ถามแพทย์

  • มีอาการฟุ้งซ่าน คิดมาก ชอบร้องไห้ น้ำหนักลด ควรทำอย่างไรดี

  •  Paint_t
    สมาชิก

    สวัสดีค่ะหนูอายุ 21 ปี ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 4 ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หนูสังเกตตัวเองแล้วพบว่า มีอาการเครียด เบื่อหน่ายกับสิ่งที่ทำ ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด1-2กิโลกรัม จนคนรอบข้างทัก ช่วงนี้ร้องไห้บ่อยมาก ร้องไห้แทบจะทุกวันมาประมาณเกือบ2สัปดาห์ เนื่องจากเครียดเรื่องทำโปรเจคจบ ที่งานยังไม่คืบหน้าแล้วใกล้สอบprogress ใกล้สอบfinal หนังสือก็ยังไม่ได้อ่าน คะแนนmidtermก็ไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ ตอนนี้ก็เลยเครียดและกังวลมากๆ แถมงานกลุ่มโปรเจค เพื่อนที่ทำโปรเจคด้วยก็ไม่กระตือรือร้นที่จะทำ งานส่วนใหญ่หนูเป็นคนทำตลอด แม้กระทั่งเวลาคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาโปรเจคหนูก็ต้องเป็นคนแบกหน้ารับ ตอนแรกหนูก็คิดว่าไม่เป็นไรหนูไหว แต่ตอนนี้หนูไม่ไหวจริงๆ ยิ่งแผนงานโปรเจคที่ว่างไว้มันล้ม หนูยิ่งเครียดหนูพยายามหาวิธีแก้ แต่เพื่อนไม่ช่วยหนูเลย หนูเหนื่อยมากจริงๆ ช่วงนี้เลยร้องไห้หนักมาก ยิ่งเวลากลับหอแล้วอยู่คนเดียวยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งร้องไห้ ล่าสุดหนักชนิดที่ว่าแค่เห็นหน้าเพื่อนก็ร้องหรือแค่พูดถึงชื่อหนูก็ร้อง ล่าสุดหนูเลยไม่ไปเรียนเพราะไม่อยากเจอหน้าใคร อยากนอนอยู่ในห้องเงียบๆไม่อยากคุยกับใคร หนูไม่ไหวจริงๆค่ะ ไม่รู้จะจัดการตัวเองอย่างไร ความสัมพันธ์กับพ่อก็ไม่ค่อยดี เราไม่คุยกันเป็นเดือนหนูยิ่งกังวล หนูไม่อยากเป็นอย่างนี้เลยค่ะ หนูสงสารเมทที่ต้องค่อยฟังหนูบ่น หนูร้องไห้ หนูไม่อยากให้ทุกคนเป็นห่วง กลัวย่าเป็นห่วงมากๆ เพราะตอนนั้นอยู่คนเดียวเมทก็ไม่อยู่ เลยโทรไปคุยกับย่าแล้วร้องไห้ หนูควรทำอย่างไรดีคะ 

    Paint_t  พญ.นรมน
    แพทย์

    สวัสดีค่ะคุณ Paint_t

    อาการดังกล่าวมาอาจเกิดจากความเครียด ความกดดันจากสิ่งที่เจอในชีวิต การมีภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า 

    ภาวะซึมเศร้าคือการที่มีความรู้สึกเศร้า เครียดจากเรื่องต่างๆในชีวิตไม่ว่าจะเป็นจากเรื่องส่วนตัว เรื่องในครอบครัว หรือการทำงาน ทำให้มีความรู้สึกไม่อยากจะทำอะไร ไม่อยากเข้าสังคม  คิดมาก ร้องไห้คนเดียว รู้สึกเบื่อต่อสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งภาวะซึมเศร้าจริงๆแล้วเป็นภาวะที่เกิดได้กับคนทั่วไปในสภาวะที่ต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดัน แต่ในคนทั่วไปจะค่อยๆดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป จะไม่เป็นเรื้อรัง จนรบกวนชีวิตและการเรียน การทำงาน

    แต่หากมีอาการมากเป็นเรื้อรังติดต่อกันเกิน 2 อาทิตย์ อาจเกิดจากโรคซึมเศร้า โดยหากมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย อาจมีอาการเบื่ออาหาร หรือในบางรายก็จะไปรับประทานทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอนน้อยหรือนอนมากกว่าปกติ และเก็บตัวมากจนไม่ออกไปทำงาน ไม่ออกไปเข้าสังคม ควรรีบไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินสภาพจิตและเข้ารับการรักษาด้วยยาหรือการทำจิตบำบัดอย่างเหมาะสม

    แนะนำให้หากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องเศร้า พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่เราไว้ใจได้เพื่อระบายความทุกข์ ไม่เก็บตัวอยู่คนเดียวนานจนเกินไปเพราะจะทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น การได้เขียนระบายก็เป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งค่ะ