ตำลึง ผักพื้นบ้านที่มีเครือเถาเลื้อยตามริมรั้ว มีรสชาติอร่อย ปลูกง่าย และยังได้ประโยชน์จากสารโภชนาการต่าง ๆ คนจึงนิยมนำมาประกอบอาหาร โดยมีความเชื่อที่ว่าตำลึงอาจมีสรรพคุณรักษาและต้านโรคต่าง ๆ ได้ด้วย
ตำลึงเป็นแหล่งรวมสารอาาหารที่มีประโยชน์ มีเบตาแคโรทีน และมีแคลเซียมสูง ทั้งยังมีการสกัดสารประกอบอื่น ๆ จากผลและใบ เพื่อหวังนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในการรักษาหรือต้านเชื้อโรคได้ โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนกล่าวถึงสรรพคุณต่าง ๆ ของตำลึงไว้ ดังนี้
ต้านโรคติดต่อจากแมลง
ลิชมาเนีย (Leishmaniasis) เป็นโรคติดต่อที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เกิดจากการโดนริ้นฝอยทรายกัด ซึ่งพบแมลงชนิดนี้กระจัดกระจายได้ทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคใต้ แต่เดิมไม่พบในประเทศไทย แต่อาจติดเข้ามากับชาวไทยที่ไปทำงานในประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย อิรัก หรือซีเรีย เป็นต้น
การรักษาโรคลิชมาเนียขึ้นอยู่กับประเภทและอาการของโรค แต่ยารักษาเฉพาะโรคนั้นมักทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแทรกซ้อนได้มาก จึงต้องใช้ยาอย่างระมัดระวังและอยู่ในการดูแลของแพทย์เสมอ อีกทั้งในปัจจุบันมีข้อกังวลเกี่ยวกับการดื้อยาของตัวปรสิตที่เป็นเหตุของโรคนี้ และความเป็นพิษของยาที่มีต่อผู้ป่วย จึงทำให้เกิดการสรรหาวิธีการรักษาแบบอื่น ๆ ที่ปลอดภัยขึ้นมา ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าตำลึงอาจช่วยต้านเชื้อของโรคลิชมาเนียได้
โดยงานวิจัย 2 ชิ้นที่ศึกษาประสิทธิภาพในการต้านโรคลิชมาเนียของสารสกัดจากใบตำลึงในห้องทดลอง พบว่าสารสกัดจากใบตำลึงอาจมีสรรพคุณต้านเชื้อลิชมาเนีย โดโนวานิ (Leishmania Donovani) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ และ 1 ในงานวิจัยดังกล่าวยังระบุด้วยว่า อาจนำตำลึงมาพัฒนาเป็นวิธีรักษาทางธรรมชาติที่ใช้รับมือกับโรคลิชมาเนียในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงผลการศึกษาจากห้องทดลองเท่านั้น ทำให้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าตำลึงจะช่วยต้านโรคลิชมาเนียในมนุษย์ได้จริง ดังนั้น ควรศึกษาถึงคุณสมบัติและความปลอดภัยของตำลึงต่อการรักษาโรคนี้ในมนุษย์เพิ่มเติม โดยเฉพาะต่อการรักษาและต้านเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ ที่เจอด้วย เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์เป็นการรักษาทางธรรมชาติเพื่อทดแทนยาที่เสี่ยงมีความเป็นพิษต่อไป
ต้านเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อแบคทีเรียอาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น รูขุมขนอักเสบ อาหารเป็นพิษ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น แต่นอกจากการรักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ การเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคจากแบคทีเรียได้ ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าตำลึงอาจมีสรรพคุณในด้านนี้
โดยงานวิจัยหนึ่งศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดจากผลตำลึงกับการออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียในห้องทดลอง พบว่าสารสกัดจากผลตำลึงทั้งแบบสกัดร้อนและเย็นอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ คือ เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) เชื้อเอ็นเทอโรค็อกคัส ฟีคาลิส (Enterococcus Faecalis) และเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas Aeruginosa)
ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งทดลองในแบบเดียวกันแต่ใช้สารสกัดจากใบตำลึงแทน พบว่าสารนี้อาจมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียก่อโรคชนิดต่าง ๆ ได้เช่นกัน เช่น เชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส เชื้อเคลบเซลลา นิวโมเนียอี (Klebsiella Pneumoniae) เชื้อโพรเตียส วัลการิส (Proteus Vulgaris) เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล และเชื้อแบซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus Subtilis) เป็นต้น และการวิจัยดังกล่าวยังพบด้วยว่าสารสกัดจากตำลึงอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อราบางชนิด ซึ่งอาจนำตำลึงมาพัฒนาเป็นยาต้านจุลชีพต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลอง ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการบริโภคตำลึงในรูปแบบอาหารหรือยาจะมีประสิทธิผลเช่นเดียวกับงานค้นคว้าที่ผ่านมาหรือไม่ จึงควรศึกษาเพิ่มเติมในรูปแบบที่หลากหลายและทดลองในมนุษย์ เพื่อนำผลลัพธ์มาประยุกต์ใช้ในการผลิตยารักษาโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ต่อไปในอนาคต
เบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยจึงต้องดูแลตนเองโดยระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารเป็นอย่างมาก เพื่อคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีความเชื่อว่าการเลือกบริโภคผักผลไม้บางชนิดอย่างตำลึงอาจช่วยให้อาการของโรคเบาหวานดีขึ้นได้ เพราะอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ ที่มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน
มีงานวิจัยหนึ่งให้ผู้ทดลองกลุ่มแรกจำนวน 61 คนรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของตำลึงปริมาณ 20 กรัมร่วมกับมะพร้าวขูดและเกลือ โดยให้บริโภคเป็นอาหารเช้า ในขณะที่ให้ผู้ทดลองอีก 61 คนรับประทานอาหารเช้าในแบบเดียวกัน แต่ปราศจากอาหารที่มีส่วนประกอบของตำลึง ซึ่งผลการทดลองพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ทดลองกลุ่มที่รับประทานตำลึงด้วยนั้น ลดลงมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ
แม้มีงานวิจัยบางส่วนที่เผยว่าตำลึงอาจมีแนวโน้มช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ แต่ก็ไม่อาจยืนยันประสิทธิภาพที่แน่ชัดของตำลึงในด้านนี้ได้ จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนในทางการแพทย์ ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการรับประทานแต่ละอย่าง และปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียก่อนรับประทานเสมอ เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาควบคุมอาการของโรคเบาหวาน และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ข้อควรระวังในการบริโภคตำลึง
การบริโภคตำลึงในรูปแบบอาหารนั้นค่อนข้างปลอดภัยหากไม่รับประทานติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาใดทราบแน่ชัดว่าการบริโภคตำลึงในระยะยาวจะก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ขึ้นหรือไม่ ดังนั้น ควรรับประทานตำลึงด้วยความระมัดระวังในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรืออยู่ในกลุ่ม ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตำลึง เพราะในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลใดยืนยันได้ว่าการบริโภคตำลึงในขณะที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะปลอดภัยต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
- ผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัด ห้ามรับประทานตำลึงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะตำลึงอาจมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด จนเป็นผลให้ระบบการควบคุมน้ำตาลในเลือดของร่างกายถูกรบกวนระหว่างการผ่าตัดหรือหลังการผ่าตัดได้
- ผู้ป่วยเบาหวาน ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรับประทานตำลึงอาจลดระดับน้ำตาลในร่างกายให้ต่ำเกินไป โดยเฉพาะเมื่อกำลังใช้ยารักษาโรคเบาหวานชนิดต่าง ๆ ที่อาจมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว เช่น ยาไกลพิไซด์ ยาไกลเมพิไรด์ ยาไพโอกลิตาโซน หรืออินซูลิน เป็นต้น