-
มีอาการหลั่งเร็ว มีเพศสัมพันธ์แค่สองนาทีก็หลั่งแล้ว ควรทำอย่างไร
-
Sep 11, 2019 at 07:14 AM
หมอครับผมมีอาการหลั่งเร็ว ประมาณ 2 นาทีหลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์มีวิธีรักษาไหมครับSep 11, 2019 at 02:53 PM
สวัสดีครับ คุณ nonstop
ถ้าคุณหลั่งได้หลังสอดใส่ เกิน 1 นาที ยังไม่ถือเป็นโรคนี้นะครับ คำแนะนำ ก่อนสอดใส่ควรมีการเล้าโลมก่อน ให้คลายความตื่นเต้นก่อน สร้างความมั่นใจตนเอง ไม่สำเร็จความใคร่บ่อยๆ เพราะจะทำให้ไวต่อความรุ้สึก ไม่ใช้สารเสพติด ก่อนร่วมเพศ ไม่ควรกินแอลกอฮอร์ พออายุมากขึ้นจะสามารถควบคุมการหลั่งได้เองครับ
การรักษาการหลั่งเร็ว
ในเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาอาการได้ด้วยตนเองเมื่อมีกิจกรรมทางเพศด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองก่อนการมีเพศสัมพันธ์ 1-2 ชั่วโมง การเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่มีความหนาไม่ให้อวัยวะเพศไวต่อความรู้สึกจากผิวสัมผัส ขณะมีเพศสัมพันธ์ให้หยุดพักและนึกถึงเรื่องอื่นที่ไม่ทำให้เกิดอารมณ์ หยุดการทำกิจกรรมทางเพศ หรือหายใจเข้าลึก ๆ แล้วพยายามชะลอการหลั่งในขณะที่ใกล้หลั่ง แล้วค่อยเริ่มทำกิจกรรมต่ออีกครั้งหนึ่ง
อีกวิธีคือการใช้เทคนิคบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นบริเวณที่ส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมการหลั่งอสุจิได้ วิธีการบริหาร ทำได้โดยการหากล้ามเนื้อที่ต้องการบริหารให้เจอ ด้วยการหยุดปัสสาวะกลางคันแล้วเกร็งกล้ามเนื้อ เมื่อพบกล้ามเนื้อบริเวณที่ต้องการแล้ว หลังจากนั้นให้หดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณนั้น 3 วินาที แล้วคลายตัวอีก 3 วินาที ทำเช่นนี้ 10 รอบต่อ 1 ครั้ง ระหว่างนี้ให้หายใจเข้าออกตามปกติ บริหารกล้ามเนื้อเช่นนี้เป็นประจำทุกวัน วันละ 3 ครั้ง เพืื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและลดปัญหาการหลั่งเร็วหรือควบคุมการหลั่งไม่ได้
หากผู้ป่วยมีอาการป่วยเดิมที่เกี่ยวข้องเป็นเหตุทำให้เกิดการหลั่งเร็ว แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาตามอาการและความเหมาะสม ได้แก่
- ยาต้านเศร้า (Antidepressant) นอกจากจะใช้รักษาผู้ที่มีอาการและอยู่ในภาวะซึมเศร้า ผลข้างเคียงของกลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านเศร้า คือ ชะลอการถึงจุดสุดยอดของการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเท่ากับชะลอการหลั่งอสุจิในเพศชายด้วย ตัวยาที่ใช้ เช่น พาร็อกซีทีน (Paroxetine) เซอทราลีน (Sertraline) และ ฟลูออกซีทีน (Fluoxetine)
- ดาพ็อกซิทีน (Dapoxetine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับสารซีโรโทนินเช่นเดียวกับกลุ่มยาต้านเศร้า แต่ดาพ็อกซิทีนจะส่งผลรักษาอาการหลั่งเร็วและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า โดยต้องใช้ยาไม่เกินวันละ 1 ครั้ง รับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ 1-3 ชั่วโมง และไม่สามารถใช้ในผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจ ตับและไต ผลข้างเคียงจากการใช้ยาตัวนี้ คือ อาการปวดหัว วิงเวียน รู้สึกป่วย
- ยาชาเฉพาะที่ ในบางครั้งอาจใช้ยาชาในรูปแบบครีมทา เช่น เบนโซเคน (Benzocaine) ลิโดเคน (Lidocaine) และไพรโลเคน (Prilocaine) ทาบริเวณอวัยวะเพศชายก่อนมีเพศสัมพันธ์ 10-15 นาที เพื่อลดความรู้สึกและชะลอการหลั่งอสุจิ แต่ยาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อฝ่ายหญิงไปด้วยเมื่อมีการดูดซึมยาบริเวณช่องคลอด
- การบำบัดร่วมกับคู่ครอง (Couple Therapy) นักบำบัดจะให้คู่ครองเปิดใจพูดคุยกันถึงปัญหาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ แล้วแนะนำแนวทางแก้ไข หรืออีกวิธี คือ การใช้เทคนิคช่วยให้ฝ่ายชายลดปัญหาการหลั่งเร็ว ด้วยการให้ฝ่ายหญิงช่วยสำเร็จความใคร่ให้คู่ครอง แล้วหยุดทำก่อนฝ่ายชายจะถึงจุดสุดยอดและหลั่งอสุจิ พักชั่วขณะแล้วจึงเริ่มทำกิจกรรมทางเพศต่อ เพื่อฝึกควบคุมและชะลอการหลั่งของฝ่ายชาย
- การรับคำปรึกษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต เป็นกระบวนการพูดคุยปรึกษาหาคำแนะนำ เพื่อช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวล ช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาและจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อาจเห็นผลทางการรักษาได้ดียิ่งขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการรักษาด้วยยา
อาการหลั่งเร็วสามารถรักษาให้หายได้หากได้รักษาอย่างถูกต้องที่สาเหตุ และผู้ป่วยจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจได้
กรุณา อ่านเพิ่มเติม เรื่อง หลั่งเร็ว ได้ที่นี่ครับ
-
ถามแพทย์
-
มีอาการหลั่งเร็ว มีเพศสัมพันธ์แค่สองนาทีก็หลั่งแล้ว ควรทำอย่างไร