หลายคนมีความเชื่อว่าอาการตากระตุกข้างขวาอาจหมายถึงลางบอกเหตุบางอย่าง แต่ในทางการแพทย์ อาการตากระตุกไม่ว่าจะเป็นตากระตุกข้างขวาหรือข้างซ้าย มักเป็นสัญญาณของการใช้สายตามากเกินไป ความเหนื่อยล้า หรือความเครียด นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการตากระตุกได้เช่นกัน
อาการตากระตุกสามารถสังเกตได้คือบริเวณเปลือกตาจะมีอาการกระตุกเกิดขึ้นติดต่อกันอย่างควบคุมไม่ได้ แต่จะหายไปภายในเวลาไม่นาน โดยมักเกิดขึ้นบริเวณเปลือกตาข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็สามารถเกิดขึ้นบริเวณเปลือกตาทั้งสองข้างพร้อมกันได้ อาการตากระตุกส่วนใหญ่ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อดวงตา เพียงแค่เป็นสัญญาณบอกว่าดวงตาของเราก็กำลังต้องการการพักผ่อน
ตากระตุกข้างขวากับ 7 ลางบอกเหตุเกี่ยวกับสุขภาพ
อาการตากระตุกสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตากระตุกข้างขวาและตากระตุกข้างซ้าย โดยอาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างที่หลายคนทำบ่อย ๆ แต่ไม่รู้ตัวว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรืออาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพบางประการที่ไม่รุนแรงก็ได้เช่นกัน ปัจจัยที่มักทำให้เกิดอาการตากระตุกได้ มีดังนี้
1. อาการตาล้า
การใช้สายตามากเกินไป เช่น การขับรถทางไกล การอ่านหนังสือติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการจ้องหน้าจอโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน มักทำให้กล้ามเนื้อดวงตาเกิดอาการตึงเครียด เมื่อยล้า และเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาการตากระตุกได้ นอกจากนี้ ความเครียดทางอารมณ์หรือความวิตกกังวลใจ ก็สามารถทำให้เกิดอาการตากระตุกได้เช่นกัน
2. การพักผ่อนไม่เพียงพอ
อาการตากระตุกอาจเป็นสัญญาณว่าร่างกายของคุณกำลังต้องการการพักผ่อน เนื่องจากคนเราควรนอนหลับพักผ่อนประมาณวันละ 6–8 ชั่วโมง แต่ในผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอหรือมีพฤติกรรมอดนอน นอกจากจะทำให้มีอาการง่วงซึม ไม่มีแรง และไม่กระปรี้กระเปร่าแล้ว ก็จะทำให้ดวงตาเกิดอาการเมื่อยล้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการตากระตุกได้
3. อาการระคายเคืองตา
อาการตากระตุกอาจเกิดขึ้นได้จากการมีฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณเปลือกตาหรือข้างในลูกตาตามมา นอกจากนี้ อาการตาแห้งที่มักมีสาเหตุมาจากการอยู่ในสภาพอากาศที่แห้ง สถานที่ที่มีลมพัดแรง หรือการขาดความชื้นในดวงตา ก็สามารถทำให้เกิดอาการตากระตุกได้เช่นกัน
4. การดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป
อาการตากระตุกอาจเป็นสัญญาณว่าคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไป เพราะการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ในปริมาณที่มากเกินไปเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการตากระตุกได้ จึงควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ กาแฟ ชา หรือน้ำอัดลม ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละวัน
5. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการตากระตุกได้ เช่น ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก หรือยาต้านอาการซึมเศร้า เพราะจะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการตาแห้ง และอาจส่งผลให้เกิดอาการตากระตุกตามมาได้ นอกจากนี้ การใช้ยารักษาโรคพาร์กินสันอย่างยาลีโวโดปา (Levodopa) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และอาจทำให้เกิดอาการตากระตุกได้เช่นกัน
6. ภาวะหนังตากระตุก (Blepharospasm)
อาการตากระตุกอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ด้วย เช่น ภาวะหนังตากระตุก โดยเกิดขึ้นจากการเกร็งของกล้ามเนื้อดวงตา ทำให้เกิดอาการตากระตุก กะพริบตาบ่อย หรือลืมตาลำบาก และมักเกิดขึ้นบริเวณหนังตาทั้งสองข้างพร้อมกัน การรักษาภาวะนี้จะต้องรักษาโดยแพทย์ โดยแพทย์อาจรักษาด้วยยาหรือรักษาด้วยการฉีดโบทอกซ์
7. โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Myasthenia gravis)
โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นปัญหาสุขภาพอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการตากระตุก โดยเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและส่งผลต่อการสื่อกระแสประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวอย่างผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น หนังตาตก โฟกัสภาพไม่ได้ เห็นภาพซ้อน และมีปัญหาในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณอื่นอย่างแขน ขา และใบหน้า
วิธีรับมืออาการตากระตุกข้างขวาง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
แม้ว่าอาการตากระตุกส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว สามารถหายได้เอง และมักไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกาย แต่ก็อาจส่งผลกระทบกับบุคลิกภาพ สร้างความรำคาญใจ หรืออาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งวิธีการเหล่านี้อาจช่วยรับมือหรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการตากระตุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอประมาณวันละ 6–8 ชั่วโมง โดยจัดสภาพแวดล้อมในการนอนหลับให้เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพในการนอนหลับให้ดียิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้สายตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ เช่น การจ้องหน้าจอโทรศัพท์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน โดยควรแบ่งเวลาพักสายตาระหว่างวัน
- จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพราะความเครียดสามารถส่งผลถึงการนอนหลับ ซึ่งหากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจเกิดอาการตากระตุกตามมาได้
- ประคบร้อนบริเวณดวงตาที่มีอาการกระตุก โดยการนำผ้าไปชุบน้ำอุ่นแล้วบิดให้หมาด จากนั้นนำมาวางไว้บนเปลือกตาประมาณ 5–10 นาที
- หากมีอาการตากระตุกจากการที่ดวงตาแห้ง อาจใช้ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียม เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่นชื้นให้แก่ดวงตา
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไป
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน เพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการตากระตุกข้างขวาหรือข้างซ้ายเกิดขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็นร่วมด้วย เช่น คันตา ตาแดง บวม ไวต่อแสง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน มองไม่เห็น มีของเหลวไหลออกจากดวงตา หรือลืมตาไม่ขึ้น อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ควรรีบไปพบแพทย์แพทย์เพื่อรับการรักษา