ถามแพทย์

  • อายุ 15 ปี มีการปวดหลังช่วงล่างมาเกือบสองปี ปวดเวลานั่งหรือยืนนานๆ ต้องไปหาหมอกระดูกไหม

  •  Narathip
    สมาชิก
    อายุ 15 ค่ะ มีการปวดหลังมาประมาณเกือบสองปีได้ ปวดหลังช่วงล่างเวลานั่งหรือยืนเป็นเวลานานยิ่งปวดแล้วยิ่งมีเรียนหลายชั่วโมงต่อๆกัน แทบก้มไม่ได้เลยค่ะ พักหลังเวลาหายใจเข้าได้ยินเสียงกระดูกดังกร๊อบแกร๊บช่วงบนค่ะ แบบนี้ต้องไปหาหมอกระดูกดูเลยมั้ยคะ อยากถามว่าอันตรายรึเปล่าคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ narathip,

                        อาการปวดหลังบริเวณช่วงล่าง อาจเกิดจาก

                        1. การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เช่น จากการยกของหนัก ทำงานก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ ใส่รองเท้าส้นสูงมากไป การนั่ง การยืนที่ผิดท่า อาการปวด มักจะเป็นการปวดแบบระบม ปวดแบบตุบ ๆ มีจุดที่กดเจ็บ ไม่ปวดร้าวไปที่ใด ไม่มีอาการชาร่วม อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวตัว บิดตัว เอี้ยวตัว ไอ จาม เป็นต้น

                        2. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท อาการปวดมักร้าวไปที่ขาหรือน่องด้วย จะปวดแบบเสียวๆ และอาจมีอาการชาร่วมด้วย ไม่มีจุดกดเจ็บที่ชัดเจน อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อนั่งงอตัวไปข้างหน้า ไอ จาม หรือเบ่ง  

                     3. กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome) อาการจะคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

                     4. ช่องไขสันหลังตีบแคบลง มักเกิดจากการเสื่อมตามอายุ จึงมักพบในผู้สูงอายุ ไม่พบในคนอายุน้อย แต่อาจพบได้หากมีความผิดปกติแต่กำเนิดของโพรงกระดูกสันหลัง หรือจากอุบัติเหตุบริเวณหลัง เป็นต้น อาการปวดจะคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน แต่มักปวดมากเวลาแอ่นตัว เวลานอนราบ และดีขึ้นเมื่อก้มตัว หรือนั่ง 

                      5. กระดูกสันหลังยุบตัว จากโรคกระดูกพรุน มักพบในผู้สูงอายุ 

                      6. มีการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง แต่ก็จะมีไข้เป็นอาการหลักร่วมด้วย 

                      7. เนื้องอกและมะเร็งของกระดูก และเส้นประสาท บริเวณหลัง

                      8. โรคนิ่วในไต นิ่วในท่อไต ก็อาจทำให้มีอาการปวดหลังได้ แต่ก็จะมีอาการผิดปกติทางปัสสาวะร่วมด้วย

                       ในเบื้องต้น ให้หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก เช่น การยกของหนัก งดการออกกำลังกายและเล่นกีฬาต่างๆ ไปก่อน งดการยืนหรือเดินนานๆ งดการทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ งดการใส่รองเท้าส้นสูง นั่งให้ถูกวิธี โดยให้นั่งหลังตรงแบบสบายๆ ไม่เกร็ง หลังต้องไม่งอ ไม่ห่อไหล่ ไม่นั่งแอ่นหนัง ไม่ยกไหล่ขึ้น ไม่เกร็งหัวไหล่  หากมีพนังพิง ให้พิงพนักเก้าอี้โดยให้แผ่นหลังแนบพอดี ลำตัวตั้งตรง ทิ้งน้ำหนักตัวลงบริเวณก้นและสะโพกทั้งสองข้างให้เท่ากัน ไม่เอียงตัวซ้าย หรือขวาด้านใดด้านหนึ่ง ช่วงขาตั้งฉากกับพื้น ทิ้งน้ำหนักลงฝ่าเท้าทั้งสองข้าง หากนั่งติดต่อเป็นเวลานานๆ ควรลุกยืนเพื่อเปลี่ยนอิริยาบทเป็นระยะๆ  และควรหมั่นออกกำลังกายเพื่อยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

                    หากรู้สึกเจ็บหรือปวดมาก อาจใช้การประคบอุ่นบริเวณที่ปวด ทานทานยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด เช่น  ไดโคลฟีแนค (diclofenac), ไพรอกซิแคม (piroxicam) เป็นต้น แต่ต้องไม่แพ้ยาเหล่านี้

                    หากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาค่ะ