-
ลูกสงสัยสมาธิสั้น รักษาอย่างไรที่ไม่ใช้ยา
-
Apr 24, 2017 at 09:33 PM
เวลากินข้าวก็นั่งกินนิ่งๆไม่ได้ กินช้า อาบน้ำช้า เวลาสั่งให้ทำอะไรไม่ทำตามคำสั่ง ชอบทำอะไรรัดขั้นตอน ถ้ากินข้าวช้าแล้วไม่มีคนนั่งอยู่ด้วยชอบเอาข้าวข้าวไปทิ้งแล้วบอกว่ากินหมดแล้ว ชอบพูดแทรก เวลาใครเรียกก็เหมือนไม่ได้ยิน แม่ต้องเรียกให้ตอบอีกครั้ง คุณหมอ ลูกนูเป็นสมาธิสั้นใช่มั้ยค่ะ มีวิธีรักษาแบบที่ไม่ต้องกินยามั้ยค่ะ นูเครียดมากอยากให้ลูกเป็นปกติApr 25, 2017 at 07:04 AM
สวัสดีค่ะ คุณสุขใจ
ภาวะอยู่ไม่นิ่ง พูดแทรก ทำอะไรข้ามขั้นตอน ที่พบได้บ่อยในเด็กค่ะ อย่างไรก็ตามหากน้องมีอาการสงสัยว่าเป็นสมาธิสั้น ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยกุมารแพทย์ค่ะ สำหรับเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น มักจะมี 3 องค์ประกอบคือ ซนมาก สมาธิสั้น และหุนหันพลันแล่น ค่ะ โดยมีอาการดังนี้
- ซนมาก เด็กจะกระโดดโลดเต้นตลอดเวลา ไม่อยู่นิ่ง ยุกยิก เล่นไม่รู้จักเหนื่อย ครูมักจะบอกว่าเด็กเดินในห้องตลอดเวลา ผุดลุกผุดนั่ง อยู่กับที่ไม่ได้ ชอบเล่นแรงๆ โลดโผน ไม่กลัวเจ็บ
- สมาธิสั้น ครูมักบอกว่า มักทำงานที่สั่งไม่ครบ ทำการบ้านไม่เสร็จ พูดสั่งแล้วไม่ทำตาม ฟังประโยคไม่จบ ทำของหายบ่อย
- หุนหันพลันแล่น เด็กชอบพูดสวน ชอบแซงคิว ไม่รู้จักรอคอย ทำอะไรข้ามขั้นตอน
นอกจากนั้นพฤติกรรมเหล่านี้ควรปรากฎในหลายๆสถานที่ เช่น ที่โรงเรียน ที่บ้าน ที่วัด เป็นต้น ค่ะ
ดังนั้นหากสงสัยว่าลูกเป็นสมาธิสั้นควรได้รับการตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นสมาธิสั้นจากกุมารแพทย์อีกทีค่ะ และหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นสมาธิสั้นการรักษาในปัจจุบัน ได้แก่
1. การใช้ยา หากมีอาการอยู่ไม่นิ่งเยอะ การใช้ยาจะมีประโยชน์มากค่ะ
2. พฤติกรรมบำบัด ฝึกการควบคุมตนเอง
3. ปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ ได้แก่
การฝึกควบคุมตนเองของเด็ก โดย พ่อแม่ควรจัดกิจวัตรประจำวันของเด็กให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอตามเวลาที่กำหนดไว้ เช่น เวลาตื่นนอน เวลารับประทานอาหาร ทำการบ้าน หรือเข้านอน เพื่อฝึกให้มีวินัย นอกจากนี้ควรฝึกฝนให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานที่กำลังทำได้ต่อเนื่อง ประมาณ 20 - 30 นาที โดยเน้นให้เด็กนั่งอยู่กับที่ ทำงานจนเสร็จ (เช่น วาดรูป ระบายสี เขียนตามรอยประ เป็นต้น) โดยไม่ลุกเดินไปไหน ซึ่งในช่วงแรกพ่อแม่ควรควบคุมอย่างใกล้ชิด และคอยช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กทำได้สำเร็จ
ส่วนการปรับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเริ่มต้นที่พ่อแม่เอง เช่น แทนท่จะดุว่าเวลาลูกทำผิด พ่อแม่ควรหันมาให้ความสนใจเมื่อลูกทำตัวดีหรือเข้ามาช่วยเหลืองานบ้านบางอย่าง เช่น ให้คำชม กองลูก ให้สติ๊กเกอร์ เพื่อส่งเสริมให้เด็กเกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง
นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่บ้าน ที่โรงเรียนควรจัดสิ่งแวดล้อมไม่ให้กระตุ้นเด็กมากจนเกินไป เช่น ควรเก็บสิ่งของ ของเล่นต่างๆ ให้เข้าที่ พ้นจากสายตาเด็ก โดยใส่ตู้ สิ้นขัก เพื่อไม่ให้เด็กวอกแวกหรือเปลี่ยนความสนใจง่าย เวลาทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมายควรจัดมุมสงบ ห้องไม่ควรกว้างเกินไป ไม่มีคนเดินไปมา และไม่ควรเปิดทีวีขณะทำการบ้าน
ไม่ควรให้เด็กดูทีวี เล่นเกมที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป กำหนดให้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน (รวมทั้ง Ipad วีดีโอต่างๆ รวมแล้วไม่เกิน 2 ชั่วโมง) เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเร้าที่ทำให้เด็กมีภาวะสมาธิสั้นได้ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเป็นแบบอย่างให้เค้าเห็นด้วยค่ะ แต่ควรใช้เวลาในการฝึกสมาธิร่วมกัน สอนการบ้าน สอนระบายสี สอนประดิษฐ์อะไรง่ายๆ สอนเขียนตามรอยประ อ่านนิทาน เป็นต้น
-
ถามแพทย์
-
ลูกสงสัยสมาธิสั้น รักษาอย่างไรที่ไม่ใช้ยา