ติ่งเนื้อที่คอสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่บางคนอาจรู้สึกว่าติ่งเนื้อที่คอทำให้ผิวหนังดูไม่เรียบเนียนสวยงาม และเกิดความไม่มั่นใจตามมาได้ อย่างไรก็ตาม ติ่งเนื้อที่คอนั้นสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยตนเองที่บ้าน และการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ
ติ่งเนื้อเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็กที่มักเกิดขึ้นเป็นเปื้อนบนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณคอ ใต้ราวนม รักแร้ หรือขาหนีบ ติ่งเนื้ออาจมีลักษณะคล้ายกับไฝหรือหูด แต่ติ่งเนื้อจะนูนขึ้นมาจากผิวหนังและเมื่อสัมผัสจะรู้สึกนุ่ม ต่างจากไฝที่มักเป็นทรงแบน และต่างจากหูดที่มักแข็งหรือขรุขระ แม้ว่าโดยปกติติ่งเนื้อจะไม่มีอาการใด ๆ แต่การเสียดสีกับผิวหนัง เสื้อผ้า หรือเครื่องประดับ ก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือเกิดเลือดออกได้
ติ่งเนื้อที่คอ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
ติ่งเนื้อที่คอเกิดจากการที่ร่างกายผลิตเซลล์พิเศษขึ้นในผิวหนังชั้นบนสุด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเสียดสีของผิวหนังบริเวณข้อพับ นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อที่คอเพิ่มมากขึ้น ได้แก่
- การมีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด หรือมีความปกติเกี่ยวกับผิวหนัง
- การตั้งครรภ์ โดยอาจเกิดจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์
- คนในครอบครัวมีติ่งเนื้อที่คอ เพราะอาจเกิดการถ่ายทอดลักษณะเหล่านี้ทางพันธุกรรม
ติ่งเนื้อที่คอ กำจัดได้ ไม่ยากอย่างที่คิด
ติ่งเนื้อที่คอโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ถ้าหากติ่งเนื้อที่คอทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือทำให้ผิวหนังดูไม่เรียบเนียนสวยงาม คุณอาจจัดการกับติ่งเนื้อที่คอด้วยตัวเองง่าย ๆ ด้วยวิธีการดังนี้
- กระเทียม โดยนำกระเทียมบดทามาบริเวณที่เกิดติ่งเนื้อให้ทั่ว จากนั้นปิดผ้าพันแผลทิ้งไว้ 1 คืน และล้างออกในตอนเช้า ทำซ้ำจนกว่าติ่งเนื้อที่คอจะหายไป
- น้ำมันทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) โดยผสมน้ำมันทีทรีออยล์กับน้ำมันตัวพา (Carrier Oil) ให้เจือจาง นวดเบา ๆ บริเวณที่เกิดติ่งเนื้อแล้วพันผ้าพันแผลทิ้งไว้ 1 คืน ทำซ้ำจนกว่าติ่งเนื้อที่คอจะหายไป
- น้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลไซเดอร์ (Apple cider vinegar) โดยนำสำลีชุบน้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลไซเดอร์มาแปะบริเวณที่เกิดติ่งเนื้อประมาณ 15–30 นาที แล้วล้างออก ทำซ้ำทุกวันประมาณ 2–3 สัปดาห์
หากรักษาติ่งเนื้อที่คอด้วยตัวเองไม่ได้ผล คุณอาจลองปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อกำจัดติ่งเนื้อที่คอออกด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาทาเฉพาะที่สำหรับรักษาติ่งเนื้อ เช่น ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) หรือรักษาด้วยการทำหัตการ ดังนี้
การจี้ติ่งเนื้อด้วยไฟฟ้า
การจี้ด้วยไฟฟ้าจะเป็นการใช้ความร้อนในการกำจัดติ่งเนื้อ โดยความร้อนจะทำให้เกิดการเผาไหม้บริเวณผิวหนังและทำให้ติ่งเนื้อหลุดออกไป การรักษาติ่งเนื้อด้วยวิธีนี้มักไม่ทำให้เกิดเลือดออก แต่อาจจำเป็นต้องใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเจ็บปวดในระหว่างการรรักษา
การรักษาด้วยความเย็นจัด
วิธีการนี้แพทย์จะทำการฉีดพ่นไนโตรเจนเหลวที่มีความเย็นจัดในปริมาณเล็กน้อยลงบนผิวหนังที่เกิดติ่งเนื้อ เพื่อใช้ความเย็นในการยับยั้งการเจริญเติบโตของผิวหนังที่เกิดติ่งเนื้อ และทำให้ติ่งเนื้อหลุดออกไปเอง โดยวิธีการนี้อาจจำเป็นต้องทำซ้ำจนกว่าติ่งเนื้อจะหลุดออกไปจนหมด
การตัดด้วยกรรไกรทางการแพทย์
วิธีการนี้แพทย์จะใช้มีดหรือกรรไกรทางการแพทย์ในการตัดติ่งเนื้ออกไป โดยส่วนใหญ่จะใช้ในการกำจัดติ่งเนื้อขนาดเล็กที่ห้อยย้อยออกมาจากผิวหนัง วิธีการตัดติ่งเนื้อออกมักจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจทำให้มีเลือดออกเล็กน้อย ในบางกรณี แพทย์อาจจำเป็นต้องเย็บแผลหรือใช้ผ้าพันแผล แต่ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของติ่งเนื้อที่ตัดออกไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ของมีคมในการตัด ดึง หรือบีบติ่งเนื้อที่คอด้วยตัวเอง รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่ามีคุณสมบัติในการจำกัดติ่งเนื้อที่คอได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักไม่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ และสามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หรืออาจนำไปสู่การเกิดปัญหาผิวหนังที่รุนแรงตามมาได้