ตาแห้งเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยจะเกิดขึ้นเมื่อมีน้ำตาไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงหรือหล่อลื่นดวงตา เนื่องจากน้ำตาถูกผลิตออกมาน้อยหรือน้ำตาที่ผลิตออกมาไม่มีคุณภาพ จนก่อให้เกิดอาการเจ็บตา คันตา หรือตาแดงตามมา
การที่ร่างกายผลิตน้ำตาออกมาไม่เพียงพอสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่อายุที่มากขึ้น สุขภาพโดยรวม สภาพแวดล้อม หรือการใช้ยาบางชนิด โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ ก็เช่น การอยู่ในที่แจ้งที่มีลมและแดดแรง การจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ความเหนื่อยล้า และการอยู่ในที่ที่มีการสูบบุหรี่
ลักษณะอาการเมื่อตาแห้ง
เมื่อตาแห้งก็จะทำให้รู้สึกไม่สบายตา มีอาการระคายเคือง หรือแสบตา โดยอาการตาแห้งมักเกิดพร้อมกันทั้งสองข้าง ซึ่งอาจมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการแสบ คัน ระคายเคือง หรือรู้สึกเสียดสีที่ดวงตา
- เกิดเมือกเหนียว ๆ บริเวณรอบดวงตา
- สายตามีความไวต่อแสงมากกว่าปกติ
- ตาแดง
- รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างอยู่ในดวงตา
- ใส่คอนแทคเลนส์ได้ยากกว่าปกติ
- ขับรถในเวลากลางคืนได้ยากขึ้น
- ตาแฉะ
- มองเห็นภาพเบลอหรือตาล้า
แม้อาการอาจจะดูไม่ค่อยรุนแรง แต่หากว่ามีสัญญาณหรืออาการของตาแห้งดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงตาแดง ระคายเคือง ตาล้าหรือเจ็บตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งแพทย์จะตรวจดูอาการหรือส่งไปยังผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
รักษาตาแห้งด้วยวิธีใดได้บ้าง
โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่มีปัญหาตาแห้งแบบเป็นครั้งคราวหรือมีอาการที่ไม่รุนแรง อาจใช้เพียงยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมที่ขายตามร้านขายยาทั่วไปได้ แต่ผู้ที่มีอาการติดต่อกันนาน ๆ และรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ และจัดการกับสภาวะหรือปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการรักษาอื่น ๆ ที่สามารถทำให้คุณภาพของน้ำตาดีขึ้น หรือการป้องกันน้ำตาระบายออกอย่างรวดเร็ว
โดยในการรักษา แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป เช่น หากผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์ก็อาจพิจารณาเปลี่ยนชนิดของยา หรือหากมีปัญหาที่เกี่ยวกับเปลือกตา หรือหากผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านสุขภาพ อย่างมีภาวะขอบเปลือกตาม้วนเข้าด้านใน หรือข้ออักเสบรูมาตอยด์ แพทย์จะนำส่งผู้ป่วยไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้น ๆ
นอกจากนี้ การใช้ยาก็เป็นอีกวิธีที่แพทย์อาจใช้รักษาอาการตาแห้ง โดยตัวอย่างยาที่แพทย์อาจใช้ เช่น
1. น้ำตาเทียม
แพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมบางชนิด โดยชนิดที่มักนำมาใช้คือ ไฮดรอกซีโพรพิล เซลลูโลส (Hydroxypropyl Cellulose) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดข้าวสีใส ๆ ใช้วันละครั้ง โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยแทรกยาเข้าไปที่ระหว่างดวงตากับเปลือกตาด้านล่าง ยาจะละลายอย่างช้า ๆ และปล่อยสารที่ใช้ในยาหยอดตาเพื่อหล่อลื่นดวงตา
2. ยาที่ใช้เพื่อลดการอักเสบที่เปลือกตา
การอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณเปลือกตาสามารถทำให้เกิดต่อมน้ำมันจากน้ำมันที่หลั่งออกมาและไปรวมกับน้ำตาได้ แพทย์อาจแนะนำให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการอักเสบ ซึ่งยาปฏิชีวนะสำหรับตาแห้งส่วนใหญ่จะเป็นแบบยารับประทาน หรือในบางกรณีอาจเป็นแบบยาหยอดตาหรือขี้ผึ้ง
3. ยาหยอดตาเพื่อควบคุมการอักเสบของกระจกตา
การอักเสบที่เกิดขึ้นที่กระจกตา อาจควบคุมได้ด้วยการใช้ยาหยอดตาตามใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งมีส่วนประกอบของยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือการใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ แต่ยากลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์นั้นจะไม่เหมาะกับการใช้ในระยะยาวเนื่องจากผลข้างเคียงของยา
4. ยากระตุ้นน้ำตา
ยาที่ช่วยเพิ่มการผลิตน้ำตาที่เรียกว่า คอลิเนจิก (Cholinergics) โดยกลุ่มยาชนิดนี้มีทั้งประเภทยาเม็ด แบบเจล หรือยาหยอดตา แต่อาจมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เหงื่อออก
5. ยาหยอดตาที่ทำจากเลือดของตัวเองหรือยาหยอดตาซีรั่ม
หรือที่เรียกว่า Autologous Blood Serum Drops เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ตาแห้งรุนแรงโดยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาชนิดอื่น ๆ แต่ในกรณีนี้จะพบได้น้อยมาก
วิธีป้องกันตาแห้งอย่างถูกต้อง
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาอาการตาแห้ง คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง หรือการป้องกันตั้งแต่สาเหตุ และไม่ปล่อยเอาไว้จนเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยการสังเกตตัวเองว่าสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมใดที่ทำให้เกิดอาการ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
โดยตัวอย่างที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น
- เมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศแห้งมาก ๆ เช่น ในห้องแอร์หรือบนเครื่องบิน พยายามหลับตาพักสายตาบ่อย ๆ เพื่อลดการระเหยของน้ำตา
- เมื่อต้องทำงานที่ต้องใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรหมั่นพักสายตาบ่อย ๆ โดยเฉพาะการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ให้พยายามกระพริบตาให้ถี่ขึ้นกว่าปกติ
- หากต้องทำงานอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ อาจใช้เครื่องทำความชื้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศให้กับห้องหรือสถานที่ที่มีอากาศแห้งมาก ๆ ได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีลมแรงนาน ๆ หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมแว่นตากันลม เพื่อป้องกันลมปะทะดวงตามากจนเกินไป รวมถึงหลีกเลี่ยงแรงลมจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ให้โดนบริเวณดวงตาโดยตรง เช่น การใช้ไดร์เป่าผม การนั่งจ่อหน้าพัดลมหรือแอร์ในรถยนต์
- หยดน้ำตาเทียมที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่หากต้องการใช้บ่อยครั้งควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารกันบูด หรือจะเลือกใช้น้ำตาเทียมชนิดเจลแทน
- รับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่พบมากในปลาที่มีกรดไขมันดี อย่างปลาแซลมอนหรือปลาซาร์ดีน แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่ควรรับประทานในแต่ละวัน รวมถึงข้อดีและข้อเสียของการรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 ในรูปแบบอาหารเสริม
- ประคบอุ่นบริเวณเปลือกตา เพื่อลดการอุดตันของไขมันในต่อมเปลือกตาและเพิ่มคุณภาพของน้ำตา หรือทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาด้วยผ้าชุบสบู่และน้ำอุ่น จากนั้นล้างออกด้วยความระมัดระวัง
- การสูบบุหรี่ เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการตาแห้งให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สูบเองหรือผู้ที่ไม่ได้สูบก็ควรหลีกเลี่ยงจากควันบุหรี่
ทั้งนี้ หากสัญญาณและอาการของตาแห้งติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็น ตาแดง ตาล้า เจ็บหรือระคายเคืองตา ควรไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพดวงตา และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น