป็นส่วนสำคัญของการรักษาสิว แต่เนื่องจากยาแต้มสิวประกอบไปด้วยตัวยาที่มีความเข้มข้นต่างกัน การใช้ยาแต้มสิวที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

จุดประสงค์หลักของยาแต้มสิวแบ่งได้เป็นการรักษาและควบคุมสิว อีกจุดประสงค์หนึ่งคือ การลดรอยแดง รอยดำและแผลเป็นที่เกิดจากสิว โดยตัวยาในยาแต้มสิวแต่ละชนิดก็มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งออกได้หลายชนิดและหลายรูปแบบ คนที่ประสบกับปัญหาสิวจึงควรเลือกใช้ยาแต้มสิวแต่ละชนิดให้เหมาะสม

ดังนั้น เพื่อจัดการสิวให้อยู่หมัดและใช้ยาแต้มสิวให้ปลอดภัย ใครที่กำลังเป็นสิวอยู่ บทความนี้อาจช่วยให้คุณเลือกใช้ยาแต้มสิวได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และระมัดระวังมากขึ้น

ตัวยาแต้มสิวยอดฮิตกับข้อมูลที่ควรรู้ก่อนใช้

ยาแต้มสิวยอดฮิตกับข้อมูลที่คนเป็นสิวควรรู้

ผลิตภัณฑ์ยาแต้มสิวที่พบได้ในท้องตลาดและได้รับความนิยมมักประกอบด้วยตัวยาเหล่านี้

1. ซาลิไซลิกแอซิด (Salicylic Acid)

ซาลิไซลิกแอซิดหรือกรดซาลิไซลิกเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอก โดยจะเข้าไปทำให้โปรตีนบนผิวหนังที่เรียกว่าเคราติน (Keratin) อ่อนตัวลงและผลัดออกได้ง่ายขึ้น

ด้วยฤทธิ์เป็นกรด ซาลิไซลิกแอซิดยังช่วยละลายหัวสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน ทั้งสิวหัวขาวและสิวหัวดำที่อยู่ภายในรูขุมขนด้วย สำหรับซาลิไซลิกแอซิดความเข้มข้นสูงอาจใช้เพื่อลดรอยแผลเป็นจากสิวได้ด้วย

ความเข้มข้นของซาลิไซลิกแอซิดในยาแต้มสิวแบ่งออกได้หลายระดับตามรูปแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนมากความเข้มข้นของซาลิไซลิกแอซิดในยาแต้มสิวจะอยู่ระหว่าง 0.5–6% ซึ่งรูปแบบและความเข้มข้นก็ส่งผลให้แต่ละผลิตภัณฑ์มีวิธีใช้และความถี่ในการใช้ต่อวันต่างกัน

ภายหลังการทายาแต้มสิวที่มีซาลิไซลิกแอซิดอาจทำให้บางคนพบกับผลข้างเคียง อย่างรู้สึกคันยิบ ๆ บริเวณที่ทา และผิวแห้งลอกได้ โดยเฉพาะในคนที่เพิ่งเริ่มใช้

2. เรตินอยด์ (Retinoids)

เรตินอยด์เป็นสารชนิดหนึ่งในกลุ่มวิตามินเอ เรตินอยด์สำหรับรักษาสิวสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น เรตินอล (Retinol) และเตรทติโนอิน (Tretinoin) ซึ่งสารในกลุ่มเรตินอยด์อาจมีคุณสมบัติยิบย่อยที่แตกต่างกัน แต่สรรพคุณในการรักษาสิวจะคล้ายคลึงกัน เช่น

  • ละลายหัวสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน
  • ลดการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งอาจช่วยควบคุมการเกิดสิว
  • กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ทำให้สิวแห้งและยุบลง รวมทั้งอาจช่วยลดรอยสิวด้วย
  • กระตุ้นการสร้างโปรตีนในผิวอย่างคอลลาเจน จึงช่วยให้รอยแผลจากสิวดูตื้นขึ้น
  • ต้านการอักเสบที่เกิดจากสิว

การใช้ยาแต้มสิวกลุ่มเรตินอยด์อาจทำให้ผิวแห้ง แดง ลอก คัน สีผิวไม่สม่ำเสมอ และอาจมีอาการแสบผิวหรือผิวหนังอุ่นขึ้นหลังทา แต่อาการมักดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บางคนก็อาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นได้ จึงควรสังเกตผิวของตนเองอยู่เสมอระหว่างใช้เรตินอยด์

นอกจากนี้ เรตินอยด์อาจทำให้ผิวบางและไวต่อการกระตุ้น ระหว่างและหลังการใช้จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด สบู่หรือโฟมล้างที่มีฤทธิ์แรง และสารเคมี

3. เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)

เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์เป็นตัวยาแต้มสิวที่ได้รับความนิยมอีกตัวหนึ่ง เพราะนอกจากสรรพคุณบรรเทาอาการสิวในระดับที่ไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงปานกลาง อย่างสิวหัวขาวและสิวหัวดำแล้ว เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ยังมีฤทธิ์เป็นสารฆ่าเชื้อ ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของสิวอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์ยาแต้มสิวที่มีเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์มักมีระดับความเข้มข้นอยู่ที่ 5% มักพบในรูปแบบครีมหรือเจลสำหรับทาก่อนล้างหน้า

โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทาบาง ๆ บริเวณหัวสิวหลังล้างหน้า 20 นาที วันละ 1 ครั้ง โดยระยะเวลาที่ทิ้งไว้และความถี่ในการใช้อาจเปลี่ยนแปลงตามสภาพผิว ก่อนการใช้จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร 

ก่อนและหลังใช้ยาแต้มสิวเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และไม่ใช้มือที่เปื้อนยาแต้มสิวไปจับเสื้อผ้าและผม เพราะฤทธิ์ของยาอาจทำให้สีผมและสีของผ้าเปลี่ยนไปได้

สำหรับผลข้างเคียงจากการใช้ยาแต้มสิวที่มีเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ ผู้ใช้อาจพบกับอาการผิวแห้งตึง ผิวแดงลอก แสบ คัน และผิวไวต่อแดด จึงควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีสารเคมีที่อาจทำร้ายผิวและหลีกเลี่ยงแสงแดดอยู่เสมอ

4. คลินดามัยซิน (Clindamycin)

คลินดามัยซินเป็นยาแต้มสิวที่ใช้รักษาสิวชนิดไม่รุนแรงที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย มีคุณสมบัติเป็นสารฆ่าเชื้อที่ช่วยยังยั้งและลดเชื้อสิวบนผิวหนัง

โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาแต้มสิวคลินดามัยซินให้ใช้เพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับยาแต้มสิวตัวอื่น อย่างเรตินอยด์และเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ โดยให้ใช้ตามที่แพทย์แนะนำเพื่อผลลัพธ์ที่ดีและป้องกันการกลับมาเป็นสิวซ้ำ 

ส่วนผลข้างเคียงของคลินดามัยซินจะคล้ายกับยาแต้มสิวตัวอื่น ๆ เช่น ผิวแห้ง แสบ ลอก แดง คัน หน้ามันกว่าปกติในบางราย เป็นต้น

ยาแต้มสิวเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของยาแต้มสิวที่ได้รับความนิยมเท่านั้น ยังมียาแต้มสิวอีกหลายตัวที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ละตัวอาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันในแต่ละคนและตามชนิดของสิวที่เป็น 

นอกจากยาแต้มสิวในรูปแบบของยาแล้ว อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีสรรพคุณช่วยเรื่องสิว เช่น สารสกัดจากพืชและสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อต้านอักเสบ สารผลัดเซลล์ผิวอย่างเอเอชเอ (AHA) ที่ช่วยให้รอยสิวจางลงและลดรอยแผลเป็น เป็นต้น

เรื่องที่ควรรู้และวิธีใช้ยาแต้มสิวอย่างปลอดภัย

ยาแต้มสิวแต่ละชนิดมีวิธีใช้ สรรพคุณ และความเสี่ยงที่กัน วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้ใช้ยาแต้มสิวอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนซื้อหรือใช้ยาแต้มสิวเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสิวรุนแรง เป็นโรคผิวหนัง มีโรคประจำตัว อยู่ระหว่างการใช้ยา ตั้งครรภ์หรือให้นมทารก รวมทั้งควรแจ้งชนิดของโรคและยาที่ใช้ให้แพทย์และเภสัชกรทราบด้วย
  • ใช้ยาแต้มสิวตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ หากสงสัยเกี่ยวกับการใช้ การปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด
  • อ่านฉลากยาแต้มสิวก่อนเสมอ เพราะในท้องตลาดมีทั้งยาแต้มสิวและผลิตภัณฑ์รักษาสิวแบบที่ไม่ใช่ยา ซึ่งหลายคนอาจสับสนและใช้ผิดได้
  • ยาแต้มสิวมีรูปแบบหลากหลาย ทั้งครีม เจล และโฟมล้างหน้า บางชนิดต้องล้างออกตามเวลาที่กำหนด บางชนิดสามารถทาทิ้งไว้ข้ามคืนได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังแม้จะเป็นตัวยาเดียวกัน
  • ความเข้มข้นของยาแต้มสิวมีหลายระดับและมีวิธีการใช้ที่ต่างกัน หากไม่แน่ใจถึงวิธีใช้ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ
  • ยาแต้มสิวที่เป็นสารฆ่าเชื้อ อย่างเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์และคลินดามัยซิน ควรใช้ตามเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัดแม้อาการดีขึ้นหรือหายแล้วก็ตาม เพราะการหยุดใช้อาจทำให้กลับมาเป็นสิวซ้ำและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
  • ยาแต้มสิวหลายชนิดสามารถซื้อได้เอง แต่เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ดี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ หรืออย่างน้อยก็ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา
  • ก่อนและหลังใช้ยาแต้มสิว ควรล้างมือให้สะอาดเสมอ

ผลข้างเคียงทั่วไปจากการใช้ยาแต้มสิวส่วนใหญ่จะคล้ายกัน เช่น ผิวแห้ง แดง ลอก แสบ คัน และไวต่อแสง ซึ่งควรดูแลผิวอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงแสงแดด ความร้อน ทาครีมกันแดด และระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีสารก่อระคายเคือง อย่างน้ำหอม แอลกอฮอล์ สี และสารกันเสีย หากอาการรุนแรงขึ้น ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์

ผลข้างเคียงรุนแรงและอาการแพ้ยาแต้มสิวมักพบได้น้อย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ หากพบอาการผื่นแดง เป็นแผลพุพอง อาการบวมตามผิวหนัง ริมฝีปาก คอ หายใจลำบาก เสียงแหบหวัด หรือเวียนหัว ควรไปโรงพยาบาลทันที

ผลลัพธ์จากยาแต้มสิวและการรักษาสิวต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะเห็นผล ระหว่างนั้นไม่ควรทายาเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ ไม่หยุดยาเอง และไม่แกะ เกาสิว หากรู้สึกใช้ไปสักพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์อีกครั้ง