ในปัจจุบัน มลพิษในอากาศ ทั้งฝุ่น PM 2.5 สารเคมี และฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการคมนาคม ซึ่งการได้รับสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้ ผู้คนจึงมองหาวิธีที่จะฟอกอากาศภายในบ้าน บางคนอาจเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศ ในขณะที่บางคนอาจเลือกซื้อต้นไม้ฟอกอากาศมาไว้ในบ้าน เพราะไม่เพียงช่วยฟอกอากาศ แต่ยังทำให้บ้านร่มรื่นขึ้นอีกด้วย
ต้นไม้ฟอกอากาศเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลดมลพิษทางอากาศภายในบ้าน เพราะมีราคาถูก ช่วยให้บ้านสดชื่นและดีต่อใจผู้อยู่อาศัย อีกทั้งต้นไม้ฟอกอากาศบางชนิดยังมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการของโรคระบบทางเดินหายใจบางโรคอีกด้วย แม้ว่าการปลูกต้นไม้ในบ้านมีข้อดีอยู่มากมาย แต่ต้นไม้บางชนิดอาจมีข้อจำกัดบางอย่าง จึงควรศึกษาก่อนเลือกต้นไม้แต่ละชนิดมาปลูก
อากาศและสารพิษภายในบ้าน
การปลูกต้นไม้ภายในบ้านอาจเป็นอีกทางที่ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้ในระดับหนึ่ง โดยจากการทดลองที่ปลูกต้นไม้ในพื้นที่เมืองพบว่า การปลูกต้นไม้หนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่อาจช่วยลดปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ได้ประมาณ 2–10 เปอร์เซ็นต์
ก่อนจะไปทำความรู้จักกับตัวช่วยฟอกอากาศจากธรรมชาติ เรามาหาต้นตอของสารพิษในอากาศภายในบ้านกันก่อน ซึ่งสารพิษในอากาศที่อาจพบได้ภายในบ้าน เช่น
- สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นสารเคมีกลิ่นฉุนรุนแรง ไม่มีสี ติดไฟได้ง่าย มักเป็นส่วนประกอบของกาว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด วัตถุที่ใช้ทำเป็นฉนวน หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้อัด
- ไซลีน (Xylene) พบได้ในทินเนอร์ หมึกพิมพ์ กาว สารละลายในสีทาบ้าน และยาฆ่าแมลง
- คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) พบได้ในควันรถยนต์และการเผาไหม้อื่น ๆ
- โทลูอีน (Toluene) พบในสีทาบ้าน ทินเนอร์ แลกเกอร์ สีทาเล็บ และหมึกพิมพ์
- เบนซีน (Benzene) พบได้ในพลาสติก สีทาบ้าน ผลิตภัณฑ์เคลือบเงา และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
- แอมโมเนีย (Ammonia) พบได้ในน้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือน น้ำยาเช็ดกระจก และปุ๋ย
โดยส่วนใหญ่ คนทั่วไปอาจสัมผัสกับสารพิษเหล่านี้ได้ในทุกวัน แต่ได้รับในปริมาณที่เล็กน้อยมากจนไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายในระยะสั้น แต่การสูดดมสารเหล่านี้ในปริมาณที่เข้มข้นหรือได้รับปริมาณเล็กน้อยในระยะยาวก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและระบบประสาท
ตัวอย่างเช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ที่มาในรูปของควันเสียรถยนต์ที่ทุกคนสัมผัสอยู่แทบทุกวัน การสัมผัสในระยะยาวอาจส่งผลต่อกระบวนการคิดและอารมณ์ ทำให้คิดได้ช้าลง ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย และอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ สารพิษบางชนิดอาจจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง อย่างฟอร์มาลดีไฮด์ที่พบว่าเพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งจากการทดลองในสัตว์
ต้นไม้ฟอกอากาศเพื่อสุขภาพและความสดชื่น
ต้นไม้ที่มีคุณสมบัติในการฟอกอากาศนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ โดยบทความนี้ได้นำส่วนหนึ่งของพืชพันธุ์เหล่านั้นมาแนะนำให้ลองไปปลูกกันดู
1. ต้นไม้ตระกูลพลูด่าง
พลูด่าง (Golden Pothos) เป็นต้นไม้ขนาดเล็กที่มีลวดลายสวยงาม ปลูกง่าย และดักจับสารเคมีในอากาศได้หลายชนิด เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ไซลีน คาร์บอนมอนอกไซด์ เบนซีน และโทลูอีน ด้วยสรรพคุณการดักจับสารพิษที่หลากหลายของพลูด่างจึงอาจนำไปปลูกไว้ได้แทบทุกที่ภายในบ้าน แต่บ้านที่เลี้ยงสุนัขและแมว ควรระมัดระวัง เพราะต้นไม้ชนิดนี้อาจเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงได้
2. ว่านเศรษฐีเรือนใน
ต้นว่านเศรษฐีเรือนใน (Spider Plants) เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก ไม่มีพิษ เป็นมิตรทั้งกับคนและสัตว์ มีคุณสมบัติช่วยลดปริมาณสารพิษในอากาศ อย่างฟอร์มาลดีไฮด์และไซลีน ซึ่งหากดูตามแหล่งที่มาของสารทั้งสองชนิด การปลูกว่านเศรษฐีเรือนในบริเวณบ้านที่ต้องใช้สารเคมีทำความสะอาดเป็นประจำ หรือห้องทำงานที่ต้องใช้เครื่องปริ้นท์หรือหมึกพิมพ์บ่อย ๆ ก็อาจช่วยลดสารเคมีเหล่านี้ในอากาศได้
สำหรับใครที่ชื่นชอบการอยู่ในห้องแอร์ที่มักทำให้อากาศแห้ง การปลูกต้นเศรษฐีเรือนในไว้ในห้องนอนหรือห้องทำงานอาจช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ ซึ่งอาจช่วยลดอาการผิวแห้งหรือคอแห้งจากการอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ ได้ด้วย
3. ว่านเขียวหมื่นปี
ว่านเขียวหมื่นปี (Chinese Evergreen) เป็นพืชพื้นถิ่นของแถบเอเชียจึงเหมาะกับประเทศไทยที่มีอากาศร้อนชื้น โดยอาจช่วยลดสารเคมีในอากาศ อย่างเบนซีน คาร์บอนมอนอกไซด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ และสารเคมีอื่น ๆ และนอกจากการเป็นต้นไม้ฟอกอากาศแล้ว ใบของว่านเขียวหมื่นปียังมีลวดลายและสีสันที่โดดเด่นกว่าต้นไม้ใบเขียวชนิดอื่น ซึ่งอาจเหมาะต่อการนำมาตกแต่งและฟอกอากาศภายในบ้านอย่างมาก นอกจากนี้ ต้นเขียวหมื่นปีอาจช่วยดักจับสารก่อภูมิแพ้ อย่างเชื้อราและไรฝุ่นได้ จึงอาจเป็นประโยชน์ในผู้ที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ แต่พืชชนิดนี้เป็นพิษต่อสุนัขจึงควรระมัดระวังในการปลูก
4. ปาล์มไผ่
ต้นปาล์มไผ่ (Bamboo Palms) เป็นต้นไม้ที่ปลอดภัยต่อคนและสัตว์เลี้ยง สามารถกำจัดสารพิษได้หลายชนิด อย่างฟอร์มาลดีไฮด์ เบนซีน คาร์บอนมอนอกไซด์ ไซลีน และสารเคมีอื่น ๆ ซึ่งการปลูกปาล์มไผ่ควรวางกระถางในที่สว่าง แต่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง
5. เบญจมาศ
ปิดท้ายกันด้วยไม้ดอกสีสันสดใส อย่างเบญจมาศ (Chrysanthemums) หรือหลายคนรู้จักในชื่อ มัม (Mums) ต้นไม้ฟอกอากาศชนิดนี้อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบดอกไม้หรือใครที่ต้องการเพิ่มสีสันภายในบ้านหรือรอบบ้าน นอกจากสีสันและความสวยงามแล้ว ต้นไม้ชนิดนี้อาจช่วยลดปริมาณของฟอร์มาลดีไฮด์ ไซลีน เบนซีน และแอมโมเนีย (Ammonia) ในอากาศได้เป็นอย่างดี แต่ใครที่มีสัตว์เลี้ยงอาจต้องหาตำแหน่งการปลูกที่ห่างจากสุนัขและแมว เพราะพืชชนิดนี้อาจเป็นพิษต่อสัตว์ได้
นอกจากต้นไม้ฟอกอากาศจะช่วยเพิ่มความบริสุทธิ์ให้กับอากาศภายในบ้านแล้ว งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทดลองให้คนวัยทำงานใช้เวลาอยู่ในพื้นที่สีเขียวระยะเวลาหนึ่ง โดยเรียกวิธีนี้ว่า Forest Bathing พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองนั้นมีการพัฒนาของอารมณ์ในด้านที่ดีขึ้น นักบำบัดจิตบางส่วนยังมีแนวคิดให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์และสมอง อย่างภาวะซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคสมองเสื่อม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้และธรรมชาติ ซึ่งอาจช่วยบำบัดอาการของโรคได้
ไม่เพียงเท่านี้ การปลูกต้นไม้หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้านอาจช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง และผ่อนคลายได้ด้วย
ข้อจำกัดในการปลูกต้นไม้ฟอกอากาศภายในบ้าน
แม้ว่าการปลูกต้นไม้จะช่วยเสริมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่การปลูกต้นไม้ในบ้านก็อาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่ควรทราบก่อนเริ่มต้นปลูก เช่น
- ควรศึกษาชนิด การดูแล ข้อจำกัดของต้นไม้ชนิดนั้น ๆ ก่อนซื้อ และดูแลรักษาเป็นอย่างดี
- การปลูกต้นไม้อาจไม่สามารถฟอกอากาศได้เทียบเท่าเครื่องฟอกอากาศโดยตรง
- ต้นไม้บางชนิดอาจพิษต่อคนและสัตว์
- ต้นไม้บางชนิดมีละอองเกสร ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ในบางคนได้
- การดูแลต้นไม้ที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมอาจทำให้ต้นไม้เป็นโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อราหรือเชื้อโรค และส่งผลให้คุณภาพอากาศลดลงได้
- ต้นไม้อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคบางโรคได้ แต่การปลูกต้นไม้ไม่ใช่ยา ไม่ใช่การรักษา หากรู้สึกไม่สบาย ควรปรึกษาแพทย์
สุดท้ายนี้ แม้ว่าต้นไม้จะช่วยฟอกอากาศได้ แต่การทำความสะอาดบ้าน ดูดฝุ่น ปัดกวาด และเช็ดถูอยู่เป็นประจำยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำอยู่เสมอเพื่อลดฝุ่นและสิ่งสกปรกภายในบ้าน และหากมีอาการคันตามผิวหนัง คันตา ไอ และจามหลังจากสัมผัสกับต้นไม้หรือดอกไม้ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ