ตุ่มคันขึ้นตามตัว 6 สาเหตุและวิธีการทำให้หายเร็วขึ้นด้วยตัวเอง

ตุ่มคันขึ้นตามตัว คือตุ่มนูนที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยุงกัด อาการแพ้ โรคผิวหนัง ตุ่มคันเป็นอาการทางผิวหนังบนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ที่มักทำให้รู้สึกคันหรือในบางครั้งอาจเป็นผื่นแดง แม้ว่าตุ่มคันส่วนใหญ่จะหายเองได้ แต่ก็อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว รวมทั้งรำคาญใจและสูญเสียความมั่นใจได้ ผู้ที่มีตุ่มคันขึ้นตามตัวสามารถบรรเทาอาการเพื่อให้หายเร็วขึ้นได้

ตุ่มคันอาจมีจำนวน ขนาด และขึ้นบนบริเวณผิวหนังที่แตกต่างกันในแต่ละกรณี ส่วนใหญ่ตุ่มคันไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ เนื่องจากสามารถหายได้เอง แต่ตุ่มคันที่ไม่ได้รับการดูแล ก็อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น เกาจนเป็นแผล ติดเชื้อเกิดรอยแผลเป็น ทั้งนี้ ผู้ที่อาการตุ่มคันขึ้นตามตัวที่รุนแรง หรือไม่ดีขึ้นหลังบรรเทาอาการด้วยตัวเอง ควรพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม

Itchy Bumps

สาเหตุของอาการตุ่มคันขึ้นตามตัว

ตุ่มคันขึ้นตามตัวอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่อไปนี้

1. ยุงหรือแมลงกัด

เมื่อถูกยุงกัดจะทำให้ผิวหนังเกิดรอยตุ่มเล็ก ๆ ที่อาจบวมและทำให้รู้สึกคันร่วมด้วย เนื่องจากหลายคนอาจแพ้น้ำลายยุง ที่แม้ว่าส่วนใหญ่การถูกยุงกัดจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายและจะหายได้ในเวลาอันสั้น แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เพื่อป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ที่มาจากยุง เช่น ไข้เลือดออก ไข้ซิกา มาลาเรีย และโรคเท้าช้าง

นอกจากนี้ ตุ่มคันอาจเกิดจากตัวเรือด (Bed bugs) และเห็บหมัดได้เช่นกัน ตัวเรือดที่อาศัยบนที่นอนสามารถกัดผิวหนังจนมีตุ่มคันขึ้นกระจายตามผิวหนัง มักพบเป็นตุ่มคัน 3–5 จุด ที่มีลักษณะซิกแซกไปมา ในขณะที่รอยหมัดกัดก็ทำให้เกิดตุ่มแดงเล็ก ๆ บริเวณที่ถูกกัด ทำให้รู้สึกคัน และอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังได้ แต่ไม่รุนแรง

2. ลมพิษ

ลมพิษเกิดจากฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารในร่างกายที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้มีระดับสูงกว่าปกติ โดยมีตัวกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ การใช้ยาบางชนิด การติดเชื้อ ความเครียด โดยผื่นลมพิษอาจเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย มีลักษณะเป็นผื่นนูนที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ และอาจทำให้รู้สึกคัน เจ็บ แสบ แต่อาการมักดีขึ้นภายในระยะเวลาไม่นาน

3. ผดร้อน

ผดร้อนเกิดขึ้นจากเหงื่ออุดตันในผิวหนัง ทำให้เกิดตุ่มนูนแดงหรือตุ่มน้ำเล็ก ๆ อาจรู้สึกคันมาก ในบางกรณีผิวอาจบวมและอักเสบร่วมด้วย ผดร้อนพบบ่อยในเด็กทารก และสามารถขึ้นที่บริเวณใดก็ได้ของร่างกาย อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ แต่ไม่สามารถแพร่ไปยังผู้อื่นได้ และมักจะหายเมื่อร่างกายรู้สึกเย็นลง 

4. อีสุกอีใส

อีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง เริ่มแรกผู้ป่วยมักมีไข้ เบื่ออาหาร ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว และรู้สึกอ่อนเพลีย ก่อนที่จะมีตุ่มแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย และต่อมาจึงกลายเป็นตุ่มน้ำใส โดยมักจะขึ้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วร่างกาย ทั้งแขน ขา คอ หน้า ศีรษะ ไปจนถึงเยื่อบุตาและปาก ทำให้รู้สึกคัน โดยตุ่มน้ำใสเหล่านั้นมักจะแตก และกลายเป็นสะเก็ดแผลในภายหลัง 

5. ผื่นระคายสัมผัส

โรคผื่นระคายสัมผัสอาจทำให้เกิดอาการคัน เจ็บ และบวม ร่วมกับมีผื่นแดง ตุ่มน้ำหรือตุ่มพองเล็ก ๆ บริเวณที่สัมผัสกับสิ่งก่อภูมิแพ้ เช่น พืชบางชนิด สารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เครื่องประดับ และน้ำหอมในเครื่องสำอาง โดยตุ่มพองอาจมีน้ำไหลออกมา ก่อนจะกลายเป็นสะเก็ดแผลและหายใน 2–4 สัปดาห์

6. ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ 

ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ อาจเกิดได้จากทั้งเหงื่อ ความร้อน ความเครียด การใช้เครื่องสำอางและสบู่ เริ่มแรกผู้ป่วยมักรู้สึกแสบ ก่อนที่จะมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ ขึ้นที่มือหรือเท้า มักมีอาการคันมาก มีน้ำไหลออกจากตุ่มคัน หรือมีเลือดออกได้ อาจเป็น ๆ หาย ๆ และใช้เวลานานถึง 3–4 สัปดาห์ก่อนจะหายดี แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ 

วิธีบรรเทาที่บ้านเมื่อตุ่มคันขึ้นตามตัว 

วิธีการรับมือเพื่อให้ตุ่มคันหายได้เร็วขึ้น มีดังนี้

  • ล้างบริเวณที่มีตุ่มคันด้วยน้ำและสบู่ และเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะตุ่มคันจากการโดนยุงหรือแมลงกัด เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อ 
  • พยายามไม่เกาบริเวณที่มีตุ่มคัน เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไปยังบริเวณอื่นของร่างกาย และไม่ให้อาการแย่ลง
  • เพิ่มความชุ่มชื้นด้วยการใช้น้ำมันมะพร้าว หรือว่านหางจระเข้ทาที่ผิวบริเวณที่มีตุ่มคัน เพื่อลดอาการคันที่เกิดจากผิวแห้ง
  • ไม่ควรอาบน้ำอุ่น เพราะอาจทำให้ผิวแห้ง ทำให้รู้สึกคันมากขึ้น และควรอาบน้ำหลังออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผดร้อน
  • ประคบด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็นตรงบริเวณที่มีอาการ เพื่อบรรเทาความรู้สึกคัน ลดอาการบวมและอักเสบ
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น เครื่องสำอาง หรือสบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  • จัดการความเครียด เนื่องจากความเครียดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผิวหนังบอบบาง และแพ้ง่ายมากขึ้น รวมถึงอาจทำให้ตุ่มคันหายช้าลง
  • จัดการกับสัตว์ที่อาจเป็นสาเหตุของตุ่มคัน เช่น กำจัดแหล่งของยุงด้วยการปิดฝาภาชนใส่น้ำ พ่นยาไล่ยุง จัดการตัวเรือด้วยการเปลี่ยนเครื่องนอน ซักและอบเครื่องนอนด้วยความร้อน 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 30 นาที กำจัดหมัดด้วยการอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงและให้ยากำจัดหรือยาป้องกันหมัดที่ได้มาตรฐาน

ผู้ที่มีตุ่มคันขึ้นตามตัวควรประเมินสิ่งที่อาจเป็นสาเหตุเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการบรรเทาอาการ รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ นอกจากนี้ ควรปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อระบายความร้อนได้ดี และอาจใส่เสื้อผ้าสีเข้ม ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 30 นาที  

ผู้ที่มีตุ่มคันขึ้นตามตัวที่มีอาการรุนแรง มีไข้ร่วมด้วย อาการเรื้อรังหรือไม่ดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับรักษาหรือได้รับยาที่เหมาะสมกับอาการ จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว